ผ่าประเด็นร้อน
จะเป็นเพราะต้องการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างที่มีความพยายามเปรียบเทียบให้เห็นภาพกรณีที่ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มถูกหลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกถึง 3 ลำในเวลาไล่เลี่ยกันเพียง 8 วันเท่านั้น และเกิดอุบัติเหตุในภารกิจเดียวกัน ในบริเวณใกล้เคียงกัน
อุบัติเหตุทั้ง 3 ครั้งทำให้มีนายทหารระดับสูง คือ พล.ต.ตะวัน เรื่องศรี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 เสียชีวิต รวมไปถึงนักบิน ช่างเครื่อง ทหารและพลเรือนต้องเสียชีวิตรวมแล้ว 17 ศพ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรอันทรงคุณค่าจนประเมินไม่ได้
ในครั้งแรกที่เริ่มเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องเฮลิคอปเตอร์ประเภท “ฮิวอี้” ทำให้ทหารเสียชีวิตรวม 5 ศพ ก็ค่อนข้างสรุปตรงกันว่าเป็นเพราะสภาพอากาศปิด ไม่อำนวยแม้เศร้าสลดอย่างไรก็พอทำใจยอมรับได้ว่านี่คืออุบัติเหตุเหลือวิสัย แต่ถัดมาก็มาเกิดซ้ำขึ้นอีกกับเฮลิคอปเตอร์ “แบล็กฮอว์ก” ที่ถือว่าทรงประสิทธิภาพที่สุดที่กองทัพบกนำเข้าประจำการ สร้างความสูญเสียอีก 9 ศพ และล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมก็มาเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องเฮลิคอปเตอร์ เบลล์ 212 เสียชีวิตอีก 3 ศพ รอดตายราวปาฏิหาริย์อีก 1 นาย แต่ก็บาดเจ็บสาหัส
หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ ทำไมมันถึงได้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้ถึงเพียงนี้ แม้หลายคนยอมรับตรงกันว่าภารกิจทั้งกู้ภัยช่วยเหลือในเหตุการณ์ดังกล่าวต่อเนื่องกันมันสุดหิน สุดอันตราย ยากลำบากอยู่ในป่าดงดิบที่บุคคลทั่วไปจะทำได้ก็ตาม แต่ประเด็นก็คือ ต้องสอบสวนหาสาเหตุให้กระจ่าง เพราะเราไม่ต้องการให้ทหาร โดยเฉพาะทหารชั้นผู้น้อย หรือทหารระดับรองลงมาไปเสี่ยง เนื่องจากเป็นความสูญเสียที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแบบนี้อีกแล้ว
แม้ว่าในเบื้องต้นจะสรุปค่อนข้างตรงกันว่าสาเหตุน่าจะมาจากอุบัติเหตุ สภาพอากาศเลวร้าย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็อดไม่ได้ที่ต้อง “สะกิดเตือน” กันดังๆ ไปถึงผู้บัญชาหารทหารบก ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานสั่งสอบสวนให้ละเอียดอีกทางหนึ่งด้วย เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนมันก็เป็นธรรมดาที่ทำให้ทหาร นักบินเกิดความหวดผวากันบ้าง ไม่เว้นแม้แต่คนไทยทั่วไปที่ช็อกและสลดหดหู่จนบอกไม่ถูก
อย่างไรก็ดี แทนที่ผู้บัญชาการทหารบกจะเปิดใจกว้างยอมรับให้มีการตรวจสอบและสอบสวน หาสาเหตุอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความสบายใจกันทุกฝ่าย ที่สำคัญเป็นการสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับกำลังพลที่ต้องใช้อากาศยานของกองทัพบกปฏิบัติภารกิจ แต่นี่ตรงกันข้ามกลับแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด กล่าวหาว่าคนที่ออกมาวิจารณ์ดังกล่าวมีเจตนาทำให้กองทัพเสียหายไปเสียอีก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคำพูดและพฤติกรรมของผู้บัญชาการทหารบกคนนี้สวนทางกัน เพราะขณะกล่าวตอบโต้คนที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนหาสาเหตุในทุกด้านเพื่อความปลอดภัยของกองกำลังพลนั้น ในทางลับกลับสั่งระงับการบินของเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกันตัวเองก็ยังไม่กล้าใช้เป็นพาหนะเดินทางไปประกอบภารกิจ ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างก็คือเมื่อ 2-3 วันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงกับเดินทางโดยรถยนต์ไปร่วมงานศพ นายทหารที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว ที่จังหวัดกาญจนบุรี
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นแล้วว่า แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย ถึงกับไม่กล้าขึ้นบิน เพราะถ้ามั่นใจก็ต้องแสดง “ภาวะผู้นำ” ปลุกขวัญทหารแบบนี้ ไม่ใช่มาแสดงอาการกราดเกรี้ยวต่อหน้าสื่อ แล้วบอกว่านี่คือการแสดงภาวะผู้นำ ซึ่งถือว่าแปลกพิลึก
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องกล่าวถึงก็คือ มีการแสดงให้เห็นว่าคิดจะใช้จังหวะแบบนี้เตรียมเสนอของบประมาณในปี 2555 กับรัฐบาลใหม่เพื่อจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ล็อตใหม่จำนวน 30 ลำ ใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท ซึ่งหากว่ากันด้วยความเป็นธรรมมันก็สมควรตั้งงบซื้อ หรือปรับปรุงกันอย่างขนานใหญ่ แต่คำถามก็คือในฐานะผู้บัญชาการทหารบกจะต้อง “เคลียร์” ทุกข้อสงสัยให้กระจ่างเสียก่อน เพราะถ้าบริสุทธิ์ใจ ก็ไม่เห็นต้องแคร์ ตรงกันข้ามดีเสียอีกที่ทุกฝ่ายมีความกระตือรือร้น เป็นเจ้าของกองทัพ เพราะกองทัพเป็นของประชาชน เป็นหลักการปกติทั่วไปอยู่แล้ว
ดังนั้นหากต้องทำให้ทุกอย่างตรงประเด็นก่อนที่จะไปเรื่องอื่นให้เลยเถิดถึงเรื่องอื่น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกจะต้องสร้างภาวะผู้นำอย่างแท้จริงด้วยการสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยเร็วและโปร่งใส เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย หรือหากเป็นไปได้น่าจะถึงเวลา “สังคายนา” กันภายในกันสักครั้ง เพราะนี่แหละคือการ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างแท้จริง !!