“นพเหล่” เกาะติดข่าว “สุวิทย์” หยามมีเพื่อนน้อยในเวทีโลก จึงล็อบบี้ให้เลื่อนพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารไม่สำเร็จ ติงการลาออกจากมรดกโลกทำให้ไทยเสียโอกาสขึ้นทะเบียนโบราณสถานอื่นๆ เป็นการปิ้งปลาประชดแมว
นายนพดล ปัทมะ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (Noppadon Pattama) เมื่อเวลา 08.11 น. ในหัวข้อ “สุวิทย์ ทำอะไรลงไปที่ปารีส” ระบุว่า
“เมื่อปีที่แล้ว 2553 สุวิทย์ (สุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าทีมเจรจามรดกโลก) คุยนักคุยหนาว่า เลื่อนวาระแผนบริหารและจัดการปราสาทพระวิหาร มาปี 54 ผมพูดในตอนนั้นว่า อยากให้ รัฐบาล ปชป.(พรรคประชาธิปัตย์) อยู่ถึงการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปีนี้ และเป็นไปตามคาด คุณสุวิทย์ไม่สามารถเลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหารพื้นที่รอบปราสาทออกไปได้อีก เพราะรัฐบาลนี้ไม่สามารถลอบบี้ประเทศอื่นที่เป็นกรรมการมรดกโลกให้ช่วยประเทศไทยได้ เพราะคุณมีเพื่อนน้อยในเวทีโลก”
“การลาออกจากภาคีมรดกโลกจะสร้างความเสียหายให้ประเทศไทยอย่างมาก เพราะเราจะไม่สามารถนำโบราณสถาน และอุทยานแห่งชาติไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ การลาออกเป็นการปิ้งปลาประชดแมว นอกจากนั้นเรายังสามารถปกป้องสิทธิในเขตแดนโดยวิธีอื่นๆ ได้มากกว่าการลาออกจากภาคีมรดกโลก”
ทั้งนี้ นายนพดลได้ติดตามข่าวจากเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อเวลาประมาณ 00.00 น. นายนพดลได้ร่วมเผยแพร่ข่าวนายสุวิทย์ประกาศถอนตัวจากมรดกโลก ผ่านเฟซบุ๊กของตนเอง ก่อนจะแสดงความเห็นต่อข่าวดังกล่าวในตอนเช้าวันนี้
อนึ่ง นายนพดล ปัทมะ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 เป็นผู้ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา พร้อมแผนที่แนบ ลงวันที่ 18 มิ.ย.51 ขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกที่จะมีการเสนอแถลงการณ์ต่อองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 2-10 ก.ค.51 จนถูกกลุ่มพันธมิตรฯ นำโดย นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กับพวกรวม 13 คนซึ่งเป็นนักวิชาการ ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน ร่วมกันยื่นฟ้องศาลปกครองว่าเป็นการกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าว ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น