ผลการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 265 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 61 คน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 204 คน ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 159 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 44 คน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 115 คน
ถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างยับเยินอีกครั้งหนึ่ง และนับเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันแล้วที่ พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งใน 3 ครั้งแรกยังอยู่ในชื่อพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน
ครั้งแรก การเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ ส.ส. 248 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 48 คน และ ส.ส.แบบแบ่งเขต 200 คน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. 128 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 31 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 97 คน
ครั้งที่สอง วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. 377 คน แบ่งเป็น แบบบัญชีรายชื่อ 68 คน และแบบแบ่งเขต 309 คน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้ ส.ส. 95 คน แบ่งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ 24 คน และแบบเขต 71 คน
ครั้งที่สาม วันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. 233 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชือ 34 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต 199 คน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. 165 คน แบ่งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ 33 คน ส.ส. เขต 132 คน
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้วิเคราะห์ เปรียบเทียบ ฐานคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไปของ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ดังนี้
ฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด โดยในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงมากถึงประมาณ ร้อยละ 33.31 ในขณะที่พรรคเพื่อไทย มีการเปลี่ยนแปลงประมาณร้อยละ 22.64 เท่านั้น เมื่อวิเคราะห์เป็นรายพื้นที่ พบว่า
ในกรุงเทพมหานคร มีการเปลี่ยนแปลงถึงร้อยละ 31.48 โดยในกรุงเทพมหานคร คะแนนของประชาธิปัตย์ที่หายไป ไปอยู่ที่พรรคเพื่อไทยร้อยละ 14.34 พรรครักประเทศไทยของชูวิทย์ ร้อยละ 6.95 และไม่เลือกใคร (Vote No) ถึงร้อยละ 5.70 แต่การเกิดขึ้นของพรรครักษ์สันติ ไม่ได้มีผลกระทบต่อฐานคะแนนของ พรรคประชาธิปัตย์มากนัก โดยพรรครักษ์สันติได้คะแนนจากฐานคะแนนเดิมประชาธิปัตย์ เพียงร้อยละ 1.96 นั้น แสดงถึง อิทธิพลของการรณรงค์ไม่เลือกใคร ค่อนข้างมีผลต่อคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพมหานคร
ในภาคกลาง ฐานคะแนนของประชาธิปัตย์ หายไปประมาณร้อยละ 40 โดยไปอยู่ที่พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22.57 และกระจายไปยังพรรคอื่นๆ แสดงถึงผลงานความสามารถของพรรคต่างๆที่แข่งขันในภาคกลางที่สามารถดึงคะแนนนิยมจากพรรคประชาธิปัตย์ไปได้มากพอสมควร
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์หายไปถึงร้อยละ 50 โดยแบ่งไปเลือกพรรคเพื่อไทยร้อยละ 31.43 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 7.72 และพรรคอื่นๆร้อยละ 5.89 และเป็นคะแนน Vote No ประมาณร้อยละ 3.31 แสดงถึงความสามารถของพรรคคู่แข่งที่สามารถดึงฐานคะแนนเสียงเดิมจากประชาธิปัตย์ไปจำนวนมาก ส่งผลถึงจำนวน สส. ของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานที่มีถึง 101 คน
สำหรับภาคเหนือ ฐานคะแนนของผู้ที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ หายไปประมาณร้อยละ 40 เช่นกัน โดยคะแนนส่วนใหญ่ที่หายไป ร้อยละ 27.25 ไปอยู่ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ ประมาณร้อยละ 5.53 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของพรรคเพื่อไทยในการแย่งฐานคะแนนเสียง ไปจากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นจำนวนไม่น้อย แตกต่างจากฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ในภาคต่างๆไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งในอดีตมากนัก ยกเว้นในภาคใต้ ที่ยังคงยืนยันเลือกพรรคเพื่อไทยเพียงร้อยละ 48.75 และย้ายไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงร้อยละ 29.65 และ ในภาพรวมของฐานคะแนนพรรคเพื่อไทย แทบจะไม่เปลี่ยนไป Vote No เลย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างมาก