“วิชาญ” แจง กกต.หลังร้องทหารปราบยา จุ้นเลือกตั้ง ซัดทำเฉพาะฐานเสียงเพื่อไทย ทำลายบรรยากาศเลือกตั้ง เล็งยื่น กกต.สอบจดเลขบัตร ปชช.โอนเงินหลังเลือกตั้ง-“วัชระ” ยื่นบ้าง จี้ ทบทวนบัตรเลือกตั้ง 2 แบบ ไม่เหมือนกัน หวั่นทำชาวบ้านสับสน
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ผู้สมัครส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์การเลือกตั้งภาค กทม.ได้เดินทางมาให้ข้อมูลกับฝ่ายสืบสวนสอบสวน สำนักงาน กกต.กรณีที่ร้องเรียนขอให้ กกต.ตรวจสอบการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ในโครงการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลในคำสั่งที่ (ฉก.ปส.315) ที่อาจมีจุดประสงค์แอบแฝง โดยได้มอบหลักฐานเป็นภาพถ่ายพร้อมพยานบุคคลที่เป็นประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งขอให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการดังกล่าวกว่า 5 พันล้านด้วย
นายวิชาญ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการในโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการเฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายข่มขู่ และไม่เหมาะสมในบรรยากาศช่วงการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ตนขอถามกลับไปยัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ว่า หากต้องการปราบปรามยาเสพติด เหตุใดไม่ดำเนินการก่อนหน้านี้
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มิ.ย.ตนจะมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต.เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการกระทำที่อาจเป็นการทุจริตการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ ที่มีการจดเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ไปตรวจสอบ หากพบเป็นคนในเขตเลือกตั้งจะมีการโอนเงินจำนวน 100 บาท เป็นค่ามัดจำ โดยหลังเลือกตั้งจะมีการโอนเงินที่เหลือให้การกระทำดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับการให้โบนัสหรือแชร์ลูกโซ่
ด้าน นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เพื่อขอให้ทบทวนรูปแบบบัตรเลือกตั้ง ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่มีรูปแบบแตกต่างกัน โดย นายวัชระ กล่าวว่า ตนทราบจากผู้ใหญ่ในพรรคมาว่าบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนช่องและรายชื่อพรรค รวมถึงช่องลงคะแนนจำนวน 2 แถว แถวละ 20 ช่อง ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวนช่องหมายเลขจำนวน 4แถว แถวละ15 ช่อง โดยทางพรรคชาติไทยพัฒนาเกรงว่าอาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ทราบรายละเอียดดังกล่าว ตนขอตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่พิมพ์บัตรเลือกตั้งทั้งสองรูปแบบให้เหมือนกัน
“ผมยืนยันว่า การออกมาเรียกร้องเรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้งนั้น ไม่ได้มองว่าเป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบของพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง แต่ที่เรียกร้องเนื่องจากเกรงว่าประชาชนจะเกิดความสับสนได้ แต่หากกกต.ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบบัตรเลือกตั้งได้แล้วนั้น ก็ขอให้เร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงความแตกต่างของบัตร ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดบัตรเสียขึ้นได้” นายวัชระ กล่าว