xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละตัดตอนยาเสพติด สื่อนอกแฉญาติผู้ตาย ผวาแม้วรีเทิร์น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - แม้จะผ่านไปนานถึง 5 ปีแล้วก็ตาม ทว่าผลพวงของสงครามยาเสพติดในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยังอยู่ในความทรงจำของญาติผู้ตาย ซึ่งไม่อยากจะนึกถึงวันที่บุคคลผู้นี้กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง

“ผมอยากฆ่าพวกมันให้ตาย” สมพร พ่อค้าขายอาหาร กล่าวถึงอดีตนายกรัฐมนตรีและนายตำรวจที่เป็นต้นเหตุการตายของบุตรชาย

ประวิทย์ สัตวุธ วัย 21 ปี ถูกสังหารเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยศพถูกมัดไว้กับต้นไม้ในสวนสาธารณะของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าเป็นฝีมือของตำรวจเมืองกาฬสินธุ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่กวาดล้างผู้ค้ายาเสพติดตามนโยบายของทักษิณ ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการล่วงละเมิดหรือสังหารบุคคลโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม

ทว่า ความโกรธแค้นของสมพรเป็นเพียงความเห็นของคนตัวเล็กๆ ในแดนอีสาน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทักษิณ ผู้หวังจะได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้งหากพรรคของเขาได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง วันที่ 3 กรกฎาคมนี้

ก่อนจะถูกรัฐประหารเมื่อปี 2006 ทักษิณ ชินวัตร ครองหัวใจประชาชนรากหญ้าด้วยนโยบายประชานิยม และการประกาศสงครามกับขบวนการค้ายาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าที่แพร่ระบาดอย่างหนัก

มาถึงวันนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเสมือนตัวแทนพี่ชาย และกำลังเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย

ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เธอจะ “ใช้นโยบายปรามปราบยาเสพติดโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน” ทว่าหลายฝ่ายยังเกรงว่าการฆ่าตัดตอนและล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจเกิดขึ้นอีก หากพรรคของเธอซึ่งมีทักษิณเป็นผู้นำตัวจริง ได้กลับมาเป็นรัฐบาล

รายงานจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเมื่อปี 2008 ระบุว่า สถิติฆาตกรรมของไทยพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 88 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ปี 2003 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลทักษิณปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างดุเดือด โดยมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น 2,873 คดี ในจำนวนนั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,370 คดี

เบนจามิน ซาวักกี นักวิจัยจากองค์การนิรโทษกรรมสากลประจำประเทศไทย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ “น่าหวาดหวั่น” เมื่อคิดว่าบุคคลที่อยู่เบื้องหลังสงครามยาเสพติด จะกลับคืนสู่การเมืองไทยเร็วๆ นี้

“เมื่อมีความเป็นไปได้ว่านักการเมืองหน้าเดิมๆ จะกลับมาอีก ก็เป็นไปได้เช่นกันว่า ในอนาคตอาจมีสงครามยาเสพติดรอบใหม่” ซาวักกี กล่าว

รัฐบาลไทยในเวลานั้นแถลงว่า ผู้ตายส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มค้ายาเสพติดที่สังหารกันเอง ทว่ากลับดูเหมือนเป็นการกระตุ้นให้ตำรวจวิสามัญฯ ผู้ต้องสงสัย โดยไม่ต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจใดๆ

องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า การสังหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากบุคคลซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีดำไปมอบตัว หรือชี้แจงสถานะของตนที่สถานีตำรวจ

ในกรณีของประวิทย์ สมพรผู้เป็นพ่อเล่าว่า บุตรชายเคยถูกจับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2004 ด้วยข้อหาทะเลาะวิวาท และได้รับการประกันตัว ก่อนจะกลับไปรับโทรศัพท์มือถือคืนที่สถานีตำรวจในวันต่อมา

ประวิทย์ไม่ได้กลับมาพบหน้าพ่ออีกเลยหลังจากนั้น “หมอบอกว่า เขาตายเพราะขาดอากาศหายใจ วันต่อมาที่ผมไปเปิดโลงดู ก็เห็นที่ชายโครงเขามีรอยช้ำเหมือนถูกใครตี” สมพรเล่า

ประวิทย์เคยถูกจำคุกมาก่อนด้วยข้อหาครอบครองยาเสพติด แต่ได้รับการฟื้นฟูและรับรองว่าปลอดจากสารเสพติดแล้ว ก่อนที่จะถูกสังหารเพียง 1 เดือน

นักสิทธิมนุษยชนระบุว่า การตายลักษณะเดียวกับประวิทย์ทำให้เกิดคำถามว่า วิธีการรุนแรงที่ตำรวจใช้และการได้รับยกเว้นโทษนั้น ชอบธรรมแล้วหรือไม่

“กระบวนการปกปิดความจริงอย่างเป็นระบบโดยนายตำรวจระดับสูง ทำให้ตำรวจที่ละเมิดสิทธิประชาชนยังอยู่ในตำแหน่ง และข่มเหงพลเมืองได้ต่อไป” สุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศไทย กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น