โฆษก กอ.รมน.เผย ผบ.ทบ.งดให้สัมภาษณ์สื่อ 2 สัปดาห์ หลีกเลี่ยงถูกดึงไปเป็นประโยชน์กับพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่พร้อมออกทีวี ชี้แจงหากกองทัพถูกพาดพิง ลั่นใช้ ม.116 เล่นงานหมู่้บ้านแดงที่กระทำการเข้าข่ายกระทบความมั่นคง ส่วนสื่อสุดโต่ง จะรวบรวมข้อมูลส่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง ระบุ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง
พล.ต.ดิษฏพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กล่าวถึง กระแสวิพากษ์วิจารณ์ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ออกรายการโทรทัศน์ ว่า เป็นการออกมาแสดงจุดยืนของกองทัพต่อสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงการเลือกตั้ง รวมทั้งกระแสข่าวที่มักจะดึงกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง โดย ผบ.ทบ.ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่า กองทัพวางตัวเป็นกลาง ไม่อิงพรรคการเมืองใดพรรคการเมือง ซึ่ง ผบ.ทบ.เป็นห่วงเป็นอย่างมากก็คือเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะนี้มีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามสร้างประเด็นทำให้เกิด
ความเสียหายซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านยอมไม่ได้ เพราะกองทัพ มีหน้าที่ในการพิทักษ์ปกป้องสถาบัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความจงรักภักดี
“กองทัพ และ ผบ.ทบ.ยืนหยัด และยึดมั่นในเรื่องของความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหาษัตริย์ เพราะฉะนั้นหากพรรคการเมืองใดยึดถือและมีจุดยืนในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน โดยที่ไม่มีใครเข้าไปแตะในสิ่งที่กองทัพและทุกคนหวงแหน ก็อยากให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้นเข้ามาบริหารบ้านเมือง”
ส่วนที่ ผบ.ทบ.ระบุว่า จะออกทีวีชี้แจงอีกเป็นระยะๆ นั้น พล.ต.ดิษฐพร กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ผบ.ทบ.จะงดให้สัมภาษณ์รายวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างประเด็นโต้ตอบกันไปมา และป้องกันไม่ให้ ผบ.ทบ.ถูกดึงไปเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ถ้าหากมีข้อมูลหรือประเด็นที่สำคัญต้องชี้แจงก็จะออกทีวี
ผู้สื่อข่าวถามว่า กอ.รมน. มีแนวทางดำเนินการอย่างไรกับสื่อที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสุดโต่ง พล.ต.ดิษฐพร กล่าวว่า กอ.รมน. มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่โดยตรง เมื่อมีคนแจ้งมาว่า ทำไม กอ.รมน.จึงไม่ดำเนินการกับ วิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อบางสื่อที่นำเสนอข่าวแบบสุดโต่งต่อพรรคการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ทาง กอ.รมน.ก็ได้รวบรวบข้อมูลต่างๆ และพิจารณาว่ามีความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เราก็จะส่งข้อมูลไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และระหว่างนี้อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ก็จะเข้าข่ายกฎหมายเลือกตั้ง หากมีการใส่ร้ายป้ายสีทำอะไรให้เกิดความเอียงเอนพรรคการเมืองใด หรือพูดจาทำลายพรรคการเมืองใด ก็จะเข้าข่ายกฎหมายเลือกตั้ง และทางกฎหมายก็จะต้องไปดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม กอ.รมน.ไม่มีหน้าที่ที่จะไปทำอะไรใคร เพียงแต่ทำหน้าที่แจ้งให้องค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบไปดำเนินการ
สำหรับการจัดตั้งหมู่บ้านคนเสื้อแดง และยังมีการนำรูปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งให้เป็นผู้นำหมู่้บ้านถือว่าเป็นการกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่นั้น พล.ต.ดิษฏพร กล่าวว่า คิดว่าเรื่องนี้ต่อไปจะกระทบต่อความมั่นคง ถ้าหากมีการใส่ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกแบ่งหรือมีความรู้สึกตามที่เขาต้องการ ก็ต้องมีผลกระทบต่อความมั่นคงแน่นอน ซึ่งขณะนี้เราก็ติดตามอยู่ เพราะ กอ.รมน.ในแต่ละจังหวัด ที่มีหมู่บ้านเหล่านี้จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวขอหมู่บ้านเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และถ้ามีเงื่อนไขในลักษณะที่จะเข้ามาตรา 116 ของกฎหมายอาญา เจ้าหน้าที่คงต้องเข้าดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม เราได้ส่งเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ลงไปเพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ให้เขารับรู้ว่าสิ่งที่ถูกควรเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่ประชาชนไปคิดกันเอาเองในเรื่องความแบ่งแยกเป็นเรื่องสำคัญและต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่แบ่งแยกอยู่แล้ว ประชาชนคนไทยทุกคน คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ต้องดูแลให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่าหมู่บ้านคนเสื้อแดงมีจำนวนมากหรือไม่ พล.ต.ดิษฐพร กล่าวว่า ตามข่าวบอกว่ามีมาก แต่เรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน เพราะในบางหมู่บ้านมีไม่กี่หลังแต่เขาก็มาอ้างยกระดับแล้ว และคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ในแต่ละครอบครัว ทุกคนก็ไม่ได้คิดเหมือนกันว่าจะชอบพรรคไหนอย่างไร ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่เป็นการเหมารวม บางครั้งคนที่ไม่คิดอะไรเขาก็ไม่แสดงออก เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทั้งหมด จะไปบังคับให้ทุกบ้านคิดเหมือนกันหมดได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ ทุกคนมีสังคมจะแบ่งตัวเป็นเอกเทศอยู่ในกลุ่มพวกตัวเองไม่ได้ สวนที่มีข่าวว่า จ.อยุธยา มีหมู่บ้านคนเสื้อแดง 444 หลังนั้น ยังไม่ทราบข้อมูล แต่อย่างไรก็ตามจะให้หน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบ