“ยิ่งลักษณ์” เร่งทำนโยบายหลังได้รับการรับรองเป็น ส.ส. ไม่ห่วง 12 แกนนำแดงยังถูกแขวน เชื่อ กกต.พิจารณาอย่างเป็นธรรม เผยหลังทำนโยบายของพรรคเพื่อไทยเสร็จจะเชิญพรรคร่วมหารือ อ้างอยากปรับค่าแรง 300 บาทตามสัญญา แต่ต้องดูแลผู้เกี่ยวข้องที่จะได้รับผลกระทบด้วย
วันนี้ (20 ก.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า หลังจากนี้จะได้เร่งทำงานได้ จะได้เตรียมไปรายงานตัวในฐานะ ส.ส. ส่วนที่ไม่ไปรายงานตัวในวันนี้ เนื่องจากจะรอนัดพร้อมๆ กันจะได้ไปทั้งคณะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอความพร้อมว่าคนที่เหลือที่ยังไม่ได้รับรองเหลือกี่คน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงคนที่ กกต.ยังไม่ได้รับรองซึ่งเป็นแกนนำ นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง 12 คนหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่กดดัน กกต.ดีกว่า เพราะว่า กกต.คงพิจารณาอย่างเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายอยู่แล้ว คิดว่ายังอยู่ในช่วงของเวลาก็คงต้องรอดูผลอีกครั้ง ส่วนเรื่องคุณสมบัติของแกนนำ นปช.ที่ถูก กกต.แขวนอยู่นั้นเป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยที่จะชี้แจงเพิ่มเติม เชื่อว่าฝ่ายกฎหมายได้ยื่นไปครบแล้วตามข้อกำหนดที่มีกำหนดไว้
ต่อข้อถามว่า หลังจาก กกต.รับรองความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว มีการเดินหน้าเรื่องการจัดตั้ง ครม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เตรียมรายชื่อเรื่อง ครม. แต่เดินหน้าเรื่องของการจัดทำนโยบาย เพราะทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการตามรัฐสภาก่อน ตอนนี้ส่วนตัวก็ยังถือว่าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้น
ส่วนจะมีการนัดพรรคร่วมรัฐบาลในการหารือเรื่องของการจัดทำนโยบายหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คงจะมีการขั้นตอนการนัดพบพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะช่วงนี้แต่ละพรรคกำลังเตรียมนโยบายของตัวเองไว้ก่อน ซึ่งหากผลการรับรองของ กกต.จบแล้วคงจะนัดหารือกัน สำหรับการหารือเรื่องนโยบายกับพรรคร่วมรัฐบาลคงเป็นลักษณะการหารือร่วมกัน เพราะส่วนใหญ่แต่ละพรรคก็ได้รับทราบกันแล้ว และจะมาคุยกันในเรื่องรายละเอียด ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถคุยกันได้กับพรรคร่วมรัฐบาลได้ในเรื่องของการจัดทำรายละเอียดนโยบาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายกังวลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทจะทำไม่ได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอเรียนว่าพรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นทำในเรื่องค่าแรง 300 บาท เพราะหากดูสถิติที่ผ่านมาค่าแรงไม่ได้ขึ้นราคา ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ดังนั้นจึงอยากช่วยแบ่งเบาภาระผู้ใช้แรงงาน แต่ทั้งนี้ก็ต้องไปดูผลกระทบทั้งหมด ก็คงจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงบริษัทเอกชนว่ามีผลกระทบอย่างไร พรรคเพื่อไทยคงไม่เดินหน้าทำโดยไม่คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเข้าไปหารือกับทุกภาคส่วนเท่าที่จะทำได้แต่สุดท้ายก็ต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง คงจะไม่สามารถบอกว่าเป็นแนวทางปฏิบัติทันที แต่เราจะหารือร่วมกันเป็นแนวทางที่เห็นชอบร่วมกัน และยืนยันว่านโยบายสามารถทำได้จริง เพราะมีการคำนวณและศึกษามาระดับหนึ่งแล้ว