xs
xsm
sm
md
lg

“โหวตโน 26 เขต” เปลี่ยนประเทศไทย ต้าน “ระบอบแม้ว” ไม่ต้องพึ่ง “อภิสิทธิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะถึงเวลาลงคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 กันแล้ว และจะได้เห็นหน้าค่าตาของอนาคตของประเทศไทยกันเสียที

ทุกพรรคการเมืองทุ่มสรรพกำลังและงัดกลยุทธ์มาต่อกรกันจนครบทุกกระบวนท่าแล้ว บรรดาพรรคการเมืองก็คงได้แต่นั่งลุ้นจนตัวโก่งว่า “กระแส” และ “กระสุน” ที่กระหน่ำลงไปนั้นจะเข้าเป้าตามแผนที่วางไว้หรือไม่

แต่อย่างน้อยวันนี้เราก็ได้เห็นทิศทางความเป็นไปของผลการเลือกตั้งจากโพลล์สำนักต่างๆ ซึ่งของทุกสำนักชี้ตรงกันว่างวดนี้ “พรรคเพื่อไทย” จะรับชัยชนะเหนือ “พรรคประชาธิปัตย์” อย่างท่วมท้น

หมายความว่า “ระบอบทักษิณ” จะได้โอกาสกลับมาผงาดอีกหน ภายใต้การนำของ ปูแดง-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เบอร์ 1 ปาร์ตี้ลิสต์ของค่ายเพื่อไทย ที่จ่อขึ้นนั่งเป็นนายกฯหญิงคนแรกของประเทศ และเชื่อว่าจะประเดิมเปิดหัวรัฐบาลโดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาหลบหนีคดี พี่ชายของตัวเอง อย่างไม่ต้องสงสัย

เป็นการทำลายระบบนิติรัฐ-นิติธรรมอย่างย่อยยับ นำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้ารอบใหม่ที่ส่อเค้าความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา โดยมองไม่เห็นทางที่การเมืองในระบบจะสามารถหยุดยั้งได้เลย

ดังนั้นเป้าหมาย “26 เขตเลือกตั้ง” ที่ภาคประชาชนโดย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วางไว้ในการใช้ “พลังโหวตโน” ต้านทาน “ระบอบทักษิณ” จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

เพราะได้มีนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาการันตีว่า การกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ “โหวตโน” นั้น มีผลทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีบทความ ผลทางนิตินัยของบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน (VOTE NO) โดย นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เผยแพร่ออกมา

การรณรงค์ให้ประชาชนรวมพลังกันโหวตโน เพื่อให้บัตรไม่ประสงค์จะลงคะแนนมากกว่าคะแนนของผู้สมัคร ซึ่งได้รับคะแนนมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้น ที่จะส่งผลให้การเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าวเป็น “โมฆะ” ทันที ตามบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.ในมาตรา 89

ประกอบกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 93 (7) บอกว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร และต้องดำเนินการให้มี ส.ส.ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน

หากทำได้ 26 เขตเลือกตั้งจริง แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะสร้างปรากฎการณ์ “แลนด์สไลด์” กวาด ส.ส.ได้เกินครึ่งอย่างที่โม้ไว้ ก็ไม่สามารถเข้าสู่อำนาจได้อยู่ดี เนื่องจากเปิดสภาฯไม่ได้ ลงมติเลือกนายกฯไม่ได้ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น

เป็นหนทางที่ดีกว่าการไปหวังลมๆ แล้งๆ การเมืองที่อยู่ในระบบที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับปชป.ขอให้คนเลือกคนของพรรคเข้ามาไม่น้อยกว่า 250 ที่นั่ง นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่ๆ

เนื่องเพราะถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่า เลือกพรรคไหนก็เสร็จพรรคเพื่อไทยอยู่ดี โดยเฉพาะ “ดาวร้ายในคราบพระรอง” ตลอดกาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เมื่อย้อนไปดูสถิตินับตั้งแต่ “ระบอบทักษิณ” เข้ามาสู่ระบบอย่างเต็มตัวครั้งแรก เมื่อปี 2544 ก็ถูก พรรคไทยรักไทย ในตอนนั้นบดขยี้คว้าชัยไปอย่างขาดลอย 248 ต่อ 123 ที่นั่ง จากจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ทั้งหมด 500 ที่นั่ง

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2548 สถานการณ์พรรคประชาธิปัตย์ย่ำแย่กว่าเดิม เมื่อปราชัยให้แก่พรรคไทยรักไทยอีกครั้งด้วยคะแนน 375 ต่อ 96 ที่นั่ง

หรือแม้แต่ในวันที่พันธมิตรฯ เทคะแนนเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้ง 23 ธ.ค.50 อย่างเต็มที่ จนทำให้พรรคการเมืองเก่าแก่มี ส.ส.มากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ “อภิสิทธิ์” ก็ยังไม่สามารถต้านทาน “ระบอบทักษิณ” ที่กลายสภาพมาเป็น “พรรคพลังประชาชน” นำโดย นายสมัคร สุนทรเวช ได้เลย และพ่ายแพ้ไปอย่างย่อยยับเช่นเคย 233 ต่อ 165 ที่นั่ง จากจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ทั้งหมด 480 ที่นั่ง

ดูจากสถิติเก่าๆ ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด หรือรูปแบบการเลือกตั้งไหน พรรคประชาธิปัตย์แพ้หมดรูป หมดหวังรับมือกับ “ระบอบทักษิณ” ประกอบกับความล้มเหลวในฐานะรัฐบาลตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ก็เป็นที่ประจักษ์ถึงความอ่อนแอของพรรคการเมืองเก่าแก่ ที่มีอำนาจอยู่ในมือแต่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองและปากท้องของประชาชนชาวไทยได้เลย

ซ้ำมิหนำยังปล่อยให้เกิดการขยายตัวของเครือข่ายคนเสื้อแดงที่นำมาสู่ขบวนการจาบจ้วงสถาบันอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ความหวังจึงเป็นภาระในมือของประชาชน ที่ต้องสร้างอำนาจต่อรอง และร่วมกันกากบาทในช่องล่างขวาสุด เพื่อให้คะแนนโหวตโนชนะบรรดานักเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย

“26 เขตเลือกตั้ง”

ฟังดูเหมือนเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ยาก เพราะต้องฝ่าทั้งฐานเสียงจัดตั้ง และอำนาจเงินที่ใช้ในการซื้อเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ แต่เมื่อส่องกล้องลงลึกดูแล้ว การตั้งเป้าหมายเอาชนะให้ได้ 26 จาก 375 เขตทั่วประเทศ ก็ถือว่ามีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน

ที่สำคัญเมื่อปรับระบบมาเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว โอกาสความเป็นไปได้ก็เพิ่มมากขึ้น จากที่ได้ย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งเมื่อปี 44 และปี 48 ที่ใช้ระบบเลือกตั้งเดียวกันนี้ ก็พบว่าบางเขตผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.นั้นได้คะแนนเพียง 2 หมื่นกว่าคะแนนเท่านั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.

การรณรงค์เพื่อให้ประชาชนร่วมกันลงคะแนนโหวตโนให้ได้ 3 หมื่นคะแนน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 1 แสนคนเศษในแต่ละเขต ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไป สถิติที่น่าสนใจจากการเลือกตั้งปี 50 ที่ทุกเขตเลือกตั้งใน กทม.มีคะแนนโหวตโนอย่างน้อย 1.3 หมื่นคะแนนในทุกเขต

โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารจากภาคประชาชนผ่านทาง เอเอสทีวีอย่างที่ เขต 16 บึงกุ่ม ที่ตั้งของสำนักสันติอโศก หรือพื้นที่ที่มีมีการแข่งขันกันสูง ทำให้แต่ละพรรคตัดแต้มกันเอง จนมีคะแนนสูสี และเปิดโอกาสให้โหวตโน “เข้าวิน” อย่างเขตในพื้นที่ชั้นในของ กทม. และอีกหลายเขตที่เหมือนว่าพรรคการเมืองส่งผู้สมัครแบบไม่ให้เกียรติประชาชน จนทำให้ประชาชนไม่มีทางเหลือ อาจจะต้องร่วมโหวตโนด้วย อาทิ

เขต 6 ดินแดง-พญาไท ระหว่าง ธนา ชีรวินิจ (ปชป.) กับ กวี ณ ลำปาง (พท.) ที่ต่างฝ่ายต่างมีคะแนนจัดตั้งที่คู่คีกันมาก เขต 9 จตุจักร ระหว่าง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี (ปชป.) กับ วิลาวัลย์ ธรรมชาติ (พท.) ซึ่งมีคะแนนห่างกันเพียงเล็กน้อย เขต 11 หลักสี่ ที่เป็นการตัดกันเองของ 3 พรรคการเมืองใหญ่ แต่ตัวผู้สมัครไม่โดนใจคนในพื้นที่ เขต 12 ดอนเมือง ที่ต่อสู้กันสูสีระหว่างคนเก่า เก่ง-การุณ โหสกุล ค่ายเพื่อไทย ชนกับ หนุ่มอี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ จากประชาธิปัตย์ เขต 29 ทวีวัฒนา-หนองแขม แสวง ฤกษ์จรัล (พท.) เจอกับ เอกณัฐ พร้อมพันธุ์ (ปชป.) ลูกเลี้ยงของ สุเทพ เทือกสุวรรณ ที่ถือว่าโนเนมอย่างมาก แล้วยังไม่ใช่คนพื้นที่อีกด้วย

ส่วนต่างจังหวัดก็ต้องเล็งไปที่หัวเมืองต่างๆ ซึ่งมีเครือข่ายพันธมิตรฯ ที่เข้มแข็ง อย่าง จ.ชลบุรี ที่คราวก่อนเล่นงานตระกูลคุณปลื้ม หงายตึงสูญพันธ์ ส่งพรรคประชาธิปัตย์กินรวบทั้งจังหวัดมาแล้ว คราวนี้เชื่อว่าจะเป็นฐานสำคัญของขบวนการโหวตโน อีกครั้ง หรือแม้แต่ ภูเก็ต โคราช สมุทรสงคราม ระยอง หรืออีกหลายจังหวัดในภาคใต้ เป็นต้น ส่วนที่อื่นๆ ก็จะมีลุ้นพื้นที่ในเขตอำเภอเมือง ที่มีแฟนคลับเอเอสทีวี หนาแน่น

อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ ในส่วนของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจที่มีมากว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอีกมากกว่า 10 ล้านทั่วประเทศ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนที่เป็น “พลังเงียบ” มายาวนาน น่าจะออกจากบ้านไปยังคูหาเลือกตั้ง และใช้สิทธิกันให้สูงมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งที่แล้วมา ซึ่งช่วงโค้งสุดท้ายจะเป็นช่วงที่ทุกพรรคออกแคมเปญเก็บคะแนนในส่วนนี้มาเติมเต็มให้กับพรรคต้นสังกัด เช่นเดียวกับรณรงค์โหวตโนที่จะเร่งจังหวะอย่างเข้มข้นในช่วงสุดท้ายด้วย

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงกลายเป็นการแข่งขันของ 3 ขั้วการเมือง เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-โหวตโน ไปโดยปริยาย

แต่โอกาสที่ประชาธิปัตย์ หรือโหวตโน จะชนะเพื่อไทยได้นั้น ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นเขา อย่างไรก็ตามระหว่างเป้าหมาย 250 ที่นั่งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่าขอเวลาอีก 4 ปีในการ “ถอนพิษทักษิณ” กับเป้าหมาย 26 เขตเลือกตั้ง ของพันธมิตรฯนั้น

เชื่อว่า “โหวตโน” มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่า เสียงโหวตโน ไม่ใช่เรื่องของความสะใจ แต่เป็นกระบวนการที่มีผลทางกฎหมาย และเป็นหนทางในการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่เป็น “ตัวถ่วง” ของประเทศ นำไปสู่การเมืองที่ดีกว่า และ 26 เขต ที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงนี้จะเป็นเป้าหมายที่วางไว้ หากคนไทยต้องการให้พลังโหวตโน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้เกิดการปฏิรูปแบบม้วนเดียวจบ

3 ก.ค.เข้าคูหา กาช่องล่างขวาสุด “โหวตโน”
กำลังโหลดความคิดเห็น