xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์-บก.ลายจุด” ถกเดือด! โหวตโน หรือโหวตเยส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประพันธ์” โต้เดือด “บก.ลายจุด” กล่าวหาพันธมิตรฯ “โหวตโน” หวังรัฐประหาร ซัดคอยแต่มองคนอื่นเป็นต้นเหตุรัฐประหารแต่ไม่เคยมองพวกตัวเองเคลื่อนไหวสร้างความเสียหายอย่างไรซึ่งเป็นสาเหตุหลักมากกว่า ยันไม่ปรารถนาเอาพลังโหวตโนเรียกร้องอำนาจนอกระบบแน่นอน ด้าน “รศ.ยุทธพร” อ้างเฉยโหวตโนมากๆ นำไปสู่ผลเสียระยะยาว เพราะจะเหลือแต่ผู้แทนฯ ที่มาจากการซื้อเสียง-เครือข่ายหัวคะแนน-ซุ้มมือปืน-ผู้มีอิทธิพล เพราะรวบรวมเสียงได้มาก แถมบอกการแสวงหาการเมืองที่ดีที่สุดเป็นระบบโบราณที่เป็นไปไม่ได้ “ประพันธ์” ชี้ทุกวันนี้ก็ได้แต่นักการเมืองตามประเภทที่กล่าวมาอยู่แล้ว ถามแล้วเราจะยอมจำนนอยู่กับระบอบนี้ต่อไปหรือ

วานนี้ (9 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. ทางรายการ “คม ชัด ลึก”  ทางสถานีโทรทัศน์ช่องเนชั่นทีวี ดำเนินรายการโดย น.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์  มีนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย  รศ.ยุทธพร อิสรชัย ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมืองสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ร่วมพูดคุยในรายการ ถึงประเด็น “โหวตโน หรือโหวตเยส”

โดยผู้ดำเนินรายการได้กล่าวเปิดประเด็นให้ผู้ร่วมรายการได้พูดถึงความหมายของโหวตโน รศ.ยุทธพรกล่าวว่า ความหมายของการโหวตโนครั้งนี้กับการโหวตโนครั้งที่ผ่านๆ มาใกล้เคียงกันแต่ของพันธมิตรฯ ชัดเจนมากกว่าทุกครั้ง แต่กระแสแรงหรือเปล่าไม่มีใครตอบได้จนกว่าจะถึงวันที่ 3 กรกฎาคม

นายประพันธ์กล่าวว่า โหวตโนคือการเชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กาช่องไม่เลือกใคร เนื่องจากเราเห็นว่าการเมืองขณะนี้ทุกพรรค และนักการเมืองไม่ได้เป็นความหวังให้ประชาชน ประชาชนจึงไม่มีทางเลือก ถ้ามีประชาชนไปใช้สิทธิโหวตโนมากๆ จะทำให้นักการเมืองมาฟังเสียงประชาชน และนำไปสู่การถกเถียงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้

ด้าน นายสมบัติกล่าวถึงความหมายของคำว่าโหวตเยสว่า ไม่ได้มาเพื่อตรงกันข้ามกับการโหวตโน แต่เนื่องจากเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยไม่มีการเลือกตั้งไม่ได้ แม้ว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่ว่าไม่มีไม่ได้ แม้เราไม่พึงพอใจคุณภาพฝ่ายการเมือง แต่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น อย่าอยู่กับบ้านต้องไปคูหา แต่ต้องศึกษาก่อนว่านโยบายใดพอรับได้ ถ้ามีก็ไปโหวตให้เขา ถ้าเห็นว่าไม่มีใครยอมรับได้ ตนไม่เห็นต่างเรื่องกรณีโหวตโน  

แต่เห็นต่างกับพันธมิตรฯ ที่ว่า การเคลื่อนไหวเมื่อ 2 เมษายน 2549 หลังจากร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆ บอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง และโหวตโน ตอนนั้นตนก็โหวตโนด้วย แต่หลังจากนั้นเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่ไปดึงรูปแบบที่เลวร้ายกว่าเข้ามาแทนที่ ตนเห็นด้วยว่าระบอบการเมืองมีปัญหาการโหวตโนเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคล แต่เกรงว่าโหวตโนครั้งนี้อาจถูกนำไปใช้เป็นช่องทาง อาจไม่ได้เจตนาหรือเจตนาแฝงเร้น ทำให้การเมืองนอกระบบเข้ามาเหมือนตอน 19 กันยายน 2549  

มีข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่เห็นว่าคุณภาพทางการเมืองมีปัญหาอยู่ ที่จริงสังคมมีทางเลือกอื่น ก็คือทำพรรคการเมือง เสนอนักการเมืองของตนออกมาให้คนเห็นชอบ อย่างพันธมิตรฯก็ตั้งพรรคแล้ว ต้องเสนอตัวออกมา  เพื่อให้ออกมาเป็นรูปธรรม แต่การเสนอโหวตโนทำให้เกิดความหวาดระแวงว่ามี hidden agenda อะไรหรือเปล่า ซึ่งหลังจากโหวตโนจะได้คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในมือพันธมิตรฯ อาจจะนำไปไปสู่การต่อรอง หรือเปิดโอกาสให้มีกลไกอะไรที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง

โหวตเยสไม่ได้บอกว่าต้องเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง ทุกครั้งที่ตนรณรงค์ในนามโหวตเยส ตนจะไม่มีพรรค ตนมืออาชีพพอ มีจรรยาบบรรณพอ ขอให้อย่านอนหลับทับสิทธิ แต่ขอทับพันธมิตรฯ นิดหน่อย คือขอให้โหวตโนอย่างมีสติ โหวตโนไม่ว่า แต่อย่ากวักมือเรียกรถถัง

นายประพันธ์กล่าวว่า เราไม่ได้มีความขัดแย้งกัน เราก็ควรเคารพความคิดเห็นกันและกัน แต่ละคนมีอิสระดำเนินกิจการทางการเมือง เราก็เห็นด้วยว่าทุกคนควรออกไปใช้สิทธิ ที่นายสมบัติบอกว่าไปเลือกใคร พรรคใดก็ได้ แต่มุมมองของเรา เราเคยเลือกแบบนี้หลายครั้งแล้ว แต่นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาก็ไม่ฟังเสียงประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเสียงที่มอบให้ไม่ได้รับความเคารพ เลยทำให้ประชาชนนึกถึงอำนาจต่อรองของตัวเอง เริ่มคิดถึงสิทธิ และทางเลือกอื่น

“ที่นายสมบัติกังวลว่าโหวตโนเมื่อ 2 เมษายน 2549 นำไปสู่ระบอบการเมืองอันไม่พึงปรารถนา มันไม่ใช่ประเด็นโดยตรงที่นำไปสู่ตรงนั้น ผมเห็นต่างว่า โหวตโนตรงนั้นเป็นผลจากการเลือกตั้งคราวนั้นที่มันมีปัจจัยให้คนไม่ยอมรับ ซึ่งมีผลสะสมมาจากการชุมนุมที่ต่อเนื่องยาวนานมาแล้วต่างหาก แต่ที่มีระบอบอื่นเข้ามาไม่ใช่เพราะโหวตโน แต่มีอย่างอื่นที่เป็นปัญหาสะสมมา

ส่วนเรื่องที่กังวลว่า การโหวตโนจะดึงระบอบอื่นเข้ามา ยืนยันได้ว่าไม่มีความปรารถนาเอาเสียงประชาชนดึงระบอบอื่นเข้ามา  ถึงจะทำก็ทำไม่ได้  ใครเอาเสียงอย่างนี้ไปเรียกร้องระบอบอื่นมันก็ไม่มีความชอบธรรม ไม่ต้องห่วง แต่สร้างอำนาจต่อรองจริง เพราะเสียงประชาชนที่ไปโหวตโน คือเสียงที่ปฏิเสธระบบการเมือง ย่อมมีอำนาจต่อรองโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว”

นายสมบัติกล่าวโต้ว่า ตนคิดว่าเกี่ยว การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เลือกตั้ง 2 เมษายน ต่อเนื่องจนถึง 19 กันยายน เป็นความเชื่อมโยงกัน และสะสมเงื่อนไข ไม่ว่าจะโดยเจตนา สมรู้ร่วมคิดหรือไม่ แต่กองทัพได้ใช้โอกาสนี้เข้ามาสู่เหตุการณ์ 19 กันยายน ไม่มีปัญหาเรื่องการเห็นต่างและโต้เถียง แต่เมื่อไหร่ความเห็นต่างถูกยกระดับขึ้นและมีกลไกนอกระบบเข้ามาแทรกแซงนั้นเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ถ้านายประพันธ์บอกไม่มีแผนการเปิดทางให้อำนาจนอกระบบเข้ามา อาจต้องฝากต่อว่าถ้าอำนาจนอกระบบเข้ามาขอเงื่อนไข อันนี้ท่าทีพันธมิตรฯ จะเป็นอย่างไร  ที่นายประพันธ์ยังไม่ได้ตอบ คือ คุณภาพของพรรคการเมืองมีปัญหา เหตุไฉนพันธมิตรฯ มีถึง 2 พรรค ทำไมไม่เสนอนโยบาย ตัวบุคคล ที่มีคุณภาพตรงกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ เสนอเลย และพยายามต่อสู้ในเกมนี้ แต่โหวตโนทำให้ตีความว่าต้องการล้มทั้งระบบและนำไปสู่อะไรที่ซ่อนไว้เบื้องหลังหรือเปล่า

ตอนโหวตโน 2 เมษายน ตอนนั้นคาดไม่ถึงว่าจะนำไปสู่การรัฐประหาร ดังนั้นเมื่อเรามีบทเรียนแล้ว ตนเห็นว่าแม้ว่าจะเป็นสิทธิที่ประชาชนทำได้ แต่ขอทักนิดเดียวโหวตโนไม่เป็นไร แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นคนโหวตโนต้องช่วยกัน อย่างตนตอน 2 เมษายน โหวตโนแต่พอรัฐประหาร วันรุ่งขึ้นประท้วงเลย ไม่ได้บอกว่าโหวตโนไม่ได้ ดีกว่านอนหลับทับสิทธิ แต่ถ้ามีการเคลื่อนไหวของอำนาจนอกระบบต้องต่อต้านเท่านั้นเอง

รศ.ยุทธพรกล่าวว่า ไม่ว่าจะโหวตเยส หรือโหวตโน ทำได้ทั้งคู่แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานจิตใต้สำนึกที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่เพราะมีวาระซ่อนเร้น อันนี้คือจุดใหญ่ใจความ

รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้มีโหวตโน ถ้าดูการเลือกตั้งย้อนหลังกลับไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 บังคับใช้ มาถึงเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 การโหวตโน โหวตเยส เราจะเห็นผลแตกต่างได้ชัดเจน ทุกครั้งการโหวตโนมีอยู่ล้านกว่าเสียงเท่านั้นเอง ตัวเลขที่น่าสนใจ คือ เลือกตั้งเมื่อเมษายน 2549 จะต่างจากครั้งอื่นคือมีถึง 10 กว่าล้านเสียง ตนมองว่าเจตนาคนไปโหวตเป็นเรื่องใหญ่  ถ้าโหวตโน-โหวตเยสโดยมีเจตนาบริสุทธิ์จะไม่ใช่ปัญหาเลย แต่มีคนบางกลุ่มพยายามตีขลุมคือเอาโหวตโน กับโนโหวตมาผสมกัน ซึ่งโนโหวตคือการไม่ออกไปใช้สิทธิ ความหมายมันแยกได้เป็น  2 ประเด็น คือเขาอาจจะไม่ยอมรับในระบบการเมือง หรืออาจยอมรับแต่นิ่งเฉยก็ได้

ทีนี้พฤติกรรมการลงเสียงเลือกตั้ง มันยึดโยงกับวัฒนธรรมทางการเมืองด้วย บางคนอาจมีวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าไม่ได้สนใจว่าใครมาเป็นรัฐบาล ขอทำมาหากิน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธการเมือง หรือบางคนติดภารกิจไม่ไปใช้สิทธิก็เป็นได้ การที่จะเอาสองส่วนมาตีขลุมแล้วบอกว่า 2 ส่วนนี้รวมกันได้ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าคนที่ไม่ยอมรับระบบการเมือง มีเกือบครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องมีอำนาจนอกระบบมาล้างไพ่ ถ้าคิดอย่างนั้นเจตนาไม่บริสุทธิ์ละ

รศ.ยุทธพรกล่าวอีกว่า ต้องดูเสียง 3 กรกฎาคม ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะถ้าโหวตโนออกมาล้านกว่าเสียง ก็ไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งทุกครั้ง จะอนุมานว่านั้นคือคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับระบบการเมืองไม่ได้ ล้านกว่าเสียงเทียบกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดก็ตกอยู่ที่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกินนั้นหรอก  ก็เท่ากับครั้งอื่นๆเป็นปกติ แต่อย่างว่าถ้ามีการตีขลุมไปบวกกับส่วนโนโหวต มันจะเป็น 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ มันจะไปไม่ได้แล้ว เพราะการใช้สิทธิของประเทศไทยทุกครั้งใช้สิทธิ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ คนไม่ใช้สิทธิ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ มันค่อนข้างแน่อยู่แล้ว  

ที่สำคัญกว่านั้นเราต้องดูผลของความเป็นจริงด้วยว่าการไปโหวตโนครั้งนี้แล้วมันจะเป็นผลดีหรือผลเสีย กับการเมืองไทยมากกว่า ต้องคำนึงด้วยว่าจะโหวตโน หรือโหวตเยส

ผู้ดำเนินรายการกล่าวถามว่า มีอยู่ 2 ทาง ตนพยายามคิดแทนคนที่มองจาก 2 ด้าน การสงสัยสิ่งที่พันธมิตรฯเคลื่อนไหว เชื่อมโยงมาจากการที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้หรือเปล่า ว่าอยากให้การเมืองเว้นวรรค 3-5 ปี หลายคนสงสัยว่าแล้วระหว่างที่เว้นวรรค จะใช้วิธีไหน ก็พยายามโยงความหมายนั้น ว่าจะใช้อำนาจนอกระบบหรือเปล่า หรือคิดจากอีกทางหนึ่งว่ากล่าวหาเสียงเหล่านั้นเกินไปหน่อยหรือไม่

นายประพันธ์กล่าวว่า ตนขอพูดถึงประเด็นที่ว่าโหวตโนจะนำไปสู่การเมืองนอกระบบก่อน อันนั้นเป็นมุมมองของนายสมบัติ ก็มีสิทธิที่จะมอง แต่ตนมองว่าการโหวตโนไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดการรัฐประหาร ต้องยอมรับการบริหารประเทศของนายทักษิณเป็นต้นเหตุของรัฐประหาร แล้วการที่จะเอาเขากลับมา จะเป็นต้นเหตุของรัฐประหารไม่ใช่โหวตโน  

“ต้นเหตุคือ นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ประกาศจุดยืนมาตลอดว่าชนกับใคร ขัดแย้งกับอำนาจของระบอบประเทศไทยอย่างไร ขัดแย้งกับชนชั้นสูงอย่างไร แล้วถ้าได้อำนาจกลับมาจะทำอะไร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นเหตุปัจจัย แต่ไม่ยอมรับ พยายามไปมองว่าคนอื่นทำให้เกิด ทั้งๆ ที่คนอื่นอาจจะเป็น 1 ใน 100 ของเหตุผลที่ทำให้เกิด แม้กระทั้งเผาบ้านเผาเมืองก็เอาไปอ้างเกิดรัฐประหารปัจจัยคือการบริหารงานล้มเหลว โหวตโนมีมากี่ครั้งแล้ว ถ้าโหวตโนแล้วรัฐประหารคงรัฐประหารทุกครั้ง ถ้าว่าโหวตโนนำไปสู่รัฐประหาร โหวตเยสก็นำไปสู่รัฐประหารเช่นกันเพราะช่วยเสื้อแดง กลับมาก็ปะทะกับกลุ่มสังคมที่ไม่ยอมรับ ถึงบอกว่าต้องเคารพความคิดเห็นกัน” นายประพันธ์ กล่าว  

นายประพันธ์กล่าวต่ออีกว่า การที่จะไปเหมารวมว่าโหวตโนนำไปสู่การเมืองนอกระบบ มันไม่เป็นธรรมต่อประชาชน จะมองว่ามีวาระแอบแฝง ต่อให้ตะโกนจนคอแตกก็ไม่เกิด เพราะคนที่ทำไม่เกี่ยวกับคนที่เคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มไหน ถ้านำไปอ้างก็อ้างได้หมด ไม่ควรโทษประชาชนที่เคลื่อนไหว  ไม่อย่างนั้นประชาชนอย่าทำอะไรเพราะจะถูกนำไปเป็นข้ออ้าง

นายประพันธ์กล่าวว่า พิธีกรพยายามบอกว่านายสนธิพูดเรื่องให้เว้นวรรคแล้วโยงมาเรื่องโหวตโน  ตนก็มีสิทธิ์คิดว่าการเคลื่อนไหวของนายสมบัติและพวกเผาบ้านเผาเมืองทำให้เกิดการรัฐประหาร ตนก็คิดได้ แต่เราจะไม่มาเบลมกันแบบนี้ ต้องดูว่าสังคมมันปะทะกันอยู่ที่ไหน ทักษิณขัดแย้งกับโครงสร้างสังคมตรงไหน นั่นคือประเด็น  

ที่ถามว่าทำไมไม่ให้พรรคที่มีอยู่เสนอนโยบายลงแข่งขันเลือกตั้ง ณ สถานการณ์การเมืองอย่างนี้ ประชาชนกล่มหนึ่งเห็นว่าการส่งคนลงเลือกตั้งไม่ได้ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น  เราจึงสร้างพลังอำนาจด้วยการโหวตโน และเราไม่ได้ไปเหมารวมว่าคนไม่ไปเลือกตั้ง เป็นพวกเรา ได้เท่าไหร่ได้เท่านั้น จะได้รู้ว่ามีเท่าไหร่ แล้วพลังที่เกิดขึ้นนั้น จะไปเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียกร้องอะไรที่มันผิดกฎหมาย

นายสมบัติกล่าวว่า กรณีที่นายสนธิพูดอยากให้เว้นวรรคการเมือง แม้ว่าเป็นทัศนคติส่วนบุคคล แต่นายสนธิมีบทบาทสูงสุดในพันธมิตรฯ การพูดถึงเรื่องเว้นวรรค 3-5 ปี มันจินตนาการไปถึงว่าจะเป็นอื่นไปไม่ได้ว่าต้องมีรูปแบบพิสดารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง  และทำให้เสียงเลือกตั้งนั้นไม่มีความหมาย ตอนนี้พันธมิตรฯ ยังไม่สามารถกวักมือการรัฐประหารได้ หลังจากส่งสัญญาณไปก่อนหน้านี้แล้วไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการตอบรับ

นายประพันธ์กล่าวโต้ทันทีว่า “คุณพูดเหมือนพวกผมไปเรียกให้คนออกมาปฏิวัติ มันไม่ใช่ ผมก็เคารพความคิดเขานะ ความจริงพวกเขาสร้างเงื่อนไขให้ปฏิวัติ การเผาบ้านเผาเมืองก็ควรปฏิวัติแล้วด้วย ไม่ใช่มาใส่ร้ายกันหน้าจอแบบนี้ว่าสนธิวางแผนรัฐประหาร อย่ากล่าวหา”

นายสมบัติกล่าวต่อว่า ข้อกล่าวหาพันธมิตรฯ ว่าสมรู้ร่วมคิดกับรัฐประหารนั้นเป็นข้อหาใหญ่  แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนี่อีกเรื่องหนึ่ง นายประพันธ์อาจรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ แต่ตนคิดอย่างนั้น เรียนตามตรง  แต่รอบนี้จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่การเคลื่อนไหวของหลายๆส่วนที่ประกบกันเข้ามา โหวตโนก็ดี การเคลื่อไนไหวของผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก หรือ การเคลื่อนไหวของนายแก้วสรร-หมอตุลย์ การเคลื่อนไหวอย่างนี้มันจะเริ่มสะสมไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าไปล็อก พอการเมืองล็อกอีกครั้งหนึ่งตอนนี้แม้ไม่ไปเชิญ  เขาก็เหยียบเสียงโหวตโนเข้ามา

นายประพันธ์กล่าวว่า นายสมบัติพยายามมองว่าคนอื่นเป็นต้นเหตุของการรัฐประหารตลอด ควรหันไปมองพวกตัวเองบ้างว่าพวกตัวเองต่างหากที่ทำให้เกิดรัฐประหาร การเคลื่อนไหวของคนอื่นเป็นแค่น้ำจิ้ม กลายเป็นว่าตัวเองเคลื่อนไหวอะไรบ้างไม่พูดถึง

นายสมบัติกล่าวอีกว่า คราวนี้ส่วนตัวคิดว่าไม่ถึงขนาดเตรียมการสิ่งนี้กัน แต่ขอให้ระมัดระวังการโหวตโน ถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ใช้เสียงนี้ฉกฉวยโอกาส

นายประพันธ์กล่าวว่า แล้วทำไมโหวตโนต้องระวัง แล้วการเคลื่อนไหวพวกตัวเองไม่ต้องระวัง นี่เป็นการพยายามใส่ร้ายว่าคนโหวตโนไม่มีสติ

ด้าน รศ.ยุทธพรกล่าวถึงประเด็นคำถามที่ว่าการโหวตโนครั้งนี้จะมีผลต่อพรรคการเมืองหรือไม่ ว่าคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้โหวตโนจะไม่ส่งผลต่อพรรคการเมือง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีทุกพรรค คะแนนร้อยละ 20 ไม่ใช่สิ่งที่จะถูกนำเอามาพิจารณา แต่สิ่งที่จะมีผลถ้าโหวตโนมากๆ คือคะแนนเสียงจัดตั้งจะมีน้ำหนักขึ้นมาทันที เมื่อนั้นก็จะได้ผู้แทนฯที่มาจากการซื้อเสียง  มาจากเครือข่ายมวลชน จากหัวคะแนน เพราะระบบการเลือกตั้งไม่ได้เป็นหลักเหตุผล แต่เป็นเรื่องการรวบรวมเสียง ถ้าโหวตโนมากๆ เสียงเหล่านั้นมีน้ำหนักขึ้นมาทันที

“ทีนี้การโหวตโนเยอะๆ ส่งผลเสียต่อระบบการเมืองระยะยาวมากกว่า แม้ว่าวันนี้แสดงออกอย่างไร มันก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่าการแสดงออกทางสัญลักษณ์ แต่ความเป็นรูปธรรมระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ด้วย ไม่ใช่อุดมการณ์เพียงอย่างเดียว เชิงอุดมการณ์คือเราต้องแสวงหาการเมืองที่ดีที่สุด มันเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบโบราณ ถ้าโหวตโนมากๆ เราก็จะได้ผู้แทนที่มาจากการซื้อเสียงมากขึ้น มาจากเครือข่ายหัวคะแนน มาจากซุ้มมือปืน มาจากวงจรการอุปถัมภ์ คนเหล่านี้จะเข้ามาทันที เพราะพวกนี้ไม่สนใจเรื่องที่มาว่าจะสง่างามมากแค่ไหน สนเพียงว่ารวบรวมเสียงได้เท่าไหร่ ขณะคนที่ต้องการการเมืองในอุดมคติ ออกไปโหวตโนกัน ก็เหลือแต่เสียงที่กล่าวมา”  รศ.ยุทธพรกล่าว

ส่วนประเด็นที่ว่าจะนำไปสู่รัฐประหารหรือเปล่า ต้องรอดูตอนสุดท้าย ตอนล็อกสุดท้ายแบบที่นายสมบัติบอกว่าจะถูกเอามายึดโยงโหวตโนในรูปแบบไหน ถ้ายึดโยงโหวตโนซึ่งมันก็เป็นระดับปกติ ของทุกๆครั้งที่อยู่ประมาณล้านกว่าเสียง เราคงตอบไม่ได้หรอกว่าประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธการเมืองที่เป็นอยู่ แต่ถ้ามาโยงโนโหวตอันนี้เจตนาแอบแฝงแล้ว ต้องดูว่าจะเอามาตีขลุมหรือไม่

นายประพันธ์กล่าวว่า ตนเห็นแย้ง รศ.ยุทธพร ที่ยังให้เหตุผลเพียงพอว่าโหวตโนเป็นผลเสียระยะยาวอย่างไร  ไม่โหวตโนก็ได้นักการเมืองอย่างที่พูดอยู่แล้ว มันไม่ใช่ผลเสียระยะยาว เพราะมันเป็นกระบวนการเลือกตั้งของประเทศนี้ และระบอบการเมืองที่มันถูกคุมโดยเผด็จการของพรรค  อาจารย์ต้องเจาะลึกว่าทุกพรรคเป็นนายทุนที่มีกลุ่มผลประโยชน์ที่ไปคุมอยู่  ไม่มี ส.ส.คนไหนที่เป็นอิสระ ไม่มี ส.ส.ที่อยากทำดีได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค มันเป็นผลดีในระยะยาวต่างหาก เพราะประชาชนเริ่มปฏิเสธนักการเมืองเหล่านี้มากขึ้น

เราจะอยู่กับระบอบนี้ต่อไป หรือยอมจำนนหรือ  ถ้าไม่ยอมจำนนก็ต้องคิดเปลี่ยนแปลง เพราะเราเป็นมนุษย์ที่ไม่ยอมอยู่กับความล้าหลัง ความล้มเหลว เพราะฉะนั้นนักรัฐศาสตร์ต้องช่วยประชาชนคิดว่าจะหาทางออกให้ประเทศอย่างไรที่ดีกว่าระบอบที่เน่าเฟะแบบนี้

รศ.ยุทธพรกล่าวแย้งว่า ตนไม่ปฏิเสธว่าถึงไม่มีโหวตโนก็มีนักการเมืองไม่มีคุณภาพแบบนี้  แต่ต้องเสนอทางออกด้วยถึงจะเป็นเชิงสร้างสรรค์  ไม่เสนอมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมากับบ้านเมือง

นายประพันธ์กล่าวว่า ถ้าตนโหวตเยสต้องเสนอทางออกหรือไม่ ตนเสนออยู่แล้วว่าต้องมีการปฏิรูป แล้วสังคมฟังหรือไม่ แล้วมีอำนาจเปลี่ยนหรือไม่ มันจึงต้องมีพลังประชาชนมาร่วมกับตน ตนก็เสนอในส่วนของตนอยู่แล้ว แต่เวลานี้เป็นเวลาไปโหวต ไม่ใช่เวลามาเสนอทางออก ถ้าเสนอแล้วสังคมมาฟังตนพร้อมเสนอ เพราะแน่นอนในส่วนของการรณรงค์ก็เสนออยู่แล้ว ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร นี่คือทางออกที่เสนอ แต่จะปฏิเสธการเมืองระบอบนี้ต้องสร้างพลังการต่อรอง


กำลังโหลดความคิดเห็น