เลือกตั้ง 54 ชี้ชะตาประเทศไทย ผลเลือกตั้งออกมาแล้ว พรรคเพื่อไทยเข้าวินตามความคาดหมาย พูดได้ว่า ทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น
ทำเอาบรรยากาศในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค.ที่พรรคเพื่อไทยชื่นมื่น โห่ร้องกันน้ำตาเล็ดด้วยความตื้นตันใจ สะใจในชัยชนะที่เฝ้ารอคอยมานาน ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ บรรยากาศเหงาหงอยเศร้าสร้อย ได้แต่ทำใจยอมรับสภาพกันไป
ขุนพลประชาธิปัตย์ถึงเวลากลับไปเป็นฝ่ายค้านแบบหนาวๆ ร้อนๆ ไม่รู้ว่าจะโดนเช็คบิลคืนเมื่อไร มากน้อยแค่ไหน ส่วนขุนพลพรรคเพื่อไทย ดีใจจนเนื้อเต้น วาดฝันถึงอนาคตที่เรืองรอง หลายคนนั่งนึกเก้าอี้รัฐมนตรีไว้รองก้นกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยได้คาดการณ์ประเมินตัวเลขเก้าอี้ ส.ส.ไว้คร่าวๆ ก่อนแล้ว พร้อมทั้งเตรียมเดินเกมประสานพรรคร่วมรัฐบาลไว้หลายสูตร ตามสมการตัวเลขเก้าอี้ ส.ส.ที่จะได้มา...
หากได้ส.ส.เยอะแยะมากมาย ก็ลุยตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไปก่อน โดยไม่ต้องไปสนใจง้องอนพรรคการเมืองไหน พรรคเล็ก พรรคน้อยเสียอีกที่จะต้องเป็นฝ่ายเข้ามาง้องอนขอร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งระหว่างทางหากดีลกันสำเร็จ เงื่อนไขไม่เยอะก็ประกาศร่วมรัฐบาลไปเลย แต่ถ้าพรรคไหนเงื่อนไขเยอะ ต่อรองมาก ก็เอาไว้ก่อน จนกว่าจะลดเงื่อนไขสุดโต่งแล้วค่อยมาว่ากัน
หากได้เสียงเกินครึ่งไม่มากก็ติดต่อประสานงานพรรคร่วมไว้จัดตั้งรัฐบาลเลย เพื่อรับประกันความชัวร์ แต่ถ้าได้ไม่ถึงครึ่งนับเป็นงานหนัก ต้องดีลพรรคร่วมรัฐบาลแบบช็อตต่อช็อต นาทีต่อนาที ต้องหาทางจับพรรคร่วมไว้ก่อนอย่างรวดเร็ว อย่างน้อย ก็ต้องเอามารวมไว้สักพรรค 2 พรรคก่อน ให้ตัวเลขฝ่ายตัวเองเกินครึ่ง ป้องกันคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ปาดหน้ารวมเสียงตั้งรัฐบาลแข่ง
แต่เมื่อคะแนนในช่วงค่ำวันเลือกตั้งออกมาเพื่อไทยได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่ง แน่นอนว่าสถานการณ์นี้พรรคเพื่อไทย ก็ยังกุมแต้มต่อไว้สูง แต่พรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นรัฐบาลพรรคเดียวแน่ เพราะชั่วโมงนี้ต้องใช้ทฤษฎี “สร้างมิตรดีกว่าสร้างศัตรู” มีพวกมากไว้ก่อนสบายใจกว่า
ความจริงพรรคอันดับหนึ่ง ที่จะหยิบฉวยมาร่วมรัฐบาลเล็งไว้แล้วว่าเป็น “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” ของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เพราะเป็นพรรคที่ไม่มีเงื่อนไขต่อรองมาก ในขณะที่พรรคอื่นๆ เริ่มยื่นเงื่อนไข ขอกระทรวงนั้น กระทรวงนี้ ล่วงหน้าไปบ้างแล้ว เช่น
พรรค “ชาติไทยพัฒนา” ของ นายบรรหาร ศิลปอาชา นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขเหล้าพ่วงเบียร์ก่อนหน้านี้ ที่ทะลึ่งไปจับมือกับ พรรคภูมิใจไทย จะไปไหนไปด้วยกัน เป็นเงื่อนไขติดพันอีก พรรคเพื่อไทยไม่อยากไปข้องแวะด้วย ต้องให้ไปเคลียร์กันเองให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาคุยกัน สำหรับพรรคเล็ก พรรคน้อย ต่ำสิบ เป็นพวกตัวเสริมไว้ท้ายสุดเลย
แต่ตัวเลขทั้งหมดออกมาแบบสุดช็อคแบบนี้ พรรคชาติไทยพัฒนา กลายเป็นพรรคจุ๋มจิ๋มเหลือราว 20 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เหลือเพียงกะจ้อยร่อยไม่ถึง 15 เก้าอี้ แม้แต่ภูมิใจไทย ก็ได้เพียง 30 กว่าที่นั่ง พรรคทั้งหลายทั้งปวงแทบไม่มีสิทธิต่อรองกับพรรคเพื่อไทย หากต้องการเกาะขบวนร่วมเป็นรัฐบาล เพราะถ้าว่ากันจริงๆแล้ว พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องง้อใครเลย แต่นช. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคตัวจริง รวมทั้ง “ยิ่งลักษณ์” ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า จะต้องมีพรรคร่วม
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทย ได้หาเสียง ขายฝัน ขายนโยบาย ไว้ล็อตใหญ่ หลายเรื่องจำเป็นต้องมีกลไกขับเคลื่อนอยู่ในมือ เช่น โครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงฉะนั้นกระทรวงคมนาคม ยากที่จะปล่อยให้พรรคอื่นดูแล เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ไปขายฝันเรื่องการทำโครงการ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศแล้ว ถ้ายกกระทรวงนี้ให้พรรคอื่น ย่อมทำนโยบายได้ไม่ถนัดมือ
แม้ก่อนหน้านี้ จะมีข่าวว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ขอจองกระทรวงนี้ แต่เมื่อตัวเลขเก้าอี้ ส.ส.ออกมาขนาดนี้แล้ว พรรคชาติไทยพัฒนา จะเอาอะไรไปต่อรองได้
กระทรวงมหาดไทยยิ่งแล้วใหญ่ พรรคเพื่อไทย ไม่ปล่อยให้ใครแน่นอน จะต้องเข้ามาสะสางระบบข้าราชการ ล้างบางขุมข่ายอำนาจเก่าที่พรรคภูมิใจไทย โดย เนวิน ชิดชอบ วางกำลังไว้อื้อซ่า ในขณะที่กระทรวงเศรษฐกิจทั้ง คลัง ทั้งพาณิชย์ ปล่อยไปให้ใครอื่นไม่ได้ เพราะร่างนโยบายไว้ชุดใหญ่
สำหรับตำแหน่งที่น่าจับตามองคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจมอบตำแหน่งนี้ให้กับผู้ใด ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีคนเก่า เป็นต่อเนื่องไป เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับทหาร เพราะ“ประวิตร” เข้าได้ทั้ง 2 ทาง ทั้ง ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และ ทักษิณ ที่เรียกว่าซี้กันมาเก่าก่อน ถ้าออกหน้านี้ ก็นับว่าวิน วิน
แต่ถ้าเพื่อไทยหักด้ามพร้าด้วยเข่า ตั้งคนอื่นเป็นรัฐมนตรีว่าการกลาโหม แล้วทำให้ “ประยุทธ์” ต้องขัดเคือง ก็อาจเจอขู่คำราม ยึดอำนาจซ้ำอดีตก็ได้ ผบ.ทบ.คนนี้ยิ่งเฮี้ยวๆ ห่ามๆ อยู่ด้วย ก่อนหน้านี้ก็แสดงตัวตนชัดเจนมาแล้วว่า อยู่ตรงข้ามกับเพื่อไทย ถ้าคิดไปเตะโด่งพ้นเก้าอี้ ก็เสี่ยงเหมือนกัน เพราะยุคนี้มันยุค ผบ.ทบ.ใหญ่กว่านายกฯ
ทั้งนี้ ก่อนจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อันดับแรกต้องได้ตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้หารือเบื้องต้นวางตัวประธานสภาไว้เป็น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้ซึ่งเคยทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผลงานที่ผ่านมาทำงานได้ดี คุมเกมอยู่หมัด ซัดพลพรรค ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หงายเงิบไปตามๆ กัน ทำให้รัฐบาลชุดที่แล้วเสียรังวัดสภาล่มซ้ำซาก เสียหน้าไปหลายรอบ
ส่วนอีกคนหนึ่งคือ นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งรายหลังเจ้าตัวแสดงความจำนง อยากนั่งตำแหน่งประธานสภาเต็มที่ แต่บางคนในพรรคออกปากว่า หน่วยก้านยังไม่น่าจะถึงชั้น ประธานสภา
อย่างไรก็ตาม วันนี้พรรคเพื่อไทย ได้จัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างชัดเจนแล้ว งานยากหลังจากนี้คือ การบริหารประเทศ บริหารความขัดแย้ง บริหารความสัมพันธ์กับมือที่มองไม่เห็น กับฝ่ายศัตรูทางการเมืองอย่างไร ทุกก้าวย่างต้องเดินอยู่ในภาวะอันตรายยิ่ง เพราะในอดีตมีบทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้ว
การเย่อหยิ่ง จองหอง ไม่ฟังเสียงใคร บริหารเหมือนเป็นเจ้าของประเทศ แต่เพียงผู้เดียวตามสไตล์ พ.ต.ท.ทักษิณ มันเคยเป็นหนังตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าจุดจบเป็นอย่างไร