xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกของ กกต.ต่อกรณี “จตุพร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ปัทมาภรณ์ นมพุก

กรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตั้งแต่ ๑๒ พ.ค.๕๔ และ กกต.ยึกยัก หน่วงเหนี่ยว ประวิงเวลาให้ครบ ๓๐ วัน เพื่ออ้างเป็นเหตุว่าพิจารณาไม่ทัน จำต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน ซึ่งถือเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเป็นคุณแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตามมาตรา ๒๙ พ.ร.ป.กกต. เพราะปัญหาของ จตุพร ไม่ยุ่งยากแก่การวินิจฉัยของ กกต.ที่เป็นนักกฎหมายชั้นสูง อีกทั้งมีคดีตัวอย่างและคำวินิจฉัยของศาลวางแนวไว้อย่างชัดเจน ถ้าหากสุจริต ซึ่งสามารถกำหนดประเด็นคำถาม-คำตอบได้ ดังนี้

คำถามที่ ๑ บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล สมาชิกภาพของผู้นั้นต้องสิ้นสุดลง ตามมาตรา ๒๐(๓) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ หรือไม่ (โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าบุคคลนั้นได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละปัญหาและประเด็นต่างกันมาก)

ตอบ ต้องสิ้นสุดลงทันทีโดยผลของกฎหมาย เมื่อต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เนื่องจากเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามของการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามมาตรา ๒๐(๓) ประกอบมาตรา ๑๙ และ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๑๐๐ (๓)ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งลักษณะต้องห้ามดังกล่าวย่อมเกิดแก่บุคคลทั่วไปได้และไม่เฉพาะแต่ในวันเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งลักษณะต้องห้ามดังกล่าว (รวมทั้งการเป็นภิกษุ อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือวิกลจริต) ของบุคคลที่จะเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง มิได้ เมื่อการเข้าเป็นสมาชิกพรรคไม่อาจกระทำได้ด้วยบุคคลมีเหตุดังกล่าว (พรรคเพื่อไทยรับภิกษุ บุคคลที่อยู่ระหว่างถุกใบแดง และคนวิกลจริต เข้าเป็นสมาชิกพรรคได้หรือ ???) ดังนั้น ในกรณีลักษณะดังกล่าวได้เกิดแก่บุคคลในขณะที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ ย่อมเป็นผลให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงทันที่ที่มีเหตุนั้นเกิดแก่ตน(เพราะไม่อาจดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ยกตัวอย่าง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีต ประธาน กกต.ที่ไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งต้องพ้นตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย แต่เลี่ยงแสล้งทำโดยยื่นใบลาออกแทน) ซึ่งเป็นการสิ้นสุดสมาชิกภาพโดยผลของกฎหมาย พรรคเพื่อไทยและนายจตุพร ย่อมรู้ถึงบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐ ของรัฐธรรมนูญและผลของกฎหมายเป็นอย่างดี กกต.ไม่ต้องไปสอบถามพรรค หรือนายจตุพร เพราะ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจดั่งตุลาการย่อมมีอำนาจวินิจฉัยเองได้ และหากเป็นกรณีที่ถือได้ว่าพรรครู้ข้อเท็จจริงนั้นแล้ว แต่ยังยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคของผู้นั้นอยู่ต่อไป พรรคอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ได้ และการสิ้นสุดสมาชิกภาพนั้นย่อมมีผลตามกฎหมายอยู่ตลอดเวลาที่บุคคลนั้นยังคงมีลักษณะดังกล่าวติดอยู่ (ไม่ได้สมัครสมาชิกใหม่) และไม่สำคัญว่า ข้อบังคับพรรคการเมืองจะกำหนดไว้อย่างไรหรือยืนยันอย่างไร เพราะข้อบังคับพรรคจะขัดต่อกฎหมาย มิได้ (ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับบุคคลผู้มีลักษณะดังกล่าว ไม่อาจขอจัดตั้งพรรคการเมือง ไม่อาจลงคะแนนเลือกตั้งทั้งในวันเลือกตั้งและในวันลงคะแนนล่วงหน้าได้ ตลอดจนไม่อาจดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อีกหลายประการ)

คำถามที่ ๒ บุคคลผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๓๔ แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ ๒๕๕๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) ๒๕๕๔ ประกอบกับมาตรา ๑๐๑(๓) ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ตอบ หากผู้มีลักษณะดังกล่าวอยู่ก่อนวันสมัคร หรือหลังวันเลือกตั้ง แต่เป็นในระหว่างมีสถานะเป็นผู้สมัคร ส.ส. (ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง) บุคคลนั้นย่อมไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๓๔ ประกอบกับมาตรา ๑๐๑(๓) ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบุคคลนั้นมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ๒๕๕๐ อยู่ในขณะนั้น (ซึ่งยังไม่ถึงวาระที่จะไปพิจารณาว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๒(๓)หรือไม่) และตามรัฐธรรมนูญไม่อาจเข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้) เปรียบเทียบได้กับกรณีการเลือกตั้งใหม่ที่สุโขทัย เขต ๓ และหนองคาย เขต ๒ สมมติว่า ก่อนการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ ๓๑ ก.ค.๕๔ หากปรากฎว่าผู้สมัครลาออกจากสมาชิกพรรคหรือจำเป็นต้องอุปสมบท หรือวิกลจริต หรือถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กกต.จะทำอย่างไร จะปล่อยให้ประชาชนลงคะแนนเลือกผู้นั้นเข้าไปเป็น ส.ส.ได้หรือ

และไม่ต้องสับสนเหมือนกับพรรคเพื่อไทยที่แกล้งยกข้อต่อสู้ว่า กกต.ได้รับรองผู้นั้นให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้ว เพราะไม่ใช่การรับรองข้อเท็จจริงว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.ทุกประการ แต่เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ กกต.ต้องประกาศรายชื่อผู้นั้นไปก่อนภายใน ๗ วัน (แบบแบ่งเขต) หรือ ๑๐ วัน (แบบบัญชีรายชื่อ) ซึ่งเป็นการประกาศรายชื่อไปตามเอกสารประกอบการสมัครและตามคำรับรองของผู้สมัครเท่านั้น โดยจะเห็นได้จากในกรณีที่หากเจ้าพนักงานตรวจพบข้อเท็จจริงภายหลังประกาศรายชื่อไปแล้ว ก็ยังมีวิธีการยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการสมัครได้ ซึ่งเป็นวิธีการในขั้นตอนก่อนวันเลือกตั้ง แต่หลังวันเลือกตั้งไปแล้ว เป็นอำนาจของ กกต.เอง (จะทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น หากเทียบเคียงกับระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ กกต.ก็ยึดแนวทางดังกล่าว)

คำถามที่ ๓ หลังวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๓ ก.ค.๕๔ (แต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง) หากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และอยู่ในลำดับที่จะได้รับเลือกตั้งตามสัดส่วนคะแนนของพรรค ดังนี้ กกต.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๖(๕) วินิจฉัยสั่งการให้เพิกถอนการสมัครของผู้นั้นได้ (โดยอาจมีผู้ร้องหรือพบเหตุเอง) แล้วประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรืออาจไม่วินิจฉัยสั่งการให้เพิกถอนการสมัคร แต่วินิจฉัยชี้ขาดว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว แล้วดำเนินการประกาศให้ผู้มีชื่อผู้อยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้หรือไม่ หรือมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการประการใดต่อไป

ตอบ เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ๒๕๕๐ มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง สำหรับใช้ดำเนินการเลือกตั้งในช่วงระหว่างหลังวันเลือกตั้งจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง ไว้อย่างชัดเจน (และศาลฎีกาก็มีอำนาจหน้าที่ในชั้นการสมัครรับเลือกตั้ง และเพียงถึงก่อนวันเลือกตั้ง ๓ ก.ค.๕๔ เท่านั้น ตามแนวคำสั่งศาลฎีกาที่ ๘๙๓/๔๘ ที่วินิจฉัยว่าแม้ปรากฏว่า ผู้สมัครเป็นผู้มีสิทธิสมัครในวันเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว แต่เพิ่งมาถูก กกต.วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญและมีคำสั่งให้งดการประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาสั่งถอนคำวินิจฉัยของ กกต.ได้ คำวินิจฉัยสั่งการ กกต.ที่ ๔๘๙/๔๘ วันที่ ๑๗ ก.พ.๔๘) และโดยที่เหตุนั้นได้ปรากฏต่อ กกต.ในขณะที่ยังมิได้ประกาศผลการเลือกตั้งและเป็นปัญหาที่พบตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งด้วย โดยมีปัญหาว่าผู้นั้นเป็นบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ และ กกต.สมควรประกาศผลการเลือกตั้งของผู้นั้นหรือไม่ ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงถือว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ มาตรา ๓๔ และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา ๒๐(๓) (ส่วนการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑ วรรคสาม และ พ.ร.ป.กกต.๒๕๕๐ มาตรา ๑๐(๑๑) นั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลังวันประกาศผลการเลือกตั้ง หรือหลังจากบุคคลนั้นเป็น ส.ส.ไปแล้ว) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๕ วรรคสอง ดังนั้น จึงอยู่ในอำนาจของ กกต.ที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๒๓๖(๕) โดย กกต.ต้องยึดภาระ อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๕ ในฐานะที่เป็นองค์กรสูงสุดในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นที่ตั้งสำคัญ (ซึ่งการสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีสิทธิสมัคร ย่อมถือไม่ได้ว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยสุจริตและเที่ยงธรรม)โดย กกต.ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๓๖(๕) ของรัฐธรรมนูญ เข้ามาเสริมการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงระยะเวลาหลังวันเลือกตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าว ที่จะวินิจฉัยชี้ขาด ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (อาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ด้วย) และจากนั้นจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๓๖(๗)ดำเนินการประกาศให้ผู้มีชื่อผู้อยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

หรือหากคะแนนเสียงได้ ๔ ใน ๕ ของที่ประชุม กกต.ผู้นั้นก็อาจถูก กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีความผิดฐานสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัคร อันฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ ประกอบมาตรา ๑๓๙ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นไปตามแนวคำร้องของ กกต.และคำสั่งศาลอุทธรณ์ ภาค ๑ คดีเลขแดงที่ ๒๓๓๖/๒๕๕๓ วันที่ ๑๘ มิ.ย.๕๓ กรณีนายสุพัฒน์ ดนตรี และคำสั่งศาลอุทธรณ์ ภาค ๑ คดีเลขแดงที่ ๒๔๑/๒๕๕๔ วันที่ ๒๕ ม.ค.๕๔ กรณี นางสาว พรพิมล ปินตา ซึ่งทั้งสองคดี กกต.และศาลได้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยวินิจฉัยว่าแม้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่ทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ที่เกิดจากการกระทำของผู้สมัครนั้นเอง (แม้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมิได้บัญญัติให้การสมัครโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครนั้นเป็นความผิดทางอาญาและมีโทษตามกฎหมาย เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ ก็ตาม ซึ่งการหลักการที่ศาลวินิจฉัยนี้สามารถใช้กับการเลือกตั้งระดับชาติได้ เพราะเป็นกฎหมายเลือกตั้งของ กกต.เหมือนกัน)

คำถามที่ ๔ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ๒๕๕๐ มาตรา ๒๐(๓) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ตอบ มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การให้หัวหน้าพรรคแจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงภายในวันที่เจ็ดของทุกสามเดือน และมาตรา ๒๐(๓) บัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดลงซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งทั้งสองมาตราเป็นบทบัญญัติที่เป็นการขยายความเพื่ออธิบายเกี่ยวกับ การเป็นและการสิ้นสุดลงของสมาชิกพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๐๑(๓) ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้ให้ความหมายของการเป็นและการสิ้นสุดลงซึ่งสมาชิกพรรคไว้ จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ตราขึ้นเพื่อให้สอดคล้อง กับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑(๓) เกี่ยวกับการมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่บุคคลจะพึงมีเสียก่อนและต้องถูกตรวจสอบก่อน จากนั้น หากมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วจึงดำเนินการตรวจสอบลักษณะต้องห้ามของบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ เป็นลำดับถัดไป ซึ่งเมื่อมาตรา ๑๐๑ (๓)ได้ตราเกี่ยวกับเรื่องการมีคุณสมบัติของบุคคลไว้แล้ว ดังนั้น มาตรา ๑๐๒(๓) จึงไม่จำต้องนำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐(๓) ตราไว้ให้เป็นลักษณะต้องห้ามอีก เพราะย่อมเป็นการซ้ำซ้อน อาจทำให้รัฐธรรมนูญขัดกันอยู่ในตัว

กล่าวโดยสรุป มาตรา ๒๐ (๓) แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ๒๕๕๐ จึงไม่น่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ(แม้มิได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๔๑ ก่อน ส่วนกรณีตามมาตรา ๑๓๑ วรรคห้าของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ศาลปล่อยตัว ส.ส.ในสมัยประชุม นั้น ทันทีเมื่อประธานสภานั้นร้องขอให้ศาลปล่อยตัว เป็นกรณีที่เป็นบทคุ้มครองสมาชิกรัฐสภา ให้สามารถมาประชุมในสมัยประชุมได้ เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณี ไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับการมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ กกต. ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตีความว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ๒๕๕๐ มีปัญหาตามมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญ และไม่อาจเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหานี้ แต่ กกต.ต้องวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของตน และหาก กกต.ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตนอย่างใดแล้ว ย่อมไม่มีองค์กรใดตรวจสอบการกระทำของ กกต.ได้(คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕/๔๓) และเมื่อเป็นคดี ศาลอาจส่งความเห็นเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา ๒๑๑ ต่อไป หรือเสนอเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาตามมาตรา ๒๔๕(๑) หรือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามมาตรา ๒๕๗(๒)

ดังนั้น กกต.จึงมีเพียง ๒ ทางเลือกในการลงมติ คือ

๑.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายจตุพรฯ(ทำนองเดียวกับกรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้สมัครแบบสัดส่วน) เนื่องจากนายจตุพรฯเป็นผู้รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัคร ได้สมัครรับเลือกตั้งโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ ประกอบมาตรา ๑๓๙ กฎหมายเลือกตั้ง แต่ต้องใช้มติ ๔ ใน ๕ ของ กกต.

๒.วินิจฉัยว่า นายจตุพรฯไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามมาตรา ๒๐ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ประกอบมาตรา ๑๐๐(๓) ของรัฐธรรมนูญและให้งดการประกาศผลการเลือกตั้งของนายจตุพร ตามมาตรา ๒๓๖(๗)ของรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น