xs
xsm
sm
md
lg

“เครดิตบูโร” หวั่นค่าครองชีพแพง กระทบความสามารถในการชำระหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เครดิตบูโร” เปิดข้อมูลเครดิตไตรมาส 1 หนี้เน่าสินเชื่อบุคคลกระฉูด 4.2 ล้านบัญชี จากลูกหนี้ 7.4 ล้านบัญชี ผลพวงผู้กู้ชักหน้าไม่ถึงหลัง พิษน้ำมัน-สินค้าแพง
หวั่นปัญหาค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด ฉุดความสามารถในการชำระหนี้ เตือนหากมีภาระหนี้ที่ต้องชำระในระดับร้อยละ 50-60 ของรายได้ต่อเดือน ต้องระวังการก่อหนี้สินใหม่



นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ 2554 เครดิตบูโรมีฐานลูกหนี้ 19 ล้านราย คิดเป็นจำนวนบัญชีสินเชื่อประมาณ 59 ล้านบัญชี โดยมีบัญชีเปิดใหม่ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน เงินกู้ส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์ประมาณ 1.6 ล้านบัญชี โดยเป็นบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด 500,000 บัญชี ส่วนยอดคงค้างเฉลี่ยต่อบัญชีในไตรมาสแรกของปีนี้ สินเชื่อบ้านมียอดคงค้างประมาณ 1.4 ล้านบาทต่อบัญชี สินเชื่อรถยนต์ 470,000 บาทต่อบัญชี สินเชื่อบัตรเครดิต ประมาณ 3,000 บาท และสินเชื่อส่วนบุคคล ประมาณ 170,000 บาทต่อบัญชี

โดยการขยายตัวของสินเชื่อไตรมาสแรกประมาณร้อยละ 13.4 สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 16.3 สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 31.8 เป็นบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวและสมาชิกนำส่งข้อมูล 21.5 ล้านบัญชี เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน 5.4 ล้านบัญชี

สิ่งที่เป็นห่วงในปี 2554 เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับขึ้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้อำนาจซื้อลดลง การขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และภัยธรรมชาติ รวมถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจทำให้การค้างชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเงินสุทธิจากรายได้-รายจ่ายมีแนวโน้มลดลง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงไปด้วย และหากมีภาระหนี้ที่ต้องชำระในระดับร้อยละ 50-60 ของรายได้ต่อเดือนต้องระวังการก่อหนี้สินใหม่

สำหรับแนวทางการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตด้วยการให้ 3 แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อ จะทำให้มีการแข่งขันในตลาดบัตรเครดิต แม้สถาบันการเงินของรัฐจะมียอดบัตรเครดิตร้อยละ 6.75 ของยอดหนี้คงค้างสินเชื่อประมาณ 1.52 แสนล้านบาท ผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ถือบัตรที่มีวินัยทางการเงินที่ดี โดยผู้ที่ไม่มียอดค้างชำระจะมีภาระน้อยลง แต่เจ้าของบัตรเดิมคงไม่ยอมเสียลูกค้าดีไปง่ายๆ อาจต้องยอมลดดอกเบี้ยแข่งกับแบงก์รัฐหรือมีโปรโมชั่นอื่นๆ เพิ่มเติม ยอมรับการติดดอกเบี้ยจากสินเชื่อแนวโน้มเริ่มยึดตามหลักสากลมากขึ้น หากมีความเสี่ยงมากจะเสียดอกเบี้ยแพงกว่าเพื่อแยกลูกค้าให้ชัดเจน เพราะจะสามารถลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น