“กรณ์” ออกโรงจี้ “ก.ล.ต.-ตลท.” เร่งสอบ “วิจิตร” มีชื่อเอี่ยวกลุ่มฮุบหุ้น TTA ชี้ หากเป็นจริง ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะนั่งเก้าอี้สำคัญในตลาดทุน ส่งผลกระทบชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือขององค์กร ถือเป็นความผิดร้ายแรง ด้านตลาดหุ้นแจงยังไม่พบการปั่นราคา
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีผู้บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ออกมาระบุว่า นายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าไปเกี่ยวข้องกับข่าวการเทกโอเวอร์บริษัทนั้น ตนเองยังไม่เห็นข่าวอย่างเป็นทางการ โดยทราบเพียงแต่ที่บริษัทออกมาพูด
อย่างไรก็ดี หากประธาน ก.ล.ต.กระทำเช่นนั้นจริง ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งได้กำชับทั้งทาง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และดำเนินการอย่างเด็ดขาด พร้อมระบุว่า เรื่องนี้ถือว่ามีผลกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะบุคคลที่ว่ายังอยู่ในตำแหน่งประธาน ก.ล.ต.ซึ่งเท่าที่ทราบจะพ้นจากตำแหน่งวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 นี้
“เอาเป็นว่า ถ้าทำจริงก็ไม่เหมาะสม ผมฟันธงเลย ซึ่งผมได้กำชับทั้ง ก.ล.ต.และ ตลท.พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้มีระดับความสำคัญหลายระดับ ให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะหากเป็นความจริง ก็ถือว่ามีการกระทำที่ขัด พ.ร.บ.หลักทรัพย์หลายมาตรา อาทิ มาตรา 246 คือ รวบรวมหุ้นโดยไม่แจ้ง โดยเฉพาะการรวบรวมหุ้นจำนวนเกิน 25% โดยไม่ได้แจ้งให้ ตลท.และสาธารณชนทราบ และไม่ได้ดำเนินการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นส่วนที่เหลือจากผู้ถือหุ้นรายย่อย แม้แต่กระจายหุ้นโดยใช้นอมินีถือแทน ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ ดังนั้น เราจึงต้องถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากพบในภายหลังว่าผิดจริงก็ต้องดำนินการอย่างเด็ดขาดกับคนที่มีส่วนร่วม”
นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานกำกับตลาด ตลท.กล่าวว่า ตลท.ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น TTA ในช่วงที่ผ่านมาขณะที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับบริษัทออกมา แต่ยังไม่พบความผิดปกติ ขณะเดียวกัน การเปิดเผยข้อมูล TTA ก็ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
นายวิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า การพัฒนาของตลาดทุนไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย.2554 หรือช่วง 18 เดือน เทียบสิ้นปี 2552 พบว่ามีการพัฒนาขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มเป็น 8.9 ล้านล้านบาท หรือ 88% ของจีดีพี จาก 6 ล้านล้านบาท หรือ 65% ของจีดีพี สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้ง ตลท.มา 36 ปี
ด้านจำนวนบริษัทที่ระดมทุน เพิ่มเป็น 698 บริษัท จาก 677 บริษัท รวมทั้งบริษัทที่เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) และบริษัทที่ออกตราสารหนี้เพิ่ม ขณะที่มูลค่าการระดมทุนตลอดทั้งปีในปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท แต่ช่วง 18 เดือนของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย มีการระดมทุนแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท