“ปานเทพ” ชี้แผนเลื่อนบริหารจัดการในเวที คกก.มรดกโลก ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการละเมิดอธิปไตย แต่เป็นการตะแบงยื้อเวลาให้ รบ.ชุดต่อไป ย้ำให้ถอนตัวสถานเดียว “จำลอง” ชำแหละหากกัมพูชาผลักดันแผนบริหารจัดการสำเร็จ ไทยจะต้องเสียอธิปไตยทั้งดินแแดนและทะเลอีกมหาศาล ด้าน “ประพันธ์” สำทับซ้ำ รบ.ยื้อเวลา หวังผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ ปชช.รู้ทันเพราะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยไทย
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งมีรายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับประธานคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อขอเลื่อนแผนจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ ครั้งที่ 35 ที่ประเทศฝรั่งเศสว่า ทางเลือกที่กำลังจะมีขึ้นในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ให้มีแค่สองทางเลือก คือ เลื่อนแผนบริหารจัดการ และรับรองแผนบริหารจัดการมรดกโลกให้เป็นของกัมพูชา ทั้งสองประการนี้เป็นผลร้ายต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ ถ้ารับรองแผนบริหารจัดการของกัมพูชาก็เท่ากับว่ารับรองว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่ตกเป็นมรดกโลกของกัมพูชาด้วย ถือว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศไทยแล้ว อีกประการหนึ่งถ้าเลื่อนออกไปแสดงว่ากำลังส่งทอดอำนาจต่อให้กับรัฐบาลชุดหน้า ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการถอนตัวออกจากมรดกโลก กลับยื้อเวลาออกไปเพื่อให้พ้นรัฐบาลตัวเองจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบแค่นั้น แต่ปัญหากำลังจะบานปลายต่อรัฐบาลชุดหน้า เพราะเหมือนกับว่าเราไม่ปฏิเสธในอำนาจของคณะกรรมการมรดกโลกที่สามารถจะพิจารณาต่อไป
ดังนั้นจึงเห็นว่า วิธีการแก้ดังกล่าวถือเป็นการเลื่อนแผนบริหารจัดการที่ปราศจากความรับผิดชอบใดๆ และเป็นการโยนปัญหาให้ผ่านพ้นรัฐบาลตัวเองเท่านั้น และอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเพลี้ยงพล้ำต่อไปในอนาคตในรัฐบาลชุดหน้าด้วย ยิ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ยิ่งเท่ากับว่าเจตนาส่งมอบปัญหาเหล่านี้ให้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลชุดหน้า ประชาชนย่อมมีสิทธิ์ที่จะสงสัยว่า เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันหรือไม่ด้วยซ้ำไป ซึ่งการแก้ไขปัญหามรดกโลกก็คือ ต้องถอนตัวออกจากมรดกโลกโดยทันที แล้วใช้กำลังทหารและทุกมาตรการทางเศรษฐกิจ และทางมหาดไทยเข้าดำเนินการผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยให้หมด
ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่ามรดกโลกไม่ใช่มีแค่ซากก้อนหินปรักหักพังเท่านั้น แต่ต้องมีนักท่องเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวก แม้กระทั่งที่จอดรถ ที่รับรองแขก มีพิพิธภัณฑ์ถึงความเป็นมาของมรดกโลก แต่ยังไม่มี และเป็นข้อกำหนดของคณะกรรมการมรดกโลกว่าจะต้องมีแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบของสิ่งที่จะนำมาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์ กัมพูชาพยายามผลักดันแผนบริหารจัดการให้สำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของไทย
“เพราะฉะนั้น ทางเลือกอนุมัติแผนบริหารจัดการก็แสดงว่าปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ที่เราจะเสียพื้นที่หรือดินแดนเฉพาะ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,800 ไร่เท่านั้น แต่จะโยงไปถึงตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี จรดถึง จ.ตราด ซึ่งเราจะต้องเสียแผ่นดินไปอีก 1 ล้าน 8 แสนไร่ ตกจังหวัดละ 2 แสนไร่ แล้วจะต้องเสียทรัพยากรในทะเลอีก จะเห็นได้ว่ามันเป็นภัย เป็นอันตรายอย่างยิ่ง” พล.ต.จำลองกล่าว
ส่วน นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการปกป้องราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ประเด็นที่คณะกรรมการมรดกโลกยังคงวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกคราวนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการมรดกโลก และองค์การยูเนสโก กระทำผิดปฏิภาณหรือหลักการขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยชัดแจ้ง
ทั้งนี้ โดยแท้จริงแล้วคณะกรรมการมรดกโลกไม่ควรจะมีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติกว่าการพิจารณามรดกโลกทุกชิ้นในโลกนี้ เพราะในขณะที่กัมพูชาได้เพียงตัวปราสาท และไม่มีพื้นที่บริหารจัดการ ไม่มีแผ่นดินโดยรอบเป็นเขตอธิปไตยของตนเอง ยูเนสโก หรือคณะกรรมการมรดกโลก ไปยอมรับให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาโดยมีเงื่อนไข รับขึ้นทะเบียนไว้แล้วค่อยไปพิจารณาแผนบริหารจัดการภายหลัง ถือเป็นวิธีการลงมติที่ไม่ชอบ
“โดยทั่วไปแล้ว คุณจะต้องเสนอแผนบริหารจัดการมาเป็นที่รับรองทั้งหมดก่อน เขาถึงจะยอมรับขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้ แต่นี่ยังมีปัญหาอยู่ และมีข้อพิพาทอยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน แถมแผ่นดินที่จะเอามาเป็นแผนบริหารจัดการก็เป็นแผ่นดินของประเทศอื่น เป็นเขตอธิปไตยของประเทศอื่น ปัญหาว่าคณะกรรมการมรดกโลกไปยอมรับขึ้นทะเบียนให้กับกัมพูชาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วมันเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศและก่อปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง” นายประพันธ์กล่าว
โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยยังกล่าวอีกว่า ได้นำเรื่องนี้เข้าพบกับยูเนสโกแล้วชี้ให้เห็นว่า ต้องตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นมาเพิกถอนมติการประชุมตั้งแต่ครั้งที่ 31, 32 ที่ผ่านมาเป็นมติที่ไม่ชอบ ผิดต่อหลักการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทั้งสิ้น ถ้าหากคราวนี้มีการเลื่อนไปก็เป็นผลเสียหายต่อประเทศไทย เพราะว่าการคาเรื่องนี้เอาไว้ในลักษณะที่ประเทศไทยเสียหาย เพราะยังมีการผนวกแผนบริหารจัดการเข้าไป โดยพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมรัฐบาลไทยให้ยอมรับ หรือยอมสละสิทธิ หรือร่วมมือในการเข้าไปเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมบริหารจัดการในแผ่นดินโดยรอบร่วมกับกัมพูชา เท่ากับพยายามที่จะรอคอยเวลา โอกาส จังหวะที่จะให้ประเทศไทยยอมสละสิทธิของประเทศตัวเอง เสียดินแดนของประเทศตัวเอง ยอมไปผนวกแผนบริหารจัดการร่วมกับกัมพูชา
ทั้งนี้ ขณะนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ หวังเพียงว่าถ้าเลื่อนไปจะเป็นผลดีในทางการเมือง ในการเลือกตั้งของตัวเอง แต่ถ้าคณะกรรมการมรดกโลกลงมติรับรองขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วรับรองแผนบริหารจัดการที่กัมพูชาเสนอ อันเป็นแผนบริหารจัดการที่ผนวกดินแดนประเทศไทยเข้าไป ตนเชื่อว่ามีแนวโน้มสองประการ คือ รัฐบาลไทยยอมเสียแผ่นดินไทย แต่ประชาชนไม่ยอม หรือรัฐบาลอาจจะยอมเสียแผ่นดินไทยในส่วนนั้นไป แต่ประชาชนและทหารก็ไม่ยอม ก็จะเกิดสงคราม เพราะเมื่อใดที่กัมพูชาจะเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนั้น ทหารก็ต้องไม่ยอม ก็คงจะต้องมีการสู้รบ และเกิดสงครามแน่
นอกจากนี้ กัมพูชาอาจเหิมเกริมคิดว่าเมื่อคณะกรรมการมรดกโลกรับรองแผนบริหารจัดการจัดการตัวเองแล้ว ก็คงจะไปขอความช่วยเหลือทางกำลังจากประเทศอื่นๆ เพื่อมายึดครองแผ่นดินตรงนั้น อาจจะขอกำลังมาจากสหประชาชาติ หรือประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเรื่องจะไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นท่าทีของเราก็คือคัดค้าน ประณาม และท่าทีที่ถูกต้องที่สุดก็คือ คณะกรรมการผู้แทนมรดกโลกของไทย คือนายสุวิทย์ คุณกิตติ ต้องไปเสนอขอให้ลบชื่อและยกเลิกปราสาทพระวิหารจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่ใช่แค่ไปเลื่อน ซึ่งเป็นท่าทีที่จะรักษาดินแดน เอกราชและอธิปไตยของไทยไว้ และจะยุติปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา
“ถ้าประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น ยูเนสโก คณะกรรมการมรดกโลกไม่ไปหนุนหลังกัมพูชา ในสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองกระทำผิด และเป็นการเหยียบย่ำเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของคนไทย ถ้าไม่ไปหนุนหลัง ไปสนับสนุนกัมพูชา กัมพูชาก็ไม่เหิมเกริม กัมพูชาก็ไม่มีศักยภาพที่จะมาเปิดกำลังรบอะไรกับเรา เราเองก็ไม่ได้ไปรุกรานหรือรังแกเขา ขณะนี้เรายังยอมรับในเรื่องตัวปราสาทให้เป็นสิทธิของเขาอยู่ นับว่าเราเคารพคำพิพากษาของศาลโลกแล้ว แต่ถ้าจะมาลุกลามไปถึงแผ่นดินโดยรอบนั้น ประชาชนไทยคงไม่ยอม และเราก็คงจะต้องยกประเด็นเรื่องทวงสิทธิปราสาทพระวิหารตามข้อสงวนเพื่อมาต่อสู้ในโอกาสที่มีรัฐบาลที่พร้อมจะทำหน้าที่ปกป้องดินแดนต่อไป” นายประพันธ์กล่าว