xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ยื่นหลักฐานเพิ่มร้องศาลฎีกาเพิกถอนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แกนนำพันธมิตรฯ ยื่นคำร้องเพิ่มต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ขอเพิกถอนเลือกตั้งล่าสุด “ปานเทพ” ยันแบบฟอร์มเลือกตั้งล่วงหน้ามีเจตนาชัดให้ใช้สิทธิเป็นรายครั้ง ซ้ำยังใช้หลายมาตรฐานเอาแน่เอานอนไม่ได้ “จำลอง” เผยเตรียมร้องศาลอาญาพรุ่งนี้



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่ศาลฎีกา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้เดินทางไปยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง กรณีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อขอศาลฎีกาเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ที่ผ่านมา และให้จัดการเลือกตั้งใหม่

พล.ต.จำลองกล่าวว่า ตนได้มายื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมายื่นคำร้องไว้แล้ว เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งได้เพิ่มเติมรายละเอียดอีกหลายอย่างเพื่อประกอบการวินิจฉัยให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง

ด้าน นายปานเทพกล่าวว่า วันนี้ได้มีการยื่นคำร้องเพิ่มเติมถึงศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดย พล.ต.จำลองได้มายื่นก่อนหน้านี้ เหตุเพราะเราพบหลักฐานบางประการเพิ่มเติมที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่จะพิจารณาว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ เวลา 16.00 น. เราจึงมายื่นก่อน ทั้งนี้ มีเหตุปัจจัยหลายสาเหตุ อาทิ พบแบบฟอร์มในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า แต่ละครั้งจะต้องมีการกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งจะต้องชี้แจงเหตุผลของแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เหตุผลของแต่ละคนจะเหมือนกันตลอดระยะเวลา 4 ปีหรือตลอดจนสมัยการที่มีสภาผู้แทนราษฎร เมื่อยุบสภาแล้วมีเลือกตั้งใหม่ ไม่จำเป็นที่เหตุผลจะต้องเป็นเหตุผลเดิมได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า แบบฟอร์มในการที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านั้น มีเจตนาอย่างชัดเจน ต้องการให้เป็นการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเป็นคราวๆ ไป ในแต่ละครั้งไป ด้วยเหตุผลที่มีความแตกต่างกัน

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ปกติการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจะต้องแจ้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอย่างน้อย 30 วัน หมายความว่า พล.ต.จำลองจะต้องไปชี้แจงว่าขอเพิกถอนเปลี่ยนแปลงจากสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามาเป็นเขตในปัจจุบันตามกฎเกณฑ์ของ กกต. ต้องอยู่ระหว่างก่อนวันที่ 2 มิ.ย. 2554 แต่พอมาดูในเนื้อหาประชาชนทั่วไปมีสิทธิตรวจสอบบัญชีรายชื่อของตัวเองว่าชื่ออยู่ที่ไหนล่วงหน้าเพียงแค่ 10 วันเท่านั้นก่อนวันเลือกตั้ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่ พล.ต.จำลอง จะไปค้นพบรายชื่อตัวเองเสียก่อนว่ายังคงค้างอยู่ในบัญชีการเลือกตั้งล่วงหน้า ถึงรู้ก็จะสายไปแล้วในการที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิอะไรก็ตาม รวมถึงการเลือกตั้งนอกเขตและในเขตมีความลักลั่นกันว่า บางคนอยู่ในพื้นที่ 30 วันแล้วสามารถไปสู่สภาพเดิมได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่การใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าก็มีหลายมาตรฐาน ไม่มีความชัดเจน เอาแน่เอานอนไม่ได้

พล.ต.จำลองกล่าวเสริมว่า คราวที่แล้วตนในฐานะหนึ่งในผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนกว่า 2 ล้านคนที่พบเคยไปเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คำว่า “ในเขตเลือกตั้ง” หมายถึงว่า เลือกตั้งในเขตที่ตัวเองมีทะเบียนบ้านอยู่ เช่น ตนมีทะเบียนบ้านอยู่ที่เขตดุสิต ไปเลือกตั้งที่เขตดุสิต ถือว่าในเขตเลือกตั้ง บางครั้งประชาชนมีความจำเป็นที่จะต้องไปธุระที่อื่นในวันเลือกตั้ง ไม่สามารถจะเลือกตั้งได้ ก็ต้องไปขอลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต เช่น 4 ปีที่แล้วที่มีการเลือกตั้งที่ จ.กาญจนบุรี และตอนนั้นตนอยู่ที่นั่นด้วย จึงขอลงทะเบียนเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ต้องพิจารณาเป็นคราวๆ ไป ไม่ใช่พิจารณาตลอดกาล คราวนี้ตนหรือใครๆ ก็นึกไม่ออกว่าคราวนี้มีการเลือกตั้งนอกเขตที่ไหนบ้าง เมื่อนึกไม่ได้ก็ไม่ได้ไปถอน และการประชาสัมพันธ์จาก กกต.ที่ขอให้ประชาชนลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้งแล้วต้องไปแจ้งถอนชื่อก็ไม่มี ซึ่งการยื่นคำร้องเพิ่มเติมครั้งนี้ได้เพิ่มเติมอีกหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งคราวที่แล้วที่มีเรื่องนี้เป็นสาเหตุใหญ่เรื่องหนึ่ง เป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังอะไรจากการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาในครั้งนี้ พล.ต.จำลองกล่าวว่า การที่ตนมาร้องต่อศาลนั้นเนื่องจากมีเหตุผล มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิไว้ เพราะตามรัฐธรรมนูญเรามีสิทธิที่จะลงคะแนนเลือกตั้ง และฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นต้องอำนวยความสะดวกให้การเลือกตั้งเป็นไปได้โดยง่าย มีอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อเราเสียสิทธิ์ไปเราก็ต้องร้อง และเราหวังว่าองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็คงจะให้ความยุติธรรมกับเรา เราจึงได้มาร้องเรียนต่อที่นี่ ซึ่งนอกจากนี้ยังได้เคยร้องเรียนมาแล้วที่ กกต. และวันพรุ่งนี้ (20 ก.ค.) ช่วงบ่ายจะไปที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ซึ่งตนจะพยายามร้องเรียนทุกหน่วย ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ที่มีสิทธิ์จะวินิจฉัยได้ว่าถูกต้องหรือมันผิด ซึ่งแล้วแต่ศาลจะมีคำสั่ง

โดยรายละเอียดคำร้องมีดังนี้

คำร้อง (เพิ่มเติม) คดีคำร้องที่ ลต. ๑๔ / ๒๕๕๔

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง
วันที่ ๑๙ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกกล่าวหา
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ที่ ๑ นายประพันธ์ นัยโกวิท ที่ ๒
นายสมชัย จึงประเสริฐ ที่ ๓ นางสดศรี สัตยธรรม ที่ ๔
นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ที่ ๕

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อขอศาลฎีกาเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นทั่วไปเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔

ข้าพเจ้า พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง เกิดวันที่ ๕ เดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘ อายุ ๗๖ ปี อาชีพข้าราชการบำนาญ บ้านเลขที่ ๕๘๐/๒ ถนนพระราม ๕ แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ที่อยู่เพื่อจัดส่งเอกสาร : ๑๐๙/๑๒ ซ.ลาดพร้าว ๒๓ แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์. ๐๒-๕๑๓๐๑๓๐-๔ โทรสาร. ๐๒-๕๑๓๐๑๓๕

ผู้ร้อง มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ ๕๘๐/๒ ซอยสงวนสุข ถนนพระราม ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อขอศาลฎีกาเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นทั่วไปเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นคดีคำร้องที่ ลต / ๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผู้ร้องใคร่ขอเสนอคำร้องเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลฎีกาดังต่อไปนี้

ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่ผิดพลาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งในบทบัญญัติมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่วินิจฉัยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้ายังคงมีชื่ออยู่ในเขตเลือกตั้งที่ร้องขอไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยคงอยู่ตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลงหากไม่ไปขอดำเนินการลงทะเบียนขอแก้ไข เป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักการของกฎหมาย ซึ่งตามมาตรา ๙๗ วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๙๗ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๙๖ ถ้าประสงค์จะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนอยู่ ต้องมาลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งอาจขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงจังหวัดที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยให้มีผลเมื่อพ้นสามสิบวันนับจากวันที่ยื่นคำขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงและให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในการนี้ จะขอเปลี่ยนแปลงทะเบียนในการเลือกตั้งคราวใดเกินหนึ่งครั้งไม่ได้”

บทบัญญัติในมาตรา ๙๗ วรรคสาม ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ารวมทั้งเปลี่ยนแปลงการขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้งโดยให้มีผลเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง และจะขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งคราวใดเกินกว่า หนึ่งครั้งไม่ได้

ผู้ร้องจึงขอประทานกราบเรียนต่อศาลฎีกาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งว่า

1.โดยเจตนารมณ์ของมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีความประสงค์เกิดความสะดวกแก่ประชาชนตาม “หลักการอำนวยความสะดวก” จึงกำหนดให้มีการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งนอกจังหวัดจึงจะขอใช้สิทธิเลือกตั้งได้ การขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในจังหวัดเดียวกันจึงไม่สามารถกระทำได้ เพราะการเดินทางภายในจังหวัดย่อมจะประมาณการเวลาที่จะสามาถไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ทันตามกำหนดเวลาได้ แต่การเดินทางไปมาข้ามจังหวัดไม่สามารถกระทำได้สะดวก แต่ก็ต้องยึดถือภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นหลักเพราะในเขตจังหวัดเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งให้เปลี่ยนไปแล้วไม่สามารถไปใช้ในเขตเดิมละหน่วยเลือกตั้งได้ ดังความที่ปรากฏในมาตรา ๙๗ นอกจากนี้การไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ส่วนใหญ่เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงในวันเลือกตั้งในการเลือกตั้งแต่ละครั้งเท่านั้น เช่น มีกิจธุระหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ถึงเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้งตามมาตรา ๙๖ เมื่อเสร็จกิจธุระหรือพ้นระยะเวลาตามมาตรา ๙๖ แล้ว ข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงในการเลือกตั้งครั้งนั้นย่อมสิ้นสุดลง ไม่อาจถือเป็นการมีกิจธุระตลอดกาลหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ถึงเก้าสิบวันตามมาตรา ๙๖ ตลอดไป อย่างที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเข้าใจ อันเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

2. หากจะพิจารณาจากระยะเวลาในการขอลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งจะพบว่าระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อขอลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งต้องกระทำภายในระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กำหนดตามมาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งระหว่างวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ -วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ และในขณะเดียวกันในมาตรา ๙๗ วรรคสอง ได้ กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไว้แล้วหากจะเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งต้องกระทำตามที่บัญญัติในมาตรา ๙๗ วรรคสองคือ การเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตต้องกระทำก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จึงจะมีผลให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องกระทำก่อนวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ จึงจะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่จะตรวจสอบการใช้สิทธิเลือกตั้งของตนว่าอยู่ในเขตใด ต้องกระทำก่อนวันที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ากำหนดก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน และผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งทุกเขตโดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อน วันเลือกตั้งที่ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔)และจากหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งถึงเจ้าบ้าน ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ และประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งภายในเขตเลือกตั้งที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ในทะเบียนบ้าน ก็ไม่ทราบถึงกรณีดังกล่าวและไม่สามารถดำเนินการไปขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงในทางทะเบียนได้เพราะเวลาล่วงเลยมาแล้ว ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากระยะเวลานับจากที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กำหนดให้แจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเวลาไม่ถึงสามสิบวันที่จะมีผลให้ใช้สามารถสิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นเวลาที่มาตรา ๙๗ วรรคสองดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้ ในการแจ้งชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กำหนดเวลาไว้ คือวันที่ ๑๒ และวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่อในทะเบียนแต่มีหมายเหตุท้ายชื่อว่า ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต จึงไม่ใช้หลักการการเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงผู้ร้องไม่สามารถดำเนินการใดๆตามที่ผู้ถูกกล่าวหากำหนดให้ดำเนินการจัดการได้ เพราะเป็นการพ้นวิสัยเนื่องจากกำหนดการที่ผู้ถูกกล่าวหาได้กำหนดล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะดำเนินการใดๆได้

3.การขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ผู้ร้องไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตได้ทันที แต่ต้องดำเนินการขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งเสียก่อนโดยใช้แบบคำขอลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด(แบบ สส๔๒หรือ แบบ สส ๔๒ก) และเป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าและพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาต้องพิจารณาเสียก่อนว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและมีเหตุที่เป็นเงื่อนไขให้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า(นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น)จึงจะลงทะเบียนและหมายเหตุในช่องทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น การขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง จึงเป็นการขออนุญาตที่มีลักษณะเฉพาะกาลและเฉพาะคราวที่มีความจำเป็นจากผู้ถูกกฃาสงหสทั้งห้าภายใต้เงื่อนไขของเหตุจำเป็นตามมาตรา ๙๖และมาตรา ๙๗ เท่านั้น หาใช่สิทธิของการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งที่ผู้ร้องใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงตลอดไป หรืออย่างไรก็ได้แล้วแต่ความประสงค์ของผู้ร้อง

4.ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเลือกปฏิบัติในการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง เพราะตามมาตรา ๙๗ ได้กำหนดหลักการของผู้ประสงค์ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งประกอบด้วยผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งติดต่อกันน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ากลับจัดการในบุคคลสองกลุ่มแตกต่างกันและเลือกปฏิบัติต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง เพราะบุคคลทั้งสองกลุ่มเป็นผู้มีความจำเป็นในการใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากปัญหาของการไม่ได้อาศัยในบ้านที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันน้อยกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้เลือกปฏิบัติได้วางระเบียบให้บุคคลทั้งสองกลุ่มสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต่างกัน เพราะผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ากลับวางเงื่อนไขให้ของการเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนให้ต่างกันได้ โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้งและต่อมาภายหลังได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ากลับวางระเบียบให้ถือว่าเป็นการเพิกถอนการลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดนับแต่พ้นกำหนดเวลาที่เป็นเงื่อนไข แล้วให้นายทะเบียนแก้ไขการลงทะเบียนโดยไม่ต้องร้องขอ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันในระหว่างบุคคลทั้งสองกลุ่มแต่อย่างใด แต่เกิดจากการกำหนดหลักการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยการวางระเบียบของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเอง ทั้งนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๗๑ กำหนดไว้ว่า

“ข้อ ๑๗๑ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยื่นคำขอตามข้อ ๑๖๙ ให้หมดสิทธิลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง จนกว่าจะได้ยื่นคำขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นของอำเภอหรือเทศบาลที่ตนอยู่ เว้นแต่เป็นการขอลงทะเบียนเนื่องจากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง และต่อมาภายหลังได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันให้ถือว่าเป็นการเพิกถอนการลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดนับแต่พ้นกำหนดเวลาที่เป็นเงื่อนไขนี้แล้ว

เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งได้รับคำขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ดำเนินการดังนี้

(๑) แจ้งผู้อำนวยการทะเบียนกลางหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทะเบียนกลางเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่ลงคะแนนในหมายเหตุของทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและปรับปรุงฐานข้อมูลในการจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(๒) แจ้งให้ผู้ร้องทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง”

ดังนั้นหากพิจารณาจากข้อ ๑๗๑ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กำหนดไว้ดังกล่าวแล้ว ย่อมแสดงต่อศาลฎีกาว่าหากผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเห็นว่าการลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้วางระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ในข้อ ๑๗๑ ดังกล่าวข้างต้น และกำหนดให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นแก้ไขในการลงทะเบียนเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องร้องขอและเพราะเหตุผลใดจึงไม่กำหนดให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นแก้ไขการลงทะเบียนกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน การดำเนินการของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า จึงก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและวินิจฉัยให้กลุ่มบุคคลที่อยู่ในบังคับของกฎหมายมาตราเดียวกันใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต่างกัน ส่งผลให้เป็นการตัดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนจำนวนมาก และทำให้มีประชาชนต้องเสียสิทธิเลือกตั้งโดยไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายอีกเป็นจำนวนมากรวมถึงกรณีของผู้ร้องด้วย

5.ในแบบคำขอลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด (แบบ สส ๔๒ และแบบ สส ๔๒/ก) ซึ่งเป็นแบบการลงทะเบียนที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กำหนดขึ้น เพื่อใช้กับการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าผู้ลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งต้องมาแจ้งแก้ไขการลงทะเบียน ซึ่งรวมถึงแบบหนังสือตอบรับการลงทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด(แบบ สส ๔๒/ข) ก็ไม่ปรากฏข้อความใดๆ ที่ระบุหรือแจ้งเตือนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบว่าผู้ลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งต้องมาแจ้งแก้ไขด้วยการลงทะเบียนเช่นเดียวกัน

6.ตามบทบัญญัติมาตรา ๙๗ วรรคสาม ได้บัญญัติให้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งคราวใดเกินกว่าหนึ่งครั้งไม่ได้ เมื่อพิจารณากำหนดเวลาตามที่กราบเรียนเสนอต่อศาลฎีกาตามข้อ ๒.แล้ว จะพบว่าในการดำเนินการของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่ไม่สอดคล้องและไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะดำเนินการใดๆ ได้เลยเนื่องจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า และระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กำหนดและล่วงพ้นระยะเวลาการที่ผู้ถูกกล่าวหาและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกกว่าสองล้านคนจะดำเนินการใดๆเพื่อให้ตนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้

เนื่องจากเหตุที่ผู้ร้องประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งเหมือนกับประชาชนอีกจำนวนมากไม่น้อยกว่าสองล้านคนแต่ไม่สามารใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะการดำเนินการของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่บริหารจัดการการเลือกตั้งจนผู้ร้องและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกสองล้านคนต้องเสียสิทธิทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้ร้องได้ร้องต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าปรากฏตามเอกสารคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ลงเลขที่รับ ๔๕๓ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๓๐ น.ท้ายคำร้องหมายเลข ๓ที่ได้ยื่นไว้แล้วนั้น แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ากลับไม่นำพาดำเนินการรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนถึง ๓๕๘ คน ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ อันแสดงถึงการนิ่งเฉยและไม่นำพาที่จะคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้ร้องและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกกว่าสองล้าน ส่งผลให้การรับรองผลดังกล่าวไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากยังขาดคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกกว่าสองล้านคน ที่จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้

คำขอท้ายคำร้อง
จึงขอให้ศาลฎีกาได้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และได้โปรดมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ร้อง
คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้าพลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ร้องเป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์

กำลังโหลดความคิดเห็น