ถึงวันนี้ นายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ยังไม่ออกมาปฏิเสธว่าการแถลงข่าวของ ม.ล.จันทรจุฑา ศิริโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือทีทีเอ ที่ระบุว่าเขาต่อรองขอตำแหน่งประธานทีทีเอให้ตัวเอง และขอตำแหน่งกรรมการทีทีเอ อีก 2 ตำแหน่งนั้น เป็นเรื่องไม่จริง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องร้ายแรงที่กระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์และความน่าเชือถือของ ก.ล.ต.อย่างรุนแรง
มีแต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ที่ออกแถลงการณ์ว่า ก.ล.ต.กำลังตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นของทีทีเอ และจะต้องให้ผู้ที่มีชื่อตามที่ถูกกล่าวอ้างชี้แจงเรื่องการถือหุ้น เนื่องจากหากมีการถือหุ้นหรือประกาศว่าจะเข้าถือหุ้นร้อยละ 25 ขึ้นไป และมีความตั้งใจกระทำการร่วมกันในอำนาจควบคุมกิจการของทีทีเอ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน บุคคลเหล่านั้นมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ต่อผู้ถือหุ้นทุกรายและมีหน้าที่รายงานการถือหุ้นตามมาตรา 247 และมาตรา 246 ตามลำดับ
ส่วน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า การตรวจสอบเรื่องนี้เป็นกระบวนการทำงานปกติของ ก.ล.ต. และแม้แต่ตัวเขาเองในฐานะเลขาธิการ ก.ล.ต.ก็เข้าไปแทรกแซงไม่ได้ ทั้งนี้ ก.ล.ต.มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน มีการตรวจสอบถ่วงดุล จึงขอยืนยันว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากพบการกระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์
สำหรับกรณีเกี่ยวกับการพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับกรณีของนายวิจิตรนั้น ก.ล.ต.จะพิจารณาดำเนินการต่อไป
การตรวจสอบข้อมูลในเรื่องการถือหุ้น การรายงานการถือหุ้น การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์นั้น เป็นเรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องตรวจสอบตามหน้าที่อยู่แล้ว
แต่การที่นายวิจิตรถูกพาดพิงว่า เป็นผู้เข้าไปเจรจาต่อรองขอตำแหน่งประธานทีทีเอด้วยตัวเองนั้น เป็นเรื่องจริยธรรมของผู้กำกับดูแลตลาดทุน ซึ่งจะต้องแยกประเด็นสอบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นการเฉพาะ อย่าเอาไปปะปนเป็นเรื่องเดียวกับการเทกโอเวอร์ทีทีเอ
ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ มีแต่เรื่องการกระทำที่เป็นความผิดของบริษัทและผู้บริหารบริษัทที่นำหลักทรัพย์ออกขายแก่นักลงทุน รวมทั้งโทษที่ต้องได้รับ ส่วนการกระทำของผู้กำกับดูแลตลาดทุนนั้น ไมได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อะไรทำได้-อะไรห้ามทำ เพราะเป็นเรื่องของจิตสำนึกที่บุคคลทั่วไปพึงมี ยิ่งเป็นถึงประธาน ก.ล.ต.ด้วยแล้ว ยิ่งต้องรู้ดีกว่าคนทั่วไปว่า ควร หรือไม่ควรทำอะไร ต้องรู้จักหักห้ามใจ ควบคุมตัวเองให้มากกว่าคนทั่วไป
การที่นายธีระชัยบอกว่า ก.ล.ต.จะพิจารณาดำเนินการต่อไปในกรณีของนายวิจิตรนั้น จึงต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร หาไม่แล้วจะถูกครหาได้ว่าช่วยกันปกปิดความผิด ช่วยกันพายเรือให้โจรนั่ง ผลเสียจะตกอยู่กับองค์กร คือ ก.ล.ต.เองที่จะถูกยกเป็นตัวอย่างของนักบวชที่ลืมล้างเท้าก่อนขึ้นธรรมมาสน์เทศน์ เที่ยวสั่งสอนคนอื่นๆ ว่าต้องทำตามกฎหมาย ยึดมั่นในจริยธรรม แต่หัวหน้าตัวเองกลับเอาตำแหน่งหน้าที่ไปข่มขู่หาผลประโยชน์จากผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล
หรือว่าจะปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป เพราะเหลือเวลาอีกเดือนเศษๆ นายวิจิตรก็จะพ้นจากตำแหน่งประธาน ก.ล.ต.ไปแล้ว
การดำเนินการในกรณีของนายวิจิตรนั้น จะต้องไม่ใช่ ก.ล.ต.เป็นผู้ดำเนินการ เพราะเป็นพวกเดียวกัน และเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจการบังคับบัญชาของนายวิจิตร จึงมีความเกรงอกเกรงใจ และการช่วยเหลือกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจเสนอให้คณะรัฐมนตรีปลดประธาน ก.ล.ต.ได้ แต่จะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนรับฟังได้ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน และจะต้องใช้เวลาพอสมควร ในสถานการณ์ที่รัฐมนตรีคลัง นยกรณ์ จาติกวณิช กำลังยุ่งอยุ่กับการหาเสียงเลือกตั้ง คงจะไม่สนใจ กว่าจะเลือกตั้งเสร็จ ตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตครีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิจิตรก็พ้นจากตำแหน่งประธาน ก.ล.ต.ไปแล้ว
จากนี้ไป การบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดทุนของประเทศไทย ก็จะต้องเพิ่มความเสี่ยงประเภทใหม่ขึ้นมา คือ ความเสี่ยงที่จะถูกประธาน ก.ล.ต.ข่มขู่ กรรโชก ฮุบเอาบริษัท และตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท