ASTVผู้จัดการ – อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์การเมืองใต้เงา “โคลนนิงทักษิณ” เผยรัฐบาล-พรรคร่วมเสถียรภาพแข็ง น่าจะอยู่ยาว แต่ปรับ ครม.บ่อย เพื่อตอบแทน ส.ส.เหมือนเดิม ชี้ วุ่นวายหลังปลดล็อกบ้านเลขที่ 111 อาจแย่งเก้าอี้จนถึงขั้นยุบสภา งานเฉลิมพระเกียรติ วัดใจอุดมการณ์ยืนข้างเสื้อแดง หรือสร้างภาพจงรักภักดี เตือน “ยิ่งลักษณ์” ระวังเบรกแตก เพราะการเมืองไม่เหมือนธุรกิจ
หลังการเลือกตั้งทั่วไป 3 ก.ค.ที่พรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จคว้าชัยเหนือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครองอำนาจอยู่เดิม โดยได้เสียงข้างมากกว่า 265 เสียง เพื่อเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 300 เสียง รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ถึงทิศทางการเมืองภายหลังจากการที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยกล่าวว่า นับจากนี้ด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่งของพรรคเพื่อไทย ประกอบกับการไม่ตัดสินใจตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่ดึงพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าร่วม ซึ่งคาดว่า อาจจะถึง 300 เสียง ก็ยิ่งชัดเจนว่าน่าจะมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพในสภาพอสมควร ซึ่งในรอบ 6 เดือนถึง 1 ปี หากไม่นับเรื่องที่จะเข้ามาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ส่วนหน้าตาของรัฐบาลก็เห็นว่าไม่น่าที่จะได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีตำหนิครบทุกตำแหน่ง แต่จะมีรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยที่จะมีเสียงไม่ตอบรับจากประชาชนบ้าง เพราะจะมีการจัดสรรผลประโยชน์ในหมู่ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะมีทั้งคนหลายฝ่ายที่ทำงานรณรงค์ต่อสู้แตกออกเป็นหลายพวก มีทั้งพวกที่ต่อสู้ในสภา ต่อสู้บนท้องถนน รวมทั้งต่อสู้ผ่านสื่อ ซึ่งทุกพวกก็คิดว่าตัวเองมีส่วนสำคัญ ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คงคิดอยู่เหมือนกันว่าการที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากกว่านี้ก็มาจากผลพวงหรือความสามารถในการคิดแผน การตัดสินใจดึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาลงสมัคร ต่างจากสมัยอดีตรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งดูเหมือนว่าโหนกระแส พ.ต.ท.ทักษิณ หรือกระแสการเรียกร้องเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา ซึ่งในเวลานั้นอนาคตทางการเมืองของนายสมัครก็ค่อนข้างชราเต็มที แต่เพราะได้กระแสจึงทำให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
“เพราะฉะนั้นคนเรียกร้องกันเยอะมาก ฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เองก็คิดว่าถ้าไม่เกิด 92 ศพ ประชาธิปัตย์ก็คงไม่ได้คะแนนน้อยขนาดนี้ ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนได้ต่อสู้กันมา เพราะฉะนั้นการเรียกร้องผลตอบแทนมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่เคยเป็นแกนนำอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งอื่นๆ เป็นการตอบแทน และมีความขัดแย้งกันเองในหมู่ผู้ต่อสู้ด้วย ตรงนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของ ครม.อาจจะจัดตั้งไม่ง่ายนัก สุดท้ายถ้าจัดตั้งลงตัวแล้วก็จะต้องมีส่วนที่สังคมตั้งข้อสงสัย หรือแม้กระทั่งจะเอาคนนอกที่มีฝีมือเข้ามาก็อาจจะไม่เยอะ ก็ต้องจัดสรรให้กับพรรคเพื่อไทย” รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว
รศ.ไชยันต์ กล่าวต่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ว่า ครม.ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะไม่ได้ดูดีเหมือนกับสมัยของตน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ให้ความหวังกับสังคมโดยกล่าวว่าเมื่อปีหน้าเวลาบ้านเลขที่ 111 ออกมาแล้วก็จะเข้ามาช่วยปรับปรุงภาพลักษณ์ ครม.ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ทำให้สังคมรู้สึกว่าต้องรออนาคต ขณะเดียวกันก็สร้างความหวั่นไหวให้กับคนที่เป็นรัฐมนตรีในช่วงนี้ ที่ต้องตั้งข้อสงสัยว่าตกลงจะดำรงตำแหน่งไม่นาน และอาจจะต้องมีการปรับ ครม.ในระยะเวลาอันสั้น
• “ทักษิณ” ออกหน้ามาก ตอกย้ำ “น้องปู” แค่หุ่นเชิด
เมื่อถามถึงการเดินเกมทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร รศ.ไชยันต์กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้พยายามที่จะพูดให้น้อยๆ กลับกลายเป็นการแสดงให้เห็นว่าตนเองคือโฟกัสแห่งชัยชนะ พูดถึงตัวเองในฐานะที่โทรศัพท์ทุกสายในการที่จะต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีก็พุ่งมาที่ตน ก็ยิ่งทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีอำนาจบารมี ก็ควรที่จะปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่เช่นนั้นคนในพรรคเพื่อไทยก็จะกลับมามีปัญหาตรงไปหา พ.ต.ท.ทักษิณเหมือนกับสมัยรัฐบาลนายสมัคร ซึ่งที่ผ่านมาคนในพรรคพลังประชาชนไม่ได้คิดที่จะเชื่อฟังนายสมัครมากเท่าใดนัก
• ฟันธงไม่น่าโง่นิรโทษกรรมเร็ว
ส่วนแนวโน้มการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ก็กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พูดชัดเจนว่า ไม่ได้มีนโยบายช่วยเหลือคนๆ เดียว แต่การพูดเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่มีนโยบายจะช่วยเป็นเหยื่อ หรือได้รับความไม่ถูกต้องยุติธรรม ซึ่งหมายความว่าการที่จะช่วยทั้งหมดและรวม พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะรับตำแหน่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยืนยันว่า จะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณแต่ไม่ได้ช่วยคนเดียว การนิรโทษกรรมจะพบว่าพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งต้องการนิรโทษกรรมอยู่แล้ว เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ซึ่งถูกคดียุบพรรคมาก่อน ก็ต้องการนิรโทษกรรมในบ้านเลขที่ 109 ส่วนบ้านเลขที่ 111 ไม่มีความจำเป็น เพราะระยะเวลาในการออกกฎหมายกว่าจะผ่านก็ได้รับการปล่อยออกมาแล้ว
“การนิรโทษกรรมของคุณยิ่งลักษณ์ กับการนิรโทษกรรมของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เหมือนกัน ถ้าการนิรโทษกรรมจะทำให้สังคมเกิดกระแสไม่พอใจ มันก็ทำให้เกิดปัญหาการเมืองบนท้องถนนอีก ซึ่งตรงนี้คิดว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หรือจากพรรคร่วมก็คงไม่อยากจะเห็นการเมืองบนท้องถนน เพราะจะทำให้การทำงานลำบาก รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่ออายุขัยของ ครม.หรือรัฐบาลชุดนี้ ถึงแม้จะเข้มแข็งในสภา แต่ถ้ามีปัญหาแล้วสังคมเกิดเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่าไม่ต้องการนิรโทษกรรม ฉะนั้นการนิรโทษกรรมไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้” รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว
• ประชานิยมจะทิ้งปัญหาไว้เพิ่ม
เมื่อถามถึงการบริหารราชการแผ่นดิน จากรัฐบาลชุดที่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มอย่างไร และจะมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ รศ.ดร.ไชยันต์กล่าวว่า เป็นเรื่องมักจะเกิดขึ้นเสมอสำหรับกระทรวงสำคัญหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง เช่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเกี่ยวข้องลงเข้าไปถึงชนบท ที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่คุมกระทรวงมหาดไทยในช่วงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการโยกย้ายอย่างรุนแรง กลายเป็นปัญหาใหญ่ของระบบราชการ และเป็นที่อื้อฉาวมาก เห็นว่าพรรคเพื่อไทยถ้าส่งคนไปเป็น รมว.มหาดไทยก็คงจะต้องทำอะไรอย่างที่พรรคอื่นได้เคยทำตอนคุมกระทรวงนี้ ก็คือมีการโยกย้ายกันใหม่อีก
ส่วนกระแสข่าวที่ว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะถูกแต่งตั้งเป็น รมว.มหาดไทย โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เบื้องหลัง แล้วจะซ้ำรอยกับ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งมี นายเนวิน ชิดชอบ อยู่เบื้องหลังหรือไม่ รศ.ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ก็คงทำนองเดียวกัน แต่นายยงยุทธจะดีกว่าตรงที่ว่าเคยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ผ่านงานสายปลัดกระทรวง สายกรมการปกครองมา อย่างน้อยก็มีความเข้าใจในการทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่านายชวรัตน์ ส่วนการโยกย้ายข้าราชการคงไม่หนีไปไหน จะต้องมีผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ถือเป็นมือที่มองไม่เห็นอย่างหนึ่ง และเป็นอำนาจนอกระบบเหมือนกัน ก็จะเกิดความวุ่นวายในกระทรวงมหาดไทยอีก
เมื่อถามถึงนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยจะทำได้จริงหรือไม่ รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยทำไม่ได้ มนต์ขลังของความเป็นไทยรักไทยที่มีประสิทธิภาพในสมัยนั้นก็คงจะหายไป เพราะฉะนั้นเชื่อว่ารัฐบาลจะเข็นออกมาได้ แต่ก็จะทำให้ปัญหารออยู่ในอนาคตพอสมควร เพราะฉะนั้นเป็นวิธีการของพรรคไทยรักไทยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาใช้เงินอนาคตมาเยอะมาก ตรงนี้ประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะพอใจ และรู้สึกว่าทำงานได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ แต่ก็จะทิ้งปัญหาไว้ในอนาคตเหมือนเดิม
• นิรโทษกรรมเรียกแขกม็อบ แดงส่อปลุกผี “อภัยโทษแม้ว”
ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะดำรงอยู่หรือไม่ และแนวทางสร้างความปรองดองจากฝ่ายนักการเมืองจะเป็นไปได้หรือไม่ รศ.ดร.ไชยยันต์กล่าวว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นที่แกนนำ นปช.จะเรียกคนออกมาชุมนุม อาจจะมีการชุมนุมเป็นสัญลักษณ์อยู่บ้าง แต่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อรัฐบาล ส่วนทางฝั่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เห็นว่าคงจะต้องรอดูเวลา
ทั้งนี้ ประเด็นที่จะทำให้ออกมาได้อย่างมหาศาลเหมือนเดิมมีอยู่ประเด็นเดียว คือ การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ แม้กระทั่งประเด็นเขาพระวิหารถ้าไม่ได้ชัดเจนจนเกินไปที่จะทำให้เสียประโยชน์ต่อประเทศชาติ ก็คงออกมาได้ไม่เยอะนัก นอกจากนี้ น่าสนใจว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงได้ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะนี้ก็ยังเงียบอยู่ จะขุดเรื่องนี้ออกมาหรือไม่ ซึ่งถ้าขุดขึ้นมาก็คงเป็นปัญหาแน่ แต่มีความเป็นไปได้ที่การสร้างความปรองดองยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า จะไม่มีนโยบายช่วยคนๆ เดียว และจะมีการนิรโทษกรรมตั้งแต่เหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 เป็นต้นมา ก็หมายรวมถึงพันธมิตรฯ แกนนำหรือคนที่เข้าร่วมชุมนุมจำนวนไม่น้อยถูกข้อหาก่อการร้ายจากการไปชุมนุมที่สนามบิน ขณะเดียวกันแกนนำ นปช.ก็มีคดีข้อหาก่อการร้าย ซึ่งขั้วขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายต่างก็ติดร่างแหกันหมด เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมมีความเป็นไปได้ในแง่ที่ว่านิรโทษกรรมทุกฝ่าย ซึ่งจะมีการยื่นข้อเสนอให้กับแกนนำพันธมิตรฯ ในการทำให้ข้อกล่าวหาหมดไป ซึ่งก็ต้องแลกกับการที่ปลดล็อก พ.ต.ท.ทักษิณในคดีที่ตัดสินไปแล้ว ส่วนคดีที่ยังไม่ตัดสินกระบวนการยุติธรรมจะตกลงกันอย่างไร ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักกฎหมายมหาชนจะนำไปคิด ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมกันทั้งหมดจริงๆ
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ แกนนำพันธมิตรฯ ออกมาประกาศว่า จะไม่ยอมรับการนิรโทษกรรมไม่ว่าฝ่ายใด และจะพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้การนิรโทษกรรมจะเป็นไปได้ยากหรือไม่ รศ.ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ยาก เมื่อแกนนำพันธมิตรฯ ไม่รับก็หมายความว่าการนิรโทษกรรมก็เกิดขึ้นกับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำ นปช.เท่านั้น แรงต่อต้านจากฝ่ายพันธมิตรฯ ก็คงต้องมี
แต่ถ้าแกนนำพันธมิตรฯ กลับยอมรับการนิรโทษกรรม ก็ต้องมีเครื่องหมายคำถามกับประชาชนที่เป็นพันธมิตรฯ ว่า ถ้าแกนนำมีจุดยืนเปลี่ยนไปมวลชนพันธมิตรฯ จะทำอย่างไร ขณะเดียวกันกรณี 92 ศพ จะมีการแลกปลดล็อกข้อหาก่อการร้ายกับแกนนำ นปช. มวลชนเสื้อแดงจะยอมรับหรือไม่ ซึ่งกลุ่มแกนนำ กลุ่มชนชั้นนำที่มีปัญหา กลุ่มมวลชนเขาก็ขับเคลื่อนโดยการที่เขาต้องการความถูกต้อง แต่หมายถึงว่าถ้าแกนนำทุกฝ่ายเกิดจะยอมรับการนิรโทษกรรมขึ้นมา ตกลงกันได้หรือเกี้ยเซียะกันได้ระหว่างชนชั้นนำหรือแกนนำของกลุ่มการเมือง มวลชนจะทำอย่างไร จะยืนหยัดที่จะประท้วงแม้กระทั่งแกนนำตัวเองหรือไม่
• งาน 84 พรรษา วัดใจแดงอุดมการณ์-สร้างภาพรักสถาบัน
เมื่อถามว่าการที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สำหรับภาคประชาชนซึ่งมีการรวมกลุ่มกันเพื่อตรวจสอบรัฐบาลจะต้องจับตามองอะไรเป็นพิเศษ รศ.ดร.ไชยันต์กล่าวว่าเหมือนกับช่วงที่ผ่านมาที่มีการตรวจสอบโครงการต่างๆ การใช้เงินในนโยบายประชานิยมว่าจะส่งผลต่อในอนาคตมากน้อยแค่ไหน ตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาที่จะแจกแท็บเลตพีซี (Tablet PC) เนื้อหาที่จะใส่ไปในนั้นเป็นอย่างไร แล้วประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ใช้ได้หรือใช้เป็น รวมทั้งครูด้วยจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และการโยกย้ายก็ต้องดูว่าอย่าให้ถึงขนาดเกิดความไม่เป็นธรรม ทำให้ขวัญกำลังใจของข้าราชการเสียหายไป
ที่สำคัญ ใน 6 เดือนแรกก็จะมีงานเฉลิมฉลอง 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องกับการเฉลิมฉลองในวโรกาส 80 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ 60 พรรษาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตอนนี้เห็นชัดแล้วว่าพรรคที่จะต้องเป็นแกนนำรัฐบาลในการจัดงานก็คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งตัวว่าที่นายกฯ ก็ได้พูดออกมาแล้วว่าจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ ก็น่าคิดว่าเกิดภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ไปผูกกับ นปช. สังคมก็จะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความจงรักภักดี ขณะเดียวกัน เขาก็จะใช้โอกาสนี้ในการที่จะสร้างภาพใหม่ก็เป็นได้
“แต่ขณะเดียวกัน เขาจะต้องตอบคำถามกับเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณแผ่นดินในเรื่องของการจัดงานเฉลิมฉลอง เพราะปีที่แล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในการจัดงานโดยสายพรรคภูมิใจไทย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเกิดปัญหาในช่วง 6 เดือนที่เหลือ ว่า ตกลงแล้วจุดยืนของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไรกันแน่ ระหว่างที่ว่าจะสร้างภาพลักษณ์ของความจงรักภักดี ขณะเดียวกันมวลชนเสื้อแดง นปช.จะยอมที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ คล้ายๆ กับว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ แล้วจะลงเอยอย่างไร เพราะฉะนั้นเป็นประเด็นสำคัญทีเดียวสำหรับว่าที่นายกฯ ว่าจุดยืนเป็นอย่างไรแน่ ระหว่างทำงานให้สอดคล้องกับแนวอุดมการณ์ของเสื้อแดงบางกลุ่ม หรือว่าจะยึดหลักแสดงความจงรักภักดีผ่านการจัดงานที่อลังการ” รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว
• คาดรัฐบาลปูอยู่ยาว เว้นเบรกแตก
เมื่อถามว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีอายุยาวนานแค่ไหน รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า ถ้าไม่มีการนิรโทษกรรม ไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งรัฐประหารคิดว่าคงมียาก แต่ว่าจะมีปัญหากรณี 91 ศพ เมื่อตัวเองมาเป็นรัฐบาลแล้วจะเดินหน้าตรงนี้อย่างไร ซึ่งคิดว่าไม่ได้ง่ายตรงไปตรงมาขนาดคนที่เป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ว่าฝ่ายทหารหรือรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งตนคิดว่าคงมีอะไรที่มากกว่านั้นซึ่งอาจเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยก็จะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าจะมีการปรับ ครม.บ่อยครั้ง เหมือนกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยทำ ซึ่งเป็นวิธีการตอบสนอง ตอบแทนแบบหมุนเวียนกันไปมา ซึ่งเห็นว่าอายุรัฐบาลยาวแน่ ขนาดนายอภิสิทธิ์ที่ว่าคะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แต่จับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังผ่านมาได้ 2 ปี ทั้งๆ ที่มีวิกฤติสำคัญหลายอย่าง
“ภายใต้ฐานเสียงของ ส.ส. 300 เสียงใน 500 คน คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ยกเว้นว่า คุณปู (น.ส.ยิ่งลักษณ์) จะเบรกแตกก่อน คำว่าเบรกแตกคือคุณรับสภาพไม่ได้ รับสภาพความเครียดทางการเมือง การตัดสินใจ การต่อรองทางการเมือง ซึ่งอันนี้ในทางธุรกิจ คุณยิ่งลักษณ์มาทำงานตรงนั้นทุกอย่างมันจัดสรรไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ทางการเมืองคนเป็นนายกฯ อย่างไรก็ตามจะต้องมีความสามารถในการเจรจา ต่อรอง มีความเข้มแข็งในบางจุดที่ตัวเองตัดสินใจว่าจะจะแข็งเมื่อไหร่ หรือว่าจะโอนอ่อนผ่อนตามเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณปูไม่เบรกแตกเสียก่อนเรียนรู้แล้วก็ปรับตัวได้เร็วก็คงจะอยู่เป็นนายกฯ ไปได้เรื่อยๆ คำว่ารัฐบาลอยู่แต่ตัวนายกฯ อยู่ยาวหรือไม่ ไม่รู้” รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวทิ้งท้าย