xs
xsm
sm
md
lg

ฉากจบไม่สมราคาคุย กกต.ปล่อยคนผิดเข้าสภา

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


ในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ให้การรับรองสถานะ หรือที่เรียกกันว่า “ปล่อยผี” ส.ส.496 จาก 500 คน เกินจากเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและสามารถเดินหน้าเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ตามกำหนด

มองมุมหนึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ภายใต้สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 เริ่มทำงาน และเปิดโอกาสให้ “ฝ่ายบริหาร” ชุดใหม่เข้ามาประจำการทำหน้าที่ได้เสียที

ขณะที่อีกมุมหนึ่งต้องประหลาดใจไม่น้อยที่การเลือกตั้งหนนี้ กกต.สั่งแขวนว่าที่ ส.ส.เพียง 4 ที่นั่ง โดยในจำนวนนี้มีสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือ “ใบเหลือง” แค่ 2 ใบ ที่ จ.หนองคาย-สุโขทัย และสั่งให้นับคะแนนใหม่ที่ จ.ยะลาอีก 1 เขต รวมทั้งรายของ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ยังโดยแขวนในเรื่องคุณสมบัติอยู่อีกคน

โดยไม่มีการเพิกถอนการเลือกตั้งหรือ “ใบแดง” แม้แต่เขตเดียว

จนอดที่จะตั้งคำถามถึง “มาตรฐาน” การพิจารณาตัดสินลงโทษ “นักเลือกตั้ง” ที่ผ่านๆมาของ กกต.ไม่ได้ เพราะตั้งแต่เริ่มกติกาใบเหลือง-แดงเป็น “อาญาสิทธิ์” ให้ กกต.ใช้เป็นเครื่องมือในการปราบคนโกงเลือกตั้งนั้นก็พบว่า ครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ม.ค.44 โดย กกต.ชุดแรกที่มี ธีรศักดิ์ กรรณสูต เป็นประธาน มีการแจกใบเหลือง-แดงว่อนสนาม “ใบแดง” ถึง 15 ใบ และ “ใบเหลือง” ถึง 62 ใบ

ถัดมายุค “3 หนา” ที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ.48 ซึ่งว่ากันว่าเป็นยุคที่ กกต.ถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง สมัยที่ “พรรคไทยรักไทย” เบ่งบานครองเมือง มีการแจกใบเหลือง-แดง แค่ 2 ใบแดง และ 6 ใบเหลืองเท่านั้น ส่วนการเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ภายใต้การจัดของ กกต.ชุดเดียวกันนั้นถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ

ขณะที่การเลือกตั้ง 23 ธ.ค.50 ซึ่งเป็นการทำหน้าจัดการเลือกตั้งครั้งแรกของ กกต.ชุดปัจจุบันที่มี อภิชาต สุขัคคานันท์ เป็นประธาน มีสถิติการแจก “ใบเหลือง” ก่อนการเลือกตั้ง มีจำนวน 22 ราย หลังการเลือกตั้งส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณา จำนวน 1 ราย ส่วน “ใบแดง” นั้นแจกก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง จำนวน 7 ราย หลังประกาศผลการเลือกตั้งส่งศาลฎีกาอีก 2 ราย รวมเป็น 32 รายที่ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิและเลือกตั้งใหม่

มาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 3 ก.ค.54 ที่ผ่านมา กลับมีการชูใบเหลืองเพียง 2 ใบ น้อยกว่าสมัยปี 48 ที่ว่ากันว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซงอย่างหนักด้วยซ้ำ ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.บางคนก็ออกมาระบุเองว่า มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมหลายกรณี ทั้งการใช้อำนาจเงินซื้อสิทธิขายเสียง ใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซง ข่มขู่ทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต สอดคล้องกับเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามายังสำนักงาน กกต.ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นหลายร้อยเรื่อง

การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนการโปรโมตภาพยนตร์ ที่ กกต.ในฐานะผู้อำนวยการสร้างออกมาโฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นหนังแอ็กชันชวนตี่นเต้นเร้าใจ มีการประหัตถ์ประหารวิสามัญคนร้ายหลายราย แต่พอดูจบ คนดูกลับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

จืดชืด ไม่สมราคาคุย แถมปล่อยให้ผู้ร้ายลอยนวล

เพราะในกฎหมาย และในประกาศของ กกต.เองก็ระบุชัดเจนถึงหลักการแจกใบเหลือง-แดง ว่า สามารถให้ได้เมื่อ กกต.เห็นว่า “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้” ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ท่ามกลางเรื่องร้องเรียนหลายร้อยเรื่อง กกต.กลับใช้ “เหลี่ยมคู” หลบเลี่ยงที่จะบังคับใช้กฎหมาย และอาศัยครรลองกฎหมาย “โยนภาระ” ไปให้ศาลฏีกา แผนกคดีเลือกตั้ง เป็นผู้ชี้ขาดแทน

เหมือนพยายาม “ลอยตัว” จากความขัดแย้ง ปล่อยให้ “ผู้แทนสีเทา” เหล่านี้เข้ามายกมือชูจั๊กกะแร้เลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นถึง “ประมุข” ของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร

ส่วนการแขวน “ตุ๊ดตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จากเหตุผลเรื่องคุณสมบัติที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนั้น ไม่ใช่บทพิสูจน์ความ “ตงฉิน” ของ 5 เสือ กกต. แต่ทำให้ “จตุพร” กลายเป็นเพียงเครื่องบูชายัญการทำหน้าที่ของ กกต.เท่านั้น ทั้งที่การพิจารณาในส่วนของคุณสมบัตินั้นได้ผ่านไปแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งรับรองคุณสมบัติผู้สมัคร การที่ กกต.ปล่อยในตอนนั้นก็ถือเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของ กกต.เอง

เมื่อ กกต.ทำหน้าที่ไม่เด็ดขาด และไม่สมศักดิ์ศรี จนกลายเป็นบุคลิกของ กกต.ชุดนี้ไปแล้ว ก็มีคำถามต่อมาได้ว่า ต่อไปทั้ง 5 เสือจะทำงานใหญ่ หรือบ้านเมืองจะพึ่งพาได้อย่างไร

เพราะอย่าลืมว่าทั้ง 5 กกต.ยังมีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่อีกหลายปี
กำลังโหลดความคิดเห็น