ผบ.ทบ.แจงเหตุฮ.โหม่งโลกซ้ำซาก ไม่เชื่ออาถรรพ์ป่าแก่งกระจาน แต่เตรียมทำบุญใหญ่ เหตุนักบิน- กำลังพลเสียขวัญมาก เผยเหตุ ฮ.ฮิวอี้ – แบล็กฮอว์กตก เกิดจากอากาศแปรปรวน ขณะที่ ฮ.เบลล์ 212 ตกคาด tail Rotor บกพร่อง สั่งงดบินชั่วคราวจนกว่าจะมั่นใจ
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ต.พิทยา กระจ่างวงษ์ ผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก (ศบบ.) แถลงถึงขั้นตอนการใช้อากาศยานและสาเหตุการตกของเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำของกองทัพบกว่า อุบัติเหตุในครั้งนี้เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของกองทัพบก และศูนย์การบินทหารบกจำนวน 17 คนที่เสียชีวิต ซึ่งองค์ประกอบของอุบัติเหตุคือ คน วัสดุอุปกรณ์ และสภาพแวดล้อม ซึ่ง นักบินของทบ.เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีโรงเรียนการบินทหารบกที่ก่อตั้งมาปี 2510 ผลิตนักบินมากกว่า 2 พันนาย 55 รุ่น ตนเชื่อว่านักบิน 70 เปอร์เซ็นต์ที่ปฏิบัติงานทั่วประเทศจบจาก ร.ร.การบินทั้งสิ้น
พล.ต.พิทยา กล่าวว่า นักบินบางส่วนไปศึกษาหลังจากรับเครื่องบินแบบใหม่ที่กองทัพบกจัดซื้อ ในส่วนที่ซื้อตรงกับทางบริษัทฯจะส่งนักบินและช่างไปเรียนกับบริษัทนั้น สำหรับหลักสูตรการบินเป็นไปตามาตรฐานกองทัพบกสหรัฐ ซึ่งใน 1 ปีจะมีการบินอากาศยานจริง 200 ชม.และบินอากาศยานจำลอง (ไฟต์ซิมมูลเลเตอร์) 20 ชม.ซึ่งมีความทันสมัยที่สุดในประเทศ เป็นระบบที่สามารถเคลื่อนไหวได้และจำลองการบินได้ทุกรูปแบบไม่ว่าสภาพอากาศ แบบไหน ภูมิประเทศแบบไหน ส่วน ช่างซ่อมอากาศยานก็เป็นมาตรฐานสากลทางทหาร ซึ่งนักบินทั้ง 6 นายที่เสียชีวิตถือว่าเป็นนักบินที่มีความรู้ความสามรถทุกคน นักบินที่ 1 ต้องมีช.ม.การบินเฉลี่ย 1,500- 3,000 ชม. และคนที่มีชม.การบินสูงสุดคือ พ.ต.ประพันธ์ มี 2,900 ชม. ในส่วนของนักบินที่ 2 จะมีชม.การบินเฉลี่ย 600-1,500 ชม.
“เรายังมีการพัฒนาบุคลากร ฝึกบินทบทวนตามวงรอบการฝึกประจำปีของแต่ละหน่วย โดยบินจากอากาศยานจริงและจำลอง นอก จากนี้ยังมีการตรวจสอบมาตรฐานการบิน 2 ปีต่อครั้งตามวงรอบ 6 เดือนจะมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการของกองทัพบก สอบทั้งภาควิชาการและภาคการบิน ทั้งนี้ต้องผ่าน 80 เปอร์เซ็นต์” พล.ต.พิทยา กล่าว
พล.ต.พิทยา กล่าวว่า วัสดุอุปกรณ์คือ ลำตัวเฮลิคอปเตอร์ ฮท.1 (ฮิวอี้)ที่ประสบอุบัติเหตุเป็นเครื่องบินมือสองผ่านการซ่อมจากโรงงานมาแล้ว เปรียบเสมือนใหม่เข้าประจำการปี 2547 โดยซื้อจากกองทัพสหรัฐฯที่เริ่มทยอยปลดประจำการตามโครงการช่วยเหลือของ ประเทศต่างๆ ส่วนฮ.แบล็กฮอว์ก เป็นเครื่องใหม่เมื่อปี 2545 และ ฮ.เบลล์ 212 เป็นเครื่องมือหนึ่งเข้าประจำการปี 2535 ซึ่งระบบการซ่อมบำรุงอากาศยานต้องทำอย่างปลอดภัยที่สุด ซ่อมตามระยะเวลาโดยเฉพาะชิ้นส่วนหลักๆที่สำคัญต้องเปลี่ยนตามระยะเวลา
"ระบบการซ่อมเป็นไปตามมาตรฐานของกองทัพบกสหรัฐฯ ระบบการซ่อมบำรุงของทบ.มี 3 ขั้นคือระดับหน่วยที่ใช้อากาศยาน เป็นการซ่อมตามระยะเวลาและไม่ตามระยะเวลา โดยมีการเก็บประวัติของชิ้นส่วนของอะไหล่เมื่อหมดสภาพก็จะเปลี่ยนอะไหล่ ส่วน การซ่อมขั้นสนามถือเป็นความรับผิดชอบของหน่วยที่ใช้อากาศยาน คือกองพันขนส่งซ่อมบำรุง กองบินทหารบก กรมการขนส่งทหารบก ขั้นนี้มีความยุ่งยากต้องใช้เครื่องมือและบุคคลากรพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการซ่อมแบบขั้นคลัง หรือขั้นโรงงานปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว แต่ใช้การจ้างตรงกับบริษัทฯ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้ผลิต" พล.ต.พิทยา กล่าว
พล.ต.พิทยา กล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติการบินแต่ละครั้งก่อนบิน ช่างของหน่วยจะตรวจทุกวันและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นนักบินจะมาตรวจสอบอีกครั้งก่อนทำการบิน ซึ่งเมื่อทำการบินแล้วก็จะกลับมาตรวจหลังการบินอีกครั้งโดยช่างประจำอากาศยาน นอก จากนี้ยังมีการตรวจพิเศษ จะเกิดขึ้นหลังการตรวจพบว่ามีชิ้นส่วนที่จะก่อให้เกิดอันตราย และจะแจ้งไปยังหน่วยต่างๆที่มีเครื่องบินชนิดเดียวกันให้ทำการตรวจพิเศษกับ ชิ้นส่วนนั้นๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงก็เป็นไปตามมาตรฐาน โดยพื้นฐานจบหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยานของร.ร.การบินทหารบก ทั้งนี้ยังมีระบบการตรวจสอบการบริหารทรัพยากรการบินประจำปี ปีละครั้งซึ่งประกอบด้วยคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อุปกรณ์ สถานที่ นักบิน ช่าง ภาคพื้น สนามการบิน หอบังคับการบิน พร้อมที่จะใช้งานหรือไม่
พล.ต.พิทยา กล่าวว่า เรื่องสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ 2 รายแรกคือ ฮท. 1 และแบล็กฮอว์ก ซึ่งหมายถึงสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ ในวันเกิดเหตุ 2 รายแรกสภาพอากาศไม่เอื้อต่อการบิน ไม่ว่าจะเป็นเมฆ หมอก ฝน ลม สภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขา มีผลทำให้สภาพอากาศยิ่งยากลำบาก มีลมแปรปรวน มีลมตีขึ้นตีลม ลมเฉือน ลมกรรโชก
พล.ต.พิทยา กล่าวว่า สำหรับสาเหตุของการอุบัติเหตุทั้ง3ครั้ง ซึ่งมีภารกิจต่างกัน ของ ฮท.1(ฮิวอี้) เป็นภารกิจสนับสนุนของกองพลทหารราบที่ 9 ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรป่าไม้ ในการดูแลรักษาป่า ขณะที่เกิดเหตุนักบินพยายามนำ ฮ.ร่อนลงที่ฐานจอด ฮ.ชั่วคราว แต่เนื่องจากอากาศมีลักษณะปิดๆเปิดๆ มีเมฆไหลมาและก็ผ่านไป จึงมีกลุ่มเมฆเคลื่อนตัวมาปกคลุมบริเวณที่วางตัว ฮ.ทำให้นักบินไม่เห็นพื้นที่ลงจอด และยกเครื่องขึ้นใหม่โดยไม่เห็นข้างหน้าจึงเกิดอุบัติเหตุชนภูเขาอย่างแรง สำหรับสาเหตุที่แท้จริงต้องรอผลจากคณะกรรมการสอบสวนอีกครั้ง
พล.ต.พิทยา กล่าวว่า สำหรับกรณีแบล็คฮอว์ก เป็นภารกิจสนับสนุนผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่9 ในการที่จะอำนวยการปฎิบัติภารกิจรับศพผู้เสียชีวิต ในขณะที่นำ ฮ.บินตรวจภูมิประเทศ สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการบิน ทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ส่วนสาเหตุก็ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการ ในส่วนของอุบัติเหตุครั้งที่3คือ เบลล์ 212 เป็นภารกิจโดยบินจากกรมทหารราบที่11 รักษาพระองค์ เพื่อไปรับภารกิจรับศพจากแก่งกระจานไป จ.กาญจนบุรี ซึ่งตนได้ลงไปในพื้นที่เกิดเหตุก็เห็นลูกน้องของตัวเองถูกไฟไหม้ ก็รู้สึกสลดหดหู่ เสียใจ โดยสาเหตุที่เกิดคาดว่าขณะที่บินมีเครื่องมีลักษณะอาการไม่ตอบรับ ในการที่จะบังคับหาง โดยเครื่องไม่ได้ดับแต่อย่างใด ซึ่งประเด็นสำคัญคือระบบ tail Rotor ทำงานบกพร่อง จึงเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามต้องรอคณะกรรมสอบสวน ตรวจหาสาเหตุอีกครั้ง
พล.ต.พิทยา กล่าวว่า อุบัติเหตุทั้ง 3 ครั้ง ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และนักบินหรือคนที่ประสพเหตุเองก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดอุบัติเหตุ และก่อนทำการบินเรามีขั้นตอนการตรวจอากาศยานที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเขาก็คงไม่ตรวจพบสิ่งผิดปกติ เหมือนกับการขับรถ ถ้ารู้ว่ามีอะไรผิดปกติก็คงไม่ขับ โดยเฉพาะเครื่องบินเพราะเป็นอันตรายที่รุนแรงและถึงแก่ชีวิต คงไม่มีใครกล้าที่จะนำเครื่องที่ไม่สมบูรณ์ไปการบิน
“ในส่วนของผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็น ผบ.ทบ. และตนเอง รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนก็ยังมั่นใจว่าผู้ใต้บังคับบัญชาในส่วนของ นักบิน และช่าง อาจจะขวัญตกลงบ้างแต่เชื่อมั่นว่าทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจต่อไป” พล.ต.พิทยา กล่าว
เมื่อถามว่า ฮ.แบล็กฮอว์ก ตกด้วยสาเหตุใด พล.ต.พิทยา กล่าวว่า เกิดจากนักบินหลงสภาพ เพราะสภาพการมองเห็นด้วยสายตา 80 เปอร์เซ็นต์และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เกิดจากระบบสภาพเครื่อง ถ้าไม่มีสิ่งเปรียบเทียบกับพื้นที่ โอกาสที่จะหลงสภาพเป็นไปได้สูง ซึ่งจากการดูสภาพของเครื่องไม่น่าจะเกิดการชนภูเขา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระบบ tail Rotor ของ ฮ.เบลล์ 212 มีปัญหา พล.ต.พิทยา กล่าวว่า ต้องหาสาเหตุขั้นต้นก่อนว่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจาก tail Rotor แน่วิธีที่ถูกคือต้องนำเครื่องไปลงที่สนามบิน แต่ในขณะนั้นเหตุการณ์เป็นเสี้ยววินาที เขาคงคิดว่าไม่เป็นอะไรจึงหาที่ลงในพื้นที่ปลอดภัยใกล้ๆ รวมทั้งเป็นเหตุการณ์กะทันหันและเครื่องลดระดับลงมา เมื่อ ถามว่าต้องใช้เวลาในการสอบสวนหาสาเหตุเท่าไหร่ รวมถึงเครื่องที่พักการบินจะนำมาปฏิบัติการได้เมื่อไหร่ พล.ต.พิทยา กล่าวว่า ตามหลักการประมาณ 1 เดือนถ้าสามารถทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็จะยืดเวลาออกไปอีก โดยคณะกรรมการจะขออนุมัติยืดเวลา แต่ในตามระเบียบต้องภายใน 30 วัน
ส่วนการพักการบินอากาศในครั้งนี้ก็เป็นไปตามระเบียบ หลังจากเกิดอุบัติเหตุซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากวัสดุก็จะงดใช้งานเฉพาะแบบ นั้นๆ สมมุติกรณีที่เกี่ยวกับ tail Rotor จริงก็จะแจ้งไป ยังหน่วยบินที่มีเครื่องชนิดนี้ใช้ และทำการตรวจอย่างละเอียด ถ้าไม่พบสิ่งปกติก็สามารถปฏิบัติต่อไปได้ ซึ่ง ฮท.1 (ฮิวอี้) และ ฮ.แบล็กฮอว์ก เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่ง ฮ.เบลล์ สรุปขั้นต้นว่าเกิดจากระบบ tail Rotor จึงต้องงดทำการบิน แต่คงไม่นานเพราะได้แจ้งกับ เจ้ากรมขนส่งทหารบก เพื่อแจ้งไปยังหน่วยต่างๆให้ตรวจสอบ tail Rotor ทั้งระบบถ้าไม่พบสิ่งปกติก็สามารถบินได้เลยคิดว่า 1-2 วันก็น่าจะทำการบินได้ อย่าง ไรก็ตาม ฮ.เบลล์ 212 ลำที่ประสบอุบัติเหตุจบภารกิจในการรับศพ ผบ.พล.ร. 9 และช่างภาพ ก่อนที่จะบินกลับมาพักที่ กรมทหารราบที่ 11 รอ. พร้อมเปลี่ยนผลัดนักบินและพักค้างคืน ก่อนที่จะไปปฏิบัติภารกิจที่แก่งกระจานในวันรุ่งขึ้น
เมื่อถามว่า คณะกรรมการตรวจสอบอุบัติเหตุต้องแยกออกเป็น 3 ชุดหรือไม่ พล.ต.พิทยา กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบมีวงรอบแต่งตั้ง 6 เดือนครั้งและมีกรรมการ 2 ชุดคือ ชุดสอบสวนอุบัติเหตุทางธุรการและทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม tail Rotor ของเครื่องที่ประสบอุบัติเหตุทั้งหมดยังอยู่ครบ ไม่ถูกไฟไหม้สามารถตรวจสอบได้ว่าเกิดจากอะไร
ต่อข้อถามว่า ภารกิจต่างๆยังคงปฏิบัติต่อไปหรือไม่ในสภาพอากาศแปรปรวน พล.ต.พิทยา กล่าวว่า ถ้าในนามของหน่วยการบินได้เสนอแนะไปยังแม่ทัพภาคที่ 1 ว่าในการเปิดยุทธการอะไรน่าจะต้องคำนึงถึงสภาพอากาศด้วย เพราะไม่ได้มีผลต่อ ศูนย์การบินเท่านั้น แต่หน่วยภาคพื้นก็ปฏิบัติงานยากลำบาก เมื่อถามว่าอากาศยานทั้งหมดสามารถรองรับให้ผู้บังคับบัญชาได้หรือไม่ พล.ต.พิทยา กล่าวว่า ในเรื่องความมั่นใจขึ้นอยู่กับว่า ถ้าเรารักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้ได้ ความ มั่นใจก็ต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าความรู้สึกของผู้โดยสารทุกคนไม่ค่อยสบายใจในการใช้งาน แต่ตนเชื่อว่า ถ้ารักษามาตรฐานเรื่องความปลอดภัยได้เรื่อยๆ ความเชื่อมั่นก็จะกลับคืนมา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของกองทัพบกแทบไม่มีอุบัติเหตุใหญ่ ในขณะที่หน่วยงานอื่นมี แต่พอมีก็มี 3 เหตุการณ์ติดต่อกันทำให้คนขาดความเชื่อมั่นไปมาก
เมื่อถามว่า อุบัติเหตุทั้ง 3 ครั้งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานหรือไม่ พล.ต.พิทยา กล่าวว่าก็มีบ้างแต่ไม่มาก เพราะอากาศยาน กับจำนวนนักบินยังเหลืออยู่มาก แต่อาจทำให้อากาศยานที่ใช้ได้ลดลงไป ส่วน ฮ.เบลล์ ที่ยังเหลือหมุนเวียนใช้อยู่ในกองทัพบกเหลือเพียง 20 ลำ เมื่อถามว่า การที่ผบ.ทบ.งดการใช้เฮลิคอปเตอร์ไปร่วมงานรดน้ำศพที่ จ.กาญจนบุรี เป็นใช้รถยนต์แทนนั้น พล.ต.พิทยา กล่าวว่า เป็นเพราะสภาพอากาศไม่ดี มีฝนตกตลอดเส้นทาง ถือว่าเป็นการรักษาความปลอดภัยไว้ก่อน
เมื่อถามว่าภารกิจของนักบิน มีผลต่อการตัดสินใจในการบินหรือไม่ พล.ต.พิทยา กล่าวว่า ก็อาจจะมีผลบ้าง แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักแต่ทหารบางครั้งความมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจก็มี และถ้ายิ่งเห็นผู้บังคับบัญชามุ่งมั่น เราก็เต็มที่ อย่าง ไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่คิดว่าเป็นอาถรรพ์แต่อย่างใด แต่ก็จะมีการจัดทำบุญใหญ่เพื่อความสบายใจเพราะกำลังพลบางคนก็มีความเชื่อ ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้เมื่อเวลา 12.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มีกำหนดการเดินทางไปร่วมงานรดน้ำศพพล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผบ.พล.ร. 9 ที่วัดทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี ด้วยการเดิทางโดยเฮลิคอปเตอร์แบบ แบล็กฮอว์ก แต่ต้องสั่งงดเดินทางด้วยเครื่องบินดังกล่าวและเดินทางไปทางรถยนต์แทน เนื่องจากสภาพอากาศปิดไม่สามารถทำการบินได้