ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยกคำร้องแกนนำ พธม.ขอให้จัดเลือกตั้งใหม่ เหตุไม่มี กม.รองรับสิทธิ ปชช.ให้เพิกถอน “ปานเทพ” ยันเดินหน้ายื่นคดีอาญาตั้งแต่สัปดาห์หน้า ยกเลือกตั้ง 49 เป็นกรณีตัวอย่าง ด้าน “จำลอง” ยอมรับคำวินิจฉัย ยังเชื่อพยานหลักฐานสมบูรณ์ เริ่มฟ้องอาญาต่อ ยันไม่คิดแกล้งใคร แต่จำเป็นต้องทำหน้าที่
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำสั่งยกคำร้อง คดีหมายเลขดำที่ ลต.14/2554 ในกรณีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้ร้องยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งคณะ เป็นผู้ถูกร้อง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งยังร้องให้ศาลมีคำสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ จากเหตุที่ กกต.มีข้อวินิจฉัยทำให้ พล.ต.จำลอง และประชาชนผู้มีสิทธิอีก 2 ล้านกว่ารายขาดสิทธิในการเลือกตั้ง เนื่องจากมิได้ลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งตามที่เคยขอลงทะเบียนไว้ โดยถือว่าการวินิจฉัยดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ศาลได้ให้เหตุผลประกอบว่า เหตุที่อ้างมาในคำร้องนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติ อีกทั้งผู้ร้องคำร้องของผู้ร้องเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้
โดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวภายหลังทราบคำสั่งว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่าการประกาศผลการเลือกตั้งหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของ กกต. ส่วนการขอเพิกถอนการเลือกตั้งนั้นไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับศาล จึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการซ้ำรอยเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 49 ด้วยการไปฟ้องศาลอาญา เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อ กกต.เนื่องจากกรณีการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.49 ซึ่งถูกเพิกถอนนั้น เป็นการเพิกถอนโดยศาลอาญา โดยเห็นว่า กกต.ในขณะนั้นมีความผิดในการจัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผลทำให้มีการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม ในครั้งนั้นศาลอื่นๆ ทั้งศาลปกครอง หรือศาลอุทธรณ์ก็ไม่รับการพิจารณา กรณีนี้เช่นกันเมื่อไม่มีศาลใดรับเรื่อง ศาลอาญาก็จะเป็นที่พึ่งสุดท้าย โดยจะเริ่มดำเนินการยื่นฟ้องตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปเป็นรายคดีว่า กกต.ได้ทำผิดอะไรบ้างทางอาญา
“เมื่อเรามีความจำเป็นที่จะต้องไปฟ้องศาลอาญา ก็อยากให้ กกต.เข้าใจว่าเราได้ไปยื่นห้องต่อศาลอื่นหมดแล้ว จึงต้องทำซ้ำรอยเดิมเมื่อปี 49 ในการเอาผิด กกต.ซึ่งอาจทำให้ กกต.ต้องโทษทางอาญาด้วย” นายปานเทพกล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเนื้อหาคำร้องค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ไม่เคยมีกรณีที่ประชาชนมาฟ้องทวงสิทธิ์ของตัวเอง ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรก เมื่อประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่สามารถอาศัยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ ก็ต้องหากระบวนการอื่นที่เป็นไปได้ นั่นก็คือ ศาลอาญา โดยจะฟ้องในข้อหาเดิม แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมไปถึงอีกหลายกรณีที่เกี่ยงข้อง เช่น การปล่อยให้พรรคการเมืองกหาเสียงในลักษณะสัญญาว่าจะให้ หรือการรับรองผู้ที่มีเรื่องร้องเรียนเป็น ส.ส.เป็นต้น โดยจะใช้กรณีการเลือกตั้ง ปี 49 เป็นกรณีตัวอย่าง
ขณะที่ พล.ต.จำลองกล่าวเสริมว่า เมื่อศาลวินิจฉัยออกมาแล้ว เราก็ยอมรับโดยดุษฎี ไม่มีข้อโต้แย้ง แต่จำเป็นที่ต้องเดินหน้าขั้นตอนต่อไปในการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดยตนยืนยันว่า ขั้นตอนต่างๆ นี้ ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยผ่านคำแนะนำของนักกฎหมายผู้ที่มีความเชี่ยวชาญระดับต้นๆ ของประเทศ จึงขอยืนยันว่า ได้ทำด้วยความรอบคอบแล้ว
“ปกติก็ไม่อยากหาเรื่องใคร แต่ต้องทำหน้าที่ เมื่อบทบัญญัติรัฐธรมนูญกำหนดให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องร้องต่อศาล ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาหาเรื่องให้ กกต.ต้องมีความผิดทางอาญา แต่เพราะไม่มีทางเลือกจริงๆ” พล.ต.จำลองกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความมั่นใจในพยานหลักฐาน พล.ต.จำลองกล่าวว่า เรามีความมั่นใจว่าคำร้องที่เราเสนอมามีเหตุผลครบถ้วนทุกประการ ไม่ใช่ว่าไม่มีหลักฐานแล้วมาฟ้อง อย่างนั้นเสียเวลาเปล่า