“พล.อ.จรัล” อดีตเลขาฯ สมช. แฉแก๊งทำลายสถาบันขยายวงกว้างขึ้น ชี้ใช้สารพัดรูปแบบจาบจ้วงสถาบัน เหิมหนักขนาดกล่าวเท็จหลอกให้ชาวบ้านเข้าใจผิด ล่าสุดยังจัดงานวันเกิดเทียบเคียงสถาบัน ขณะเดียวกันยังเดินสายจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดไม่หยุด พร้อมโฆษณาชวนเชื่อผ่านโรงเรียนการเมือง และมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ชี้เป็นการบ่อนทำลายชัดเจน จี้ สมช.เร่งติดตามข้อมูล เชื่อมีการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างในและต่างประเทศ ด้านเลขาฯ สมช.ไม่หวั่นการเมืองเปลี่ยนขั้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 ก.ค.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดสัมมนารับฟังความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 โดยมีส่วนราชการจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศส่งตัวแทนร่วมสัมมนาและระดมความเห็นจากกลุ่มย่อย
พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แสดงปาฐกถาเรื่อง “กรอบคิดทิศทางการรักษาความมั่นคงของชาติในระยะต่อไป” ว่า เรื่องความมั่นคง หลายคนทึกทักว่าเป็นเรื่องของทหารและการป้องกันประเทศ และนโยบายของเกือบทุกรัฐบาลก็ไม่ระบุเรื่องพัฒนาในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติด้านอื่นๆ เลย
“ผมเคยถามบุคคลที่เขียนนโยบายรัฐบาลว่า ทำไมไม่มีเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องทหารบ้าง แต่ได้รับคำตอบว่ามันแล้วไปแล้ว และ ครม.หลายคนยังเข้าใจผิดในเรื่องนี้เลย เพราะความมั่นคงแห่งชาติยังมีหลายเรื่องที่สอดคล้อง เช่นความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น”
พล.อ.จรัลกล่าวว่า ประมุขของชาติ คือ พระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของประเทศนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด เป็นที่มาแห่งเกียรติยศของชาติ แต่กลับโดนโจมตีสถาบันให้มีการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พระองค์ท่านไม่มีอาวุธใดๆ ป้องกัน แต่ทรงใช้บารมีป้องกันการโจมตีเหล่านี้ ตรงนี้เป็นประเด็นหลักที่ประชาชนต้องหาทางให้เกิดความมั่นคงกับสถาบันให้ได้
“ขอเล่าว่าตอนนี้มีภัยโจมตีสถาบันมากมาย เพราะมีการนำสถาบันไปเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ เช่นเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 โดยนำเรื่องมดเท็จมาหลอกลวง มีการใช้วลีล้มอำมาตย์ มีการใช้อินเตอร์เน็ตโจมตีจาบจ้วงสถาบันมากขึ้น และเมื่อไม่กี่วันมานี้มีการจัดงานวันเกิดเทียบเคียงสถาบัน ตรงนี้คือการบ่อนทำลายสถาบัน”
“สิ่งสำคัญคือ กิจกรรมในต่างจังหวัด เช่น วันอาทิตย์สีแดง แดงสยาม การเดินสายพบประชาชนในภาคต่างๆ เช่น จ.เชียงใหม่ หนองบัวลำภู มุกดาหาร สกลนคร โรงเรียนการเมืองและมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 สมช.ควรขอข้อมูลจากข่าวกรองและผู้ว่าฯ เพราะตรงนี้เป็นการบ่อนทำลายในประเทศที่เชื่อมกับบ่อนทำลายจากต่างประเทศ ที่ใช้สงครามข้อมูลข่าวสารทำการโฆษณาชวนเชื่อ การหลอกลวง เพราะสถาบันไม่มีโอกาสไปสู้รบปรบมือได้กับเรื่องโกหกตอแหลส่อเสียดเหล่านี้ เรื่องเหล่านี้ควรเขียนเป็นนโยบายปฏิบัติการเชิงรุกด้านประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้”
อดีตเลขาฯ สมช.กล่าวว่า ที่ผ่านมาคล้ายว่ารัฐบาลกำลังปฏิบัติการเชิงรับ เช่น ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตอนนี้มีเหตุร้ายเพียงสิบกว่าอำเภอ แต่ข่าวสารกลับมองว่าเหตุร้ายครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด มันเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว การป้องกันประเทศทางชายแดนที่ยังแก้ไม่สำเร็จทั้งๆ ที่มีกรรมการหลายชุด เรื่องนี้ได้ผลเพียงด้านเดียวคือมาเลเซีย
เช่นสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แก้ปัญหาชายแดนไทยกับมาเลเซียนั้น มีการเชิญฝ่ายมาเลเซียมาตีกอล์ฟในประเทศไทย แล้วก็เจรจานอกรอบจนสำเร็จ แต่ไม่มีการอาศัยประโยชน์จากความสัมพันธ์ของประชาชนตามแนวชายแดนของสองประเทศเลย โดยเฉพาะกัมพูชา หลักของไทยคือเป็นมิตรกับทุกประเทศ มันต้องเจรจาแบบปากหวานกัน แต่เรื่องนี้เราต้องรักษาเกียรติภูมิของประเทศไว้ด้วย
พล.อ.จรัลกล่าวว่า ทัศนคติ อุดมคติ และแบบเเผนของชาติที่เพี้ยนไปมาก คือ ไม่ศึกษาข้อเท็จจริง ยึดอัตตา ชอบความสบาย ยอมผู้มีอำนาจ รักความมั่งคั่ง ลาภสักการะ และลัทธินายทุนครอบหัวมาแบบนี้ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะกลับไปแบบเดิมได้ สิ่งที่ตนฝากไว้ให้คิดคือควรพัฒนาระบบราชการไทย เพราะมันเอื้อกับประชาชนแล้วหรือไม่
ต่อมาคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการประจำกับฝ่ายการเมือง แต่ละฝ่ายรู้หน้าที่ของตัวเองแล้วหรือไม่ ไม่ใช่ว่าอธิบดีไปคุยกันกับรัฐมนตรีว่าจะแต่งตั้งใคร หรือนักการเมืองสั่งข้าราชการว่าขอให้มอบรถให้ ส.ส.ไปใช้ โดยไม่ยึดระบบและระเบียบทางราชการจนเกิดความย่อหย่อนในสังคมขึ้นมา
“ความสามัคคีของคนไทยในชาติจะทำได้หรือไม่ และการล่วงล้ำก้ำเกินเกินสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะแก้ไขอย่างไร เกี่ยวกับแผนของ สมช.ในรอบ 5 ปีข้างหน้า ผมขอฝากไว้ด้วย”
นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ที่อาจมีผลกับนโยบายความมั่นคงว่า เรื่องความมั่นคงนั้น มันเป็นเรื่องของคนในชาติ ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สมช.เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เมื่อฝ่ายการเมืองเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการนั้น สมช. หน่วยงานความมั่นคง กองทัพและฝ่ายข่าวนั้นเป็นข้าราชการประจำที่ทำงานกับทุกรัฐบาลและฝ่ายการเมืองที่เข้ามา และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการทุกอย่างได้
นายถวิลกล่าวว่า การทำงานนั้น หากการทำงานและการต่อสู้ทางการเมืองแบ่งสี แต่ สมช.และฝ่ายความมั่นคงจะตาบอดสี มองเห็นเฉพาะภัยความมั่นคง สิ่งที่ทำไปนั้นทำตามขอบเขตกฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ตอนที่ตนเป็นเลขาธิการ ศอฉ.นั้น เพราะกฎหมายกำหนด หากพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลและตั้ง ศอฉ. ตนก็ต้องรับตำแหน่งดังกล่าวอีก มั่นใจว่าทุกฝ่ายมีเป้าหมายตรงกันในเรื่องความเข้มแข็งของประเทศในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ คิดว่าคงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกับข้อเท็จจริง
“หากฝ่ายการเมืองทำงานเพื่อรักษาประโยชน์ของบ้านเมือง สมช.และฝ่ายความมั่นคงก็ร่วมมือด้วยทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาต้องว่ากันด้วยข้อเท็จจริง รัฐบาลที่จะเข้ามารักษาประโยชน์ของบ้านเมือง คือว่าทำงานร่วมกันได้โดยใช้กลไกของข้าราชการและฝ่ายความมั่นคงเพื่อบรรลุและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ สมช.นั้นเป็นมืออาชีพในการทำงานที่ตอบสนองฝ่ายการเมืองในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ”
นายถวิลกล่าวว่า ตนทำงานด้านความมั่นคงมาสามสิบกว่าปี การเปลี่ยนตำแหน่งนั้นเป็นเรื่องธรรมดา หากจะเกิดการโยกย้ายตามกระแสข่าวด้วยเหตุผลอื่น คงไม่มีใครพอใจ เพราะการโยกย้ายนั้นต้องมีหลักธรรมาภิบาล ย้ำว่าการทำงานนั้นของตนนั้นอยู่ในกรอบของกฎหมายเสมอ
“เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานตามกระบวนการและกฎหมาย ทำตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และพร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบ หากปรากฏว่าผิดต้องยอมรับและรับผิดเป็นสองเท่า”
นายถวิลกล่าวว่า การจ้าบจวงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น สถาบันได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่ช่วงที่ผ่านมามีการนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการเมืองและล่วงล้ำ มันเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจะเกิดกลุ่มที่นำสถาบันมากล่าวอ้าง และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองระบอบนี้มีส่วนน้อย แต่เมื่อโอกาสเปิดก็จะไปแสวงหาประโยชน์เพื่อนำไปสู่ความขัดแย้ง มันจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
นายถวิลกล่าวว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะใช้เขตปกครองพิเศษแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่แทน ศอ.บต.นั้น ขอเรียนว่า การบริหารพื้นที่นี้ถูกบริหารในรูปแบบพิเศษมาตลอดและไม่มีพื้นที่ใดในประเทศจะใช้การบริหารแบบนี้ เพราะ ศอ.บต.นั้นไม่เคยนำไปใช้ในพื้นที่ใดเลย นอกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ผมคิดว่าการแก้ปัญหานี้อยู่ที่เอกภาพ ประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วม ฉะนั้นรูปแบบต่างๆ ที่เสนอขึ้นมา เช่น ทบวง เขตปกครองพิเศษหรือ ศอ.บต.นั้นสามารถทำได้ทั้งสิ้น หากไปตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้โดยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย สมช.พร้อมพิจารณารูปแบบและโครงสร้างที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอ”
นายถวิลกล่าวว่า หากจะเปลี่ยนรูปแบบและอาจเกิดความสับสนนั้น เรื่องนี้ต้องดูกฎหมายด้วย หากรูปแบบที่พรรคเพื่อไทยเสนอขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ ก็ต้องร่างกฎหมายใหม่ แต่ทั้งนี้ควรดูว่าหากเปลี่ยนรูปแบบนั้นจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ เพราะในพื้นที่ยังมีเงื่อนไขความรุนแรงและธรรมาภิบาล หากรูปแบบใหม่ที่จะออกมานั้นแก้ปัญหาได้มันก็เดินไปได้และถือเป็นเรื่องที่ดี ตนคงบอกในตอนนี้ไม่ได้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่ตอนนี้ยังอยู่ในรูปแบบ ศอ.บต.ที่ต้องเดินตามไปก่อน