แกนนำพันธมิตรฯ ยื่นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ฟ้อง กกต.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปล่อยผี 358 ส.ส. เมินคำร้องคัดค้านของผู้เสียสิทธิ วอนเพิกถอนการเลือกตั้ง
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลให้เพิกถอนการเลือกตั้ง 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถควบคุมดูแลและดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีที่ กกต.วินิจฉัยให้ พล.ต.จำลอง รวมไปถึงประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอีกมากกว่า 2 ล้านคน ขาดสิทธิ์ในการลงคะแนน เพราะมิได้ร้องขอเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง
โดย พล.ต.จำลอง เปิดเผยว่า การยื่นคำร้องในวันนี้เป็นการยื่นในประเด็นเดิมที่เคยได้ยื่นต่อ กกต.มาก่อนหน้านี้ที่ขอให้ กกต.อย่าเพิ่งรับรองผลการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ กกต.ก็ได้รับรองผลไปแล้วบางส่วน จึงจำเป็นต้องมายื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งให้เพิกถอนการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. และสั่งใหมีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล ตนมีหน้าที่เพียงการรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ตนเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า กกต.วินิจฉัยไม่ถูกต้อง
“การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องของ กกต.นั้นส่งผลให้ผมและคนอื่นๆรวมแล้วกว่า 2 ล้านคนต้องเสียสิทธิ ซึ่งหากมีสิทธิอาจทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปจากที่ กกต.ได้รับรองไปแล้ว อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าการยื่นคำร้องต่างๆไม่ได้มาจากความขุ่นข้องหมองใจกับ กกต. แต่จำเป็นต้องทำตามหน้าที่ที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” พล.ต.จำลอง กล่าว
ด้าน นายปานเทพ กล่าวเสริมว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.จำลองได้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งว่าไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขต เนื่องจากเป็นการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไว้ตั้งแต่เมื่อการเลือกตั้งปี 50 ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ พล.ต.จำลองสามารถใช้สิทธิได้ จึงถือว่า พล.ต.จำลองได้แสดงเจตนาในการเลือกตั้งแล้ว แต่จากการที่ กกต.วินิจฉัยวินิจฉัยว่า พล.ต.จำลองเสียสิทธิ์ จึงต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนอีกกว่า 2 ล้านคนที่มีลักษณะแบบเดียวกัน และเชื่อว่าคะแนน 2 ล้านกว่าเสียงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งแน่นอน ฉะนั้นเมื่อทาง พล.ต.จำลองได้ยื่นเรื่องต่อ กกต.เมื่อ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ยุติการประกาศผลการเลือกตั้ง และให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ปรากฏว่า กกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้งบางส่วนออกมา ทำให้ พล.ต.จำลองไม่มีโอกาสที่จะนำคำแนนของตัวเองไปใช้สิทธิ์ในการเลือกหรือไม่เลือกคนเหล่านั้น จึงต้องมาร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อให้พิจารณาเพิกถอนการเลือกตั้ง 3 ก.ค.ทั้งหมด
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ถือได้ว่า กกต.ได้ทราบเหตุผลแล้วจากการยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 11 ก.ค. แต่เมื่อยังดำเนินการต่อไป ต้องถือว่าเป็นความตั้งใจที่จะเดินหน้าต่อไป โดยไม่ใยดีต่อการเสียสิทธิของ พล.ต.จำลอง และประชาชนอีกกว่า 2 ล้านคน โดยในวันที่ 19 ก.ค.ที่จะถึงนี้จะมีการไปฟ้องร้องต่อศาลอาญา เพื่อเอาผิด กกต.ทั้ง 5 คน ในหลายกรณี โดยจะประมวลทั้งหมดในแง่ของคดีอาญา ซึ่งจะมีเอกสารหลักฐานที่แตกต่างออกไป โดยจะเป็นการบ่งบอกว่า กกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ยึดความถูกต้องเที่ยงธรรม รวมทั้งกรณีการเพิกเฉยต่อคำร้องยุบพรรคการเมืองที่ได้ยื่นไปก่อนหน้านี้
“กรณีนี้มีความคล้ายคลึงกับกรณีของ กกต.ชุดก่อน ที่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.49 ศาลอาญาสั่งจำคุก กกต. 3 คน โดยที่ไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการให้ กกต.ชุดดังกล่าวออกมาดำเนินการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม” นายปานเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยื่นถอดถอน กกต.ต่อไปหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า หาก กกต.ถูกชี้ว่ามีความผิดทางอาญา ก็จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เข้าใจว่าเนื่องจากประชาชนเสียสิทธิ์จำนวนมาก จึงเชื่อว่าอาจจะมีคนอีกเป็นล้านคนที่จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาในคดีของตัวเอง โดยในกรณีของ พล.ต.จำลองเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่เสียสิทธิทั่วประเทศ
เมื่อถามต่อถึงการที่ กตต.ยังไม่ประกาศรับรอง น.ส.ลิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดง โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า เป็นเพียงเกมการเมือง เพราะขณะนี้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยมีแรงกดดัน โดยเฉ พาะกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงที่ไปกดดันให้ กกต.รับรองสิทธิ์ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง จึงคิดว่า กกต.อาจจะไม่สามารถรับสภาพแรงกดดันได้ จึงยกเว้นบางบุคคลให้แขวนไว้ก่อน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง อย่างไรก็ตาม กกต.ก็มีหน้าที่ในการวินิจฉัยอยู่ดี หาก กกต.ยังเดินหน้าในการรับรองก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
เมื่อถามถึงแนวโน้มการเสนอให้มีการออกประชามติเพื่อกลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ของพรรคเพื่อไทย นายปานเทพ กล่าวว่า พันธมิตรฯมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตั้งแต่การเคลื่อนไหวเมื่อปี 2551 ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรฉีกรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วกลับมาใช้ฉบับปี 40 เพื่อฟอกความผิดทั้งในการเลือกตั้งหรือในทางคดีอาญา อย่างไรก็ตามเห็นว่าตอนนี้มีเพียงการปล่อยข่าวในลักษณะโยนหินถามทางมากกว่า จึงไม่มีความจำเป็นที่พันธมิตรฯต้องออกมาแสดงท่าทีในขณะนี้
โดยรายละเอียดคำร้องมีดังนี้
คำร้อง คดีคำร้องที่ ลต. / ๒๕๕๔
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง
วันที่ ๑๓ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกร้อง
นายอภิชาต สุขขัคคานนท์ ที่ ๑ นายประพันธ์ นัยโกวิท ที่ ๒
นายสมชัย จึงประเสริฐ ที่ ๓ นางสดศรี สัตยธรรม ที่ ๔
นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ที่ ๕
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อขอศาลฎีกาเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นทั่วไปเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ข้าพเจ้า พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง เกิดวันที่ ๕ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุ ๗๖ ปี อาชีพข้าราชการบำนาญ บ้านเลขที่ ๕๘๐/๒ ถนนพระราม ๕ แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ที่อยู่เพื่อจัดส่งเอกสาร : ๑๐๙/๑๒ ซ.ลาดพร้าว ๒๓ แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์. ๐-๒๕๑๓-๐๑๓๐-๔ โทรสาร. ๐-๒๕๑๓-๐๑๓๕
ผู้ร้อง มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ ๕๘๐/๒ ซอยสงวนสุข ถนนพระราม ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร
ผู้ถูกร้องที่ ๑-๕ เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งและเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และในการใช้อำนาจขององค์กรจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖ โดยในการจัดการเลือกตั้งและดำเนินการเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องทั้งห้าจะต้องควบคุมดูแลและดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ผู้ถูกร้องทั้งห้ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีผู้ถูกร้องที่ ๑ มีฐานะเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง รวมทั้งเป็นผู้รักษาการร่วมกับนายกรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ผู้ถูกร้องทั้งห้ามีหน้าที่ควบคุมดูแลให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจดแจ้ง การจัดตั้งพรรคการเมือง ควบคุมตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมือง และปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการของกฎหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
เมื่อได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔โดยให้มีการยุบสภาตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผู้ถูกร้องได้ประกาศกำหนดให้มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และกำหนดให้มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ๒๔-๒๘พฤษภาคม ๒๕๕๔ นอกจากนี้ผู้ถูกร้องยังประกาศให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านตามทะเบียนบ้านที่ต้องเดินทางออก นอกเขตไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันเลือกตั้ง สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล่วงหน้า ได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยต้องยื่นคำขอลงทะเบียนนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นมีการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ และให้ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดกับที่ผู้นั้นมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง (เพิ่งย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาใหม่) ไม่ถึง ๙๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้งลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งระหว่างวันที่ ๑๙ พฤษภาคม-๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ และกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ส่วนกรณีที่เป็นการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุล และกรณีที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่มีการเลือกตั้ง สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ/สำนักทะเบียนท้องถิ่น/สำนักบริหารแรงงานไทย กระทรวงแรงงาน โดยให้มีการลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน คือ ภายในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ และกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในระหว่างวันที่ ๑๒-๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ โดยผู้ถูกร้องทั้งห้าได้ร่วมกันวินิจฉัยว่าบทบัญญัติมาตรา ๙๗ และมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“มาตรา ๙๗ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๙๖ ถ้าประสงค์จะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนอยู่ ต้องมาลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้ผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งมีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งเมื่อได้ลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้งสามสิบวัน โดยให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนลงทะเบียนไว้และให้หมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง ในการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งบันทึกการลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวไว้ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อใช้ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และให้หมายเหตุสถานที่ที่ไปใช้สิทธิไว้ในประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย
ผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งอาจขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงจังหวัดที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยให้มีผลเมื่อพ้นสามสิบวันนับจากวันที่ยื่นคำขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงและให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในการนี้ จะขอเปลี่ยนแปลงทะเบียนในการเลือกตั้งคราวใดเกินหนึ่งครั้งไม่ได้
ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งต้องใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบเก้าสิบวันครั้งสุดท้ายตามมาตรา ๙๖ แล้วแต่กรณี
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้งทั่วไป หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หากบุคคลผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว แต่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น ให้ถือว่าการลงทะเบียนนั้นเป็นการแจ้งเหตุอันสมควรและไม่เสียสิทธิตามมาตรา ๒๖
มาตรา ๑๐๑ เมื่อขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งตามมาตรา ๙๙ แล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นหมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่จะได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าตามเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด”
โดยผู้ถูกร้องทั้งห้าได้ร่วมกันวินิจฉัยว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งลงคะแนนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งของตนแล้ว ไม่ร้องขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นทั่วไปครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนไว้ตลอดไป และหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งประสงค์จะกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ต้องลงทะเบียนขอเปลี่ยนแปลงก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน และต่อมาผู้ถูกร้องทั้งห้าได้ร่วมกันสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน่วยธุรการของผู้ถูกร้องทั้งห้ากระทำการประกาศในสื่อต่างๆ รวมทั้งในเวปไซด์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า ข้อควรระวังเกี่ยวกับการลงทะเบียน
๑. ผู้ที่เคยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตฯ ไว้แล้วสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ทันที โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
๒. ผู้ที่เคยลงทะเบียนไว้แล้วฯ หากต้องการกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ เขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะต้องขอยกเลิกการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดก่อน
๓. การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตฯ ใช้ได้กับการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้ลงทะเบียนจะต้องกลับไปใช้สิทธิ ณ ท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
๔. ผู้ที่ลงทะเบียนฯ ต้องไปใช้สิทธิได้ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ เท่านั้น จะไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้
๕. การลงทะเบียนฯ จะมีผลผูกพันไปตลอดจนกว่าผู้มีสิทธิฯ จะยื่นหนังสือขอยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผู้ร้องและภริยาได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ โดยขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต ณ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งผู้ร้องและภริยาได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจบางประการ ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่หน่วยเลือกตั้งที่ ๑๔ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต เขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง แจ้งว่าผู้ร้องและภริยาไม่ปรากฏชื่อ เนื่องจากผู้ร้องและภริยาไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายชื่อที่ได้ขอลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ผู้ร้องมีสิทธิเลือกตั้งอยู่เนื่องจากมีภารกิจสำคัญและขอไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งในจังหวัดกาญจนบุรี ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ จึงทำให้รายชื่อของผู้ร้องและภริยาอยู่ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่งผลให้ผู้ร้องและภริยาไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๑ และ ๒ เนื่องจากวันลงคะแนนเลือกตั้งกรณีการเลือกตั้งนอกเขต ที่ผู้ถูกร้องทั้งห้าร่วมกันกำหนดได้จัดผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔
การที่ผู้ถูกร้องทั้งห้าร่วมกันวินิจฉัยในบทบัญญัติมาตรา ๙๗ และมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนขอให้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและไม่ได้ขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง ต้องใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ตลอดไป เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑. ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗๒ วรรคสาม ที่กำหนดหลักการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ประกอบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๑พุทธศักราช ๒๕๕๔ ที่ได้แก้ไขที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และที่มา รวมทั้งกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ โดยแต่เดิมในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๔๘๐ คน มีที่มาจากการเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้ง ๔๐๐ คน และการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ๘๐ คน และมีการแบ่งเขตให้ในระบบเขตเลือกตั้ง ได้ไม่เกินเขตละ ๓ คน ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อให้แบ่งบัญชีรายชื่อเป็น ๘ บัญชี ในแต่ละพรรคและแบ่งเขตเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อออกเป็น ๘ เขตเลือกตั้ง ตามกลุ่มจังหวัดออกเป็น ๘ กลุ่มจังหวัดๆ ละ ๑๐คน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้เปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าวส่งผลต่อจำนวนสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและจำนวนเขตเลือกตั้ง โดยเปลี่ยนให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๕๐๐คน มีที่มาจากการเลือกตั้งระบบเขตเลือกตั้งจำนวน ๓๗๕ คน และจากการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อจำนวน ๑๒๕ คน โดยมีการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกตั้ง ได้ ๑ คน ต่อเขต และในส่วนสมาชิกในระบบบัญชีรายชื่อได้ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส่งผลให้เขตเลือกตั้งในระบบใหม่มีจำนวนเขตเลือกตั้งในระบบเขตมากขึ้นและมีพื้นที่เล็กลง และเขตเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อใหญ่ขึ้นแต่เหลือเพียงเขตเดียว เท่ากับมีการเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ทำให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งเดิมอีกต่อไปโดยผลของการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีของผู้ร้องและภริยาที่เดิมเคยใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผู้ร้องมีชื่อในเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ ๑ กรุงเทพมหานคร มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 3 คน ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตปทุมวัน เขตราชเทวี แต่ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผู้ร้องถูกกำหนดให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขต ๕ มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ ๑ คน ประกอบด้วยเขตดุสิตและเขตราชเทวี การที่ผู้ถูกร้องทั้งห้ากล่าวอ้างว่าบทบัญญัติมาตรา ๙๗ กำหนดให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อเสียก่อนทั้งที่ไม่มีเขตเลือกตั้งเดิมอยู่อีกต่อไปแล้ว จึงเป็นบทบัญญัติที่ไม่ชอบและไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
๒. ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งต้องประกาศและกำหนดหน่วยเลือกตั้งใหม่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง โดยคำนวณจำนวนประชากร ๘๐๐ คนเป็นประมาณต่อหน่วยเลือกตั้ง เท่ากับเมื่อมีการประกาศเขตเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องมีกาประกาศหน่วยเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้มีเจตนารมณ์ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นหน่วยเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปเมือ่วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ จึงไม่ใช่หน่วยเลือกตั้งเดียวกันที่จะกล่าวอ้างได้
๓. เมื่อการเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐาน การตัดสิทธิเลือกตั้งหรือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่การวินิจฉัยของผู้ถูกร้องทั้งห้าที่วินิจฉัยตามมาตรา ๙๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่วินิจฉัยว่าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งต้องกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่ตนได้เคยขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไว้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ในวันการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้ การวินิจฉัยดังกล่าวจึงมีลักษณะการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปกับการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่างและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะขัดต่อหลักการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตาม มาตรา ๗๒ วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะหากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปนั้นต้องให้ประชาชนไปดำเนินการลงทะเบียนขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งก่อน รายชื่อจึงจะกลับเข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิ แต่ส่วนการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่างที่เกิดขึ้น เช่น ที่กรุงเทพมหานคร และในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ รายชื่อของผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตได้กลับเข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งทันทีไม่ต้องมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปรากฎว่า รายชื่อของบุคคลดังกล่าวต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตทันที ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค เลือกปฏิบัติ และสม่ำเสมอในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดต่อหลักการที่องค์กรของรัฐทุกองค์กรยึดถือปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การวินิจฉัยดังกล่าวก่อให้เกิด “ผลประหลาด” ในทางกฎหมายที่บรรพตุลาการและนักนิติศาสตร์ยึดถือว่าต้องห้ามมิให้เกิดผลเช่นนั้น นอกจากนี้หากพิจารณาจำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักรตามที่กล่าวมาข้างต้นที่คาดว่าจะไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกับผู้ร้อง เพราะลงทะเบียนไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในปี ๒๕๔๐ จำนวน ๒,๐๙๕,๔๑๐ คน และ ๘๐,๑๖๑ คน ตามลำดับ เท่ากับ มีประชาชน จำนวน ๒,๑๗๕,๕๗๑ คน ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ จะส่งต่อคะแนนการเลือกตั้งที่มีผู้ลงทะเบียนในหลักหมื่นจนถึงหลักแสนคนในจังหวัดต่างๆ จำนวนไม่น้อยกว่า ๒๑ จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวน ๙๐๓,๘๙๙ คน ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในทุกเขต เพราะบางเขตเลือกตั้งมีคะแนนแตกต่างไม่มาก และหากพิจารณาถึงจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนเกินหลักหมื่นขึ้นไป จะส่งผลกระทบให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อผู้ถูกร้องทั้งห้าเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้ระงับการประกาศผลการเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และการรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ก่อนจนกว่าจะมีการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดหรือวินิจฉัยการคัดค้านการเลือกตั้งแล้วเสร็จ รวมถึงกรณีที่ผู้ร้องได้ร้องขอให้มีการเลือกตั้งใหม่ด้วย รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ลงเลขที่รับ ๔๕๓ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๓๐ น.ท้ายคำร้องหมายเลข ๓ แต่ผู้ถูกร้องทั้งห้ามิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ แต่กลับดำเนินการประกาศผลการเลือกตั้งและรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๓๕๘ คน ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๔ โดยไม่พิจารณาในเรื่องความเสียหายต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากการวินิจฉัยข้อกฎหมายของผู้ถูกร้องทั้งห้า ผู้ร้องไม่มีช่องทางอื่นที่จะทำให้ผู้ร้องได้รับคืนสิทธิเลือกตั้งที่ผู้ถูกร้องทั้งห้าไดร่วมกันวินิจฉัยไปในลักษณะของการตัดสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกจำนวนมาก เนื่องจากผู้ถูกร้องทั้งห้าซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ผู้ร้องขอใช้สิทธิทางศาลร้องต่อศาลฎีกาตามบทบัญญัติมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อคัดค้านการดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่กระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา อันเนื่องมากจากการดำเนินการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งที่ผิดพลาดของผู้ถูกร้องทั้งห้าในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๖๖๔ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ไม่น้อยกว่าสองล้านคนไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะการวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกร้องทั้งห้า รวมถึงผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร ก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ด้วยเช่นเดียวกัน
คำขอท้ายคำร้อง
จึงขอให้ศาลฎีกาได้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และได้โปรดมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ร้อง
คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้าพลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ร้องเป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์