xs
xsm
sm
md
lg

เวที กสม.ซัด “ประชานิยม-ประชาภิวัฒน์” หมากธุรกิจการเมือง มอมเมา ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
กรรมการสิทธิฯ เปิดเวทีถก “ประชานิยมกับสิทธิในสังคมไทย” ซัดประชานิยมแค่วาทศิลป์เฉพาะหน้า หวังมอมเมาประชาชนระดับรากหญ้า แต่กระทบปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบ ย้ำประชานิยม-ประชาภิวัฒน์ ล้วนเป็นธุรกิจการเมือง เสริมเขี้ยวปลาใหญ่ให้กินปลาเล็ก

วันนี้ (14 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดสัมมนา เรื่อง ประชานิยมกับสิทธิในสังคมไทย โดยมี นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายบุญส่ง ชเลธร คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง และนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมบรรยาย นายนิพนธ์ กล่าวว่า ประชานิยมเปรียบเสมือนเป็นวาทศิลป์ของเหล่าบรรดานักการเมืองที่ใช้ในการหาเสียง โดยอ้างว่า สะท้อนความต้องการของประชาชน ซึ่งแนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดที่แตกต่างจากรัฐนิยมที่เป็นการขับเคลื่อนจากแนวคิดมาสู่ฐานล่าง ทั้งนี้ ต่างประเทศมองประชานิยมของไทยว่าเป็นแนวคิดฐานราก เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพลืมตาอ้าปากได้ เช่น โครงการให้สินเชื่อ นโยบายลดภาษี ซื้อรถและบ้าน ซึ่งพรรคการเมืองต่างก็รู้ว่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ต้องการชนะใจประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายที่มีเป้าหมายทางการเมือง อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ลดความเหลื่อมล้ำคือการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ หากต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทั่วถึง ต้องสร้างฐานความรู้ของคน และธุรกิจของรัฐ ทำให้นักธุรกิจต้องการเข้าสู่อำนาจของรัฐ ดังนั้นสิ่งที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยคือนักธุรกิจเข้ามาเล่นการเมือง เพื่อต้องการสนับสนุนธุรกิจของตนเองและครอบครัว โดยใช้อำนาจทางการเมือง

ด้าน นายบุญส่ง กล่าวว่า การนำเสนอสิ่งที่ประชาชนชอบของพรรคการเมืองคือประชานิยม เพื่อหวังให้ประชาชนเกิดความชื่นชม ทั้งนี้ ประชานิยมในประเทศไทยได้ใช้มาตลอด 4-5 ปี และรัฐบาลชุดนี้ก็ใช้ประชานิยม แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นประชาภิวัฒน์ จุดอ่อนของประชานิยมคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว หากเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โครงการเปล่านี้ยังคงอยู่หรือไม่ หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาโครงการประชานิยมก็คงหายไป เพราะรัฐบาลจะมองประชานิยมแค่ระยะสั้นหรือมองแค่ปลายจมูกเท่านั้น แต่รัฐสวัสดิการนั้นมองถึงอนาคตของลูกหลาน

“นโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองที่หาเสียงบนท้องถนนทำได้ทุกเรื่อง แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า 1.เอาเงินที่ไหนมาทำ 2.หากมีเงินทำ สิ่งที่นำเสนอนั้นเหมาะสมและสมควรหรือไม่ ส่วนนโยบายที่เสนอของรัฐบาลชุดใหม่ หากสังเกตให้ดีนั้นเป็นการเสนอนโยบายเพื่อหาเสียงอย่างแท้จริง ไม่ได้มีแผนงานโครงการรองรับว่าจะทำได้โดยวิธีใด เพียงแค่เสนอเท่านั้น เช่น จบปริญญาตรีมีเงินเดือน 15,000 บาท ผมถามว่าในส่วนของผู้ที่จบปริญญาโทและเอกที่จะต้องถูกดันขึ้นทั้งระบบ ต้องรื้อทั้งระบบเลยหรือไม่ ประชานิยมแก้ไขปัญหาได้ในเบื้องต้น แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้คำนึงถึงภาวะการคลังในอนาคต วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องก้าวข้ามผ่าน คำว่า ประชานิยม เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าด้วยคำว่ารัฐสวัสดิการหรือสังคมสวัสดิการแทน” นายบุญส่ง กล่าว

ขณะที่ นายณรงค์ กล่าวว่า ประชานิยมทุกวันนี้เป็นภาษาตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เพ้อเจ้อ หลกลวงประชาชน หากไม่ใช่ประชานิยมต้นฉบับ ตนในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มีความรู้สึกรังเกียจประชานิยมจอมปลอม ส่วนรัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการโดยรัฐนั้นมีอยู่ทุกรัฐ ไม่มีประเทศใดที่ไม่มี เพราะอย่างน้อยโรงเรียนระดับประถมศึกษาทุกประเทศก็ให้เรียนฟรีนี่คือสวัสดิการโดยรัฐ ประชานิยม คือ การลดแลกแจกแถมที่ไม่ต้องคำนึงถึงหน้าที่ของประชาชนที่ต้องช่วย แต่รัฐสวัสดิการนั้นประชาชนต้องมีส่วนช่วยเหลือ หากเราต้องการให้มีรัฐสวัสดิการทั่วหน้า โดยรัฐเป็นผู้จัดการแต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนให้ทุกอย่าง ทั้งนี้ ถ้าสังคมไทยยังนิยมเลี่ยงภาษีก็จะเกิดรัฐสวัสดิการไม่ได้

นายณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักของสังคมไทย คือ ความไม่เป็นธรรม ซึ่งดูได้จากความเหลื่อมล้ำ 5 ประการ ได้แก่ รายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราต้องปรับความสัมพันธ์ในส่วนเหล่านี้ทั้งหมด การปฏิรูปสังคมไทยเท่ากับปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ยุคนี้ทุนกับรัฐเป็นเนื้อเดียวกัน ประชาชนตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนที่มีอำนาจมหาศาล ระบบประชานิยมแบบไทยนั้นเสริมเขี้ยวปลาใหญ่ให้กินปลาเล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น