xs
xsm
sm
md
lg

ชทพ.ผุดนโยบาย 100 บาท 100 วัน ปลดกับดักยากจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคชาติไทยพัฒนา (แฟ้มภาพ)
ทีมเศรษฐกิจชาติไทยพัฒนา เปิดตัวนโยบาย 100 บาท 100 วัน ปลดกับดักยากจน ให้สินเชื่อผู้มีรายได้น้อย แก้หนี้นอกระบบ ชี้ผู้ได้รับสิทธิ์ต้องฝากเงินติดต่อกันให้ครบ 100 วัน ยันไม่ก่อหนี้เอ็นพีแอลแน่

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และทีมเศรษฐกิจของพรรค ได้เปิดตัวนโยบาย "100บาท 100 วันปลดกับดักความยากจน" เพื่อเป็นสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อยและมีรายได้ไม่สม่ำเสมอและไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำให้คนทำอาชีพอิสระ ไม่มีสลิปเงินเดือน เช่น พนักงานเสิร์ฟ ช่างตัดผม แม่ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นต้น สามารถได้รับสินเชื่อจากธนาคารได้ถึง 1 แสนบาท โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า บุคคลที่จะเข้าร่วมเป็นผู้มีสิทธิกู้เงินได้จะต้องฝากเงิน 100 บาทติดต่อกันเป็นเวลา 100 วันในชื่อบัญชีที่มีการกำหนดเมื่อครบ100 วันจะได้รับสินเชื่อ1แสนบาท สำหรับวิธีการชำระเงินคืนด้วยการฝากวันละ 200 บาทเป็นเวลา 2 ปี หรือ ถ้าต้องการสินเชื่อ 5 หมื่นบาทก็ต้องฝากเงินวันละ 50 บาทติดต่อกัน 100 วัน จากนั้นจ่ายเงินคืนโดยการฝากวันละ 100 บาทอีก 2 ปี โดยบุคคลที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ต้องมีวินัยในการรักษาสัญญาที่จะชำระเงินอย่างสม่ำเสมอ

"ระหว่างคนที่ทำอาชีพอิสระคนที่มีรายได้น้อยกับมนุษย์เงินเดือน ถ้ากู้ยืมเงินจำนวนเท่ากัน คนที่มีรายได้น้อยจะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่ามนุษย์เงินเดือนถึง 200 เท่าเพราะต้องไปกู้เงินนอกระบบ แต่มนุษย์เงินเดือนจะสามารถกู้เงินผ่านระบบเครดิตของธนาคารที่คิดดอกเบี้ยในราคาที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งนโยบายนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยขั้นตอนการดำเนินการจะต้องมีการเปิดบัญชีตามที่มีการกำหนดและหลังจากฝากเงิน 50 วันเราจะส่งทีมไปตรวจสอบบุคคลผู้มีสิทธิขอกู้เงิน เช่น สถานที่ประกอบอาชีพ จากนั้นจะขยับสถานะขึ้นไปอีกขั้นโดยก่อนการอนุมัติสินเชื่อจะมีการสุ่มตรวจสอบรอบสองตามระบบปกติของธนาคาร เช่น การสอบถามบุคคลข้างเคียง และเมื่อครบ 100 วันจะได้รับสินเชื่อดังกล่าวทั้งนี้เงินที่จะมาทำโครงการนี้จะมาจากธนาคารของรัฐเป็นหลักก่อนและคิดว่าถ้าทำไปสักระยะธนาคารพาณิชย์อื่นๆจะเข้ามาแข่งขันอย่างแน่นอน" นายประดิษฐ์ กล่าว

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า การทำนโยบายนี้ย่อมมีคำถามตามว่าจะเป็นการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)หรือไม่ ตอบได้เลยว่าแน่นอนอาจจะมีคนไม่รักษาวินัยจนเกิดเอ็นพีเแอลบ้างซึ่งเป็นปกติสำหรับการปล่อยสินเชื่อ แต่คำถามสำคัญคือจะทิ้งคนส่วนใหญ่ให้ติดกับดักความจนอยู่แบบนี้อย่างนั้นหรือ อย่าลืมว่าเวลานี้บุคคลที่ใช้บัตรเครดิตและขอสินเชื่อบุคคลมีเอ็นพีแอลอยู่ประมาณ 15% แต่ก็ยังต้องปล่อยต่อไปถ้าไปหยุดชะงักจะมีปัญหาในระบบเศรษฐกิจ

"เราต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีการบุคคลเข้ามาเอาเปรียบมากเกินไป โครงการนี้ไม่ใช่การแจกเครดดิตฟรีให้กับประชาชนหรือคนไม่มีงานทำ แต่เป็นการสนับสนุนให้กับบุคคลที่มีความรับผิดชอบและมีวินัยทางเงินธนาคารแต่ขาดรายได้เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพ" นายประดิษฐ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น