xs
xsm
sm
md
lg

หน.ทีมกฎหมายไทยเผย สู้คดีเขมรทำดีที่สุดในภาวะเสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรชัย พลาดิศรัย หน.ทีมกฎหมายฝ่ายไทย
หัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทย เผยสู้คดีเขมรที่ศาลโลกทำดีที่สุดแล้ว ในภาวะที่เสียเปรียบ นักวิชาการชี้ถ้าศาลตัดสินให้ไทยถอนทหาร เท่ากับชี้ว่าพื้นที่ไม่ใช่ของ ไทย เขมรจะยกไปอ้างในมรดกโลกเดินหน้าแผนบริหารจัดการ

จากกรณีที่กัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ออกมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาตีความคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 โดยขอให้ (1) ไทยถอนกองกำลังทั้งหมดจากส่วนต่างๆ ในดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข (2) ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใดๆ ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร (3) ให้ไทยงดการกระทำหรือการดำเนินการใดๆ ที่กระทบต่อสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีการตีความ

ศาลโลกมีกำหนดที่จะอ่านคำพิพากษากรณีการออกมาตรการชั่วคราวดังกล่าวในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ เวลา 10.00 น.ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ (15.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย) โดยจากการประเมินของกระทรวงการต่างประเทศนั้น อาจเป็นไปได้ว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมาใน 3 รูปแบบ คือ

(1) ศาลอาจปฏิเสธคำขอของกัมพูชาที่จะให้มีมาตรการชั่วคราว (2) ศาลอาจมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว แต่เป็นในลักษณะอื่นที่ศาลเห็นสมควรซึ่งต่างจากสิ่งที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาล หรือ (3) ศาลอาจมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอทั้งหมด

รศ.นพนิธิ สุริยะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่าเรื่องการร้องขอให้ออกมาตรการชั่วคราวนั้น ศาลโลกมีอำนาจในการกำหนดวิธีการ ให้ฝ่ายที่ร้องขอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อศาลเห็นว่าจำเป็น การขอให้มีมาตรการชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของทุกฝ่ายในกรณีนี้ถ้าศาลตัดสินตามที่กัมพูชาร้องขอก็จะมีผลเสีย คือ ในเบื้องต้นจะเป็นการบอกว่ามีการยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ของไทย และทางกัมพูชาอาจจะนำไปกล่าวอ้างในกรณีของมรดกโลก ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้ถอนตัวจากมรดกโลก เพียงแต่ได้แสดงเจตนารมณ์ ทางกัมพูชาอาจจะเอาไปอ้างว่า ศาลบอกว่าเป็นพื้นที่ของเขา แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารก็จะทำได้ แต่อย่างน้อยผู้พิพากษาศาลทั้ง 17 คนต้องให้เหตุผลต่อคำตัดสิน ซึ่งก็คาดว่าจะมีความเห็นแย้ง ซึ่งความเห็นแย้งนั้นก็จะมีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลตัดสินไปตามที่กัมพูชาร้องขอ แล้วถ้าไทยไม่ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราว ศาลก็ไม่มีกลไกเป็นทางการว่าถ้าศาลสั่งแล้วเราไม่ปฏิบัติตามจะทำอย่างไร แต่เราก็เป็นสมาชิกของสหประชาชาติซึ่งมีข้อกำหนดว่า จะต้องระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี ซึ่งไทยและกัมพูชามีบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยูอยู่ เพื่อใช้แนวทางเจรจาระดับทวิภาคี ไทยเรายึดแนวทางนี้ แต่ทางกัมพูชาบ่ายเบี่ยงมาตลอด และเอาความขัดแย้งไปสู่คณะมนตรีความมั่นคง การมีเอ็มโอยู เป็นการชี้ว่าเรื่องพรมแดนยังไม่แน่นอน ก็ต้องดำเนินการสำรวจก่อน แต่ยังไม่ได้ทำ แต่ถ้าเราไม่ทำตามที่ศาลสั่ง เช่น ห้ามคุกคาม ห้ามใช้กำลัง เราก็ค้านได้ว่าเราอยู่ในดินแดนของเรา ปกป้องดินแดนของเรา ถ้าเกิดการปะทะกัน ตอนนี้มีดาวเทียมที่สามารถตรวจสอบได้ว่าฝ่ายใดเริ่มยิงก่อน ยิงจากทิศทางใด เวลาใด สามารถคำนวณได้

ส่วนประเด็นเรื่อง vicinity ซึ่งแปลว่าเพื่อนบ้านใกล้เคียง เป็นเพื่อนบ้านอยู่ติดกัน ทหารไทยตั้งฐานอยู่ใกล้กับปราสาทพระวิหาร คำตัดสินของศาลเมื่อปี 2505 ศาลเคยให้เราถอนทหาร ตำรวจ ออกจากตัวปราสาทและพื้นที่ใกล้เคียง เราก็ทำตามแล้ว และทางกัมพูชาก็ไม่ได้โต้แย้ง แต่ทางกัมพูชาต้องการให้ศาลชี้ว่าเส้นเขตแดนเป็น ไปตามแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งศาลไม่ได้ชี้ ชี้แต่ตัวปราสาทให้เป็นของกัมพูชา

นายวีรชัย พลาศรัย ทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ หัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทย กล่าวว่า การที่เราแนบเอ็มโอยู 2543 ในเอกสารที่ส่งให้ศาล เป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยมีเจตนาสุจริต เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเราใช้วิธีเจรจา ใช้วิธีสันติ เพื่อให้ศาลเห็นว่าเราไม่ใช่ประเทศใหญ่ไปข่มเหงเขา เหมือนที่ทางกัมพูชาพยายามบอก สำหรับในแง่กฎหมาย การมีเอ็มโอยู แสดงให้เห็นว่าทางกัมพูชาเองก็ยอมรับว่าเรื่องเส้นเขตแดนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องเจรจากันบนพื้นฐานตามในเอ็มโอยู และต้องพูด ถึงสนธิสัญญาฉบับอื่นๆ ด้วย ต้องมาเจรจากัน ซึ่งทางกัมพูชาก็ยอมรับแล้ว

คดีนี้ถือว่าไม่ใช่คดีใหม่ ต้องพิจารณาในกรอบคดีเดิมเมื่อปี 2505 ซึ่งผลตัดสินได้ออกมาแล้ว การขอให้ศาลตีความในครั้งนี้ เราได้ทำดีที่สุดในภาวะที่เสียเปรียบแล้ว จุดประสงค์ของกัมพูชาคือเขาต้องการ จัดการพื้นที่โดยรอบปราสาท เพราะเขาไม่มีโซนบริหารจัดการ จึงต้องรุกล้ำเข้ามาในดินแดนเรา เขาก็หาทางเคลียร์เข้ามาให้ได้ ต้นตอของเรื่องนี้เพราะกัมพูชาอยากขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว ไม่ใช่ปัญหาที่คนไทยสร้างขึ้นมา

นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคง ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เรื่องแนวเขตแดนนั้น หลังศาลโลกตัดสินเมื่อปี 2505 ฝ่ายไทยได้ตีเส้นเขตให้กัมพูชา ห่างออกมาทางตะวันตก 150 เมตร ถ้าครั้งนี้ศาลชี้ออกมาให้เราถอนทหารออกจากพื้นที่ ก็เหมือนจะบอกว่า พื้นที่รอบปราสาทเป็นของกัมพูชา ซึ่งเป็นการขัดแย้งกันเอง เพราะบริเวณตรงนั้นไม่มีแนวเขตแดนชัดเจน ในเอ็มโอยูก็ยังไม่มีเขตชัดเจน ถ้าศาลจะยึดตามแผนที่ฝรั่งเศสอัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ตามที่กัมพูชาเสนอก็จะต้องตีความเรื่องเส้นเขตแดนอีก เพราะตอนนี้ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรมีทหารไทยประจำการอยู่ ซึ่งก็เผชิญหน้ากัน ซึ่งทางกัมพูชาอยากให้ทหารไทยออกเลย เพื่อ ที่ทางกัมพูชาจะเดินหน้าแผนบริหารจัดการพื้นที่กันชนรอบปราสาทได้ เพราะตัวปราสาทพระวิหารมีพื้นที่เล็กมาก จากที่เรากั้นเขตให้ 150 เมตรทางตะวันตก ตอนนี้ กัมพูชารุกล้ำเข้ามาทางตะวันตกถึง 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งทางกัมพูชาต้องการยึดให้ได้

การขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้ทางกัมพูชากล่าวหาว่าเรายิงทำให้ปราสาทเสียหาย เราก็ชี้แจงว่ากัมพูชาใช้ปราสาทเป็นฐานทหารและฝ่ายไทยยังมีภาพถ่ายความเสียหายของโรงเรียนภูมิซรอลที่ตกเป็นเป้ายิงของทางกัมพูชา

ที่ผ่านมาเราทำตามคำตัดสินของศาลเมื่อปี 2505 เราตีเส้นแบ่งเขต เราทำตามทุกอย่าง เวลาผ่านมา 50 ปี กัมพูชาเพิ่งมาขอให้ตีความ ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะตีความ เพราะไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการชั่วคราว และคดีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเดิม แต่กัมพูชาก็พยายามลากไป เดิมศาลไม่ได้วินิจฉัยเส้นเขตแดน เราตีกรอบให้กัมพูชาไม่เคยทักท้วงเลย กษัตริย์สีหนุก็เคยขึ้นปราสาททางบันไดหัก จู่ๆ มาบอกว่าพิพากษาผิดพลาด เวลาผ่านมาห้าสิบปี กัมพูชาต้องการให้ตีความใหม่ ก็ต้องดูศาลโลก ถ้าชี้มาแล้วทำให้ไทยเสียหายก็ต้องดูว่าเราจะทำอย่างไร ถ้าเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจก็ไม่จำเป็นต้องทำตาม

สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ ตามที่นายฮุนเซนบอกว่าเป็นยุคใหม่ อาจจะมีท่าที มีทิศทาง กลับมาเจรจาทวิภาคี ก็อยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร เรื่องการลาออกจากมรดกโลก ที่ต้องทำหนังสือย้ำไป แต่ถ้าไม่ลาออกต้องอธิบายเหตุผล และทางคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้เดินหน้าแผนบริหารจัดการ เราจะทำอย่างไร เพราะต้องรุกล้ำ แน่นอนจะชี้แจงอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ขณะนี้ในพื้นที่ไม่มีความขัดแย้ง ระดับรัฐมนตรีก็ไม่มีความขัดแย้งพูดคุยกันดี ตอนนี้ทุกอย่างขึ้นกับนายฮุนเซนว่าจะเอาอย่างไรเพราะเขาเป็นคนกดปุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น