โฆษก ปชป.ระบุการประชุมวิสามัญพรรคเสาร์นี้ ถูกมอบหมายให้ตนไปทำงานจัดตั้งสถาบันนโยบายและติดตามการทุจริตคอร์รัปชั่น ควบคู่จัดตั้ง ครม.เงา จับตารัฐบาลปูจ๋า พร้อมระบุมติพรรคจะไม่ส่งชื่อหัวหน้าพรรคขึ้นชิงเก้าอี้นายกฯ เพราะถือเป็นฉันทานุมัติของประชาชน
วันนี้ (3 ส.ค.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ รักษาการโฆษกประจำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมวิสามัญของพรรคในวันที่ 6 ส.ค.นี้ว่า ทางพรรคได้มีการเปิดกว้างให้มีผู้ที่มีความจำนง ในการทำงานในตำแหน่งต่างๆ ทั้งในส่วนที่มีการเสนอชื่อจากองค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ ได้พบปะพูดคุยกับองค์ประชุม เพื่อแสดงความคิดเห็นในการเสนอตัวเข้ามาทำงานเป็นกรรมการบริหารของพรรคในส่วนของตำแหน่งที่จะมีการเสนอชื่อโดยหัวหน้าพรรคนั้น ขณะนี้ก็ได้มีการรับฟังข้อคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพื่อประมวลและนำมาประกอบการเสนอชื่อเพื่อที่ประชุมใหญ่ได้ให้การรับรอง และทางพรรคยืนยันว่าการทำงานในกระบวนนี้เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยที่สะท้อนอุดมการณ์ของพรรคด้วยการเปิดกว้าง และให้โอกาสบุคลากรของพรรคได้เสนอตัวทำงานในด้านต่างๆ
นพ.บุรณัชย์กล่าวต่อว่า ส่วนตนทางพรรคได้มอบหมายให้ตนไปทำงานจัดตั้งสถาบันนโยบายและติดตามการทุจริตคอร์รัปชัน (Policy And Corruption Watch) เพื่อทำงานทางด้านติดตามนโยบายและรวมถึงติดตามการทุจริตภาย โดยจะทำงานคู่ขนานกับ ครม.เงาที่พรรคจะตั้งอีกครั้งเพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลและรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง และสถาบันดังกล่าวจะถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่ไม่เพียงแต่จะตรวจสอบเท่านั้น แต่จะนำเสนอทางเลือก ทางออกของประเทศในเชิงนโยบายทางด้านต่างๆ ถือว่าเป็นการทำงานที่สำคัญในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมือง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและความน่าเชื่อถือ โดยสถาบันดังกล่าวจะมีการประสานงานกับองค์กรทางวิชาการที่ทำงานทางด้านค้นคว้าวิจัย และศึกษาเรื่องนโยบาย ทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้ หากเรื่องใดเป็นงานที่ซ้ำกับการบริหารของกระทรวงใด โดยเฉพาะด้านการตรวจสอบการบริหารก็จะเป็นหน้าที่ของ ครม.เงารับไปตรวจสอบขยายผลต่อ แต่หากนำมาปฏิบัติไม่ดีและเกิดผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ทำให้ประชาชนรับผลเสีย ทางสถาบันก็จะนำมาดูแล ศึกษา
นพ.บุรณัชย์กล่าวอีกว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ซึ่งมีวาระการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งหัวหน้าพรรคเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่าเป็นฉันทานุมัติของประชาชนที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง โดยเมื่อมีการขานชื่อ ส.ส.ของพรรคจะงดออกเสียงทั้งนี้เป็นไปตามกระบวนการแห่งรัฐธรรมนูญ