คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.เป็นผู้กำกับดูแลตลาดทุนให้ทำงานด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม คุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุน
แต่เมื่อประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต.เล่นบทเป็นนายหน้า ตัวแทน พาพ่อมดการเงินหรืออาชญากรทางการเงินไปพบกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขอตำแหน่งประธานบริษัทนั้นให้กับตัวเอง และขอตำแหน่งกรรมการอีก 2 ตำแหน่ง โดยขู่ว่าหากไม่ได้ตามที่ต้องการจะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อลงคะแนนเสียงเปลี่ยนตัวกรรมการทั้งชุด เพราะพวกตนนั้นถือหุ้นบริษัทไว้ 30% แล้ว
มันจะต่างอะไรจากผู้กำกับโรงพักพาโจรไปพบกับเจ้าของร้านขายของชำในพื้นที่ ขอหุ้นลมและขอมีส่วนในการบริหารจัดการ โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้จะยึดร้าน และขณะนี้ได้พาลูกสมุนมาปิดหัวซอยท้ายซอยไว้แล้ว
กรณี นายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กับนายวีระ มานะคงตรีชีพ และนายบี เตชะอุบล นัดพบกับ ม.ล.จันทรจุฑา จันทรฑัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโทรีเซนไทย เอเยนซี่ หรือทีทีเอ บริษัทเดินเรือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยอ้างว่ากลุ่มของตนถือหุ้น ทีทีเอ 30% ขอให้ ม.ล.จันทรจุฑา ปลดนายอัศวิน คงศิริ ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และแต่งตั้งนายวิจิตรเป็นแทน พร้อมกับขอตำแหน่งกรรมการอีก 2 คน ประชาชนทั่วไปไม่ต้องมีความรู้เรื่องตลาดหุ้นที่ลึกซึ้งแต่อย่างใด ใช้เพียงสามัญสำนึกอย่างที่บุคคลทั่วไปพึงมี ก็เข้าใจได้ว่า นี่คือการข่มขู่กรรโชกทรัพย์เราดีๆ นี่เอง โดยมีประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต.เป็นหัวหน้าคณะ
คนเป็นถึงอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เป็นถึงประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำเช่นนี้สมควรไหม ไม่จำเป็นต้องไปเปิดดูกฎหมาย ก.ล.ต.ให้เสียเวลา แค่นึกถึงคำพูดสวยหรูที่คนในตลาดทุนชอบท่องกันวันละสามเวลา หลังอาหาร อย่างเช่น “ความโปรง่ใส” “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี”เด็กอมมือก็ตอบได้ว่าเป็นเรื่องที่นายวิจิตรทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นายวีระเคยเป็นประธานบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซิทก้า ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาปล่อยเงินกู้ 200 กว่าล้านบาท ให้บริษัทในเครือโดยไม่มีหลักประกัน แต่นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ผู้พิพากษาเสื้อแดงยกฟ้องมื่อปี 2547
นายบี เตชะอุบล เป็นลูกชายคนโตของนายสดาวุธ เตชะอุบล แห่งกลุ่มคันทรี่กรุ๊ป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ล้มแล้วรวยในวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่มีใครติดคุกเลยจากอาชญากรรมครั้งนั้น ยกเว้นนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ แห่งแบงก์บีบีซี กลุ่มคันทรีก็หวนคืนมาใหม่ และได้ขยายการลงทุนโดยเข้าไปซื้อกิจการบริษัทหลักทรัพ์ยแอดคินซัน โบรกเกอร์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์
ปี 2552 บล.แอดคินซันซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บล.คันทรี่ ขอลดหุ้น ลดทุนจดทะเบียน เพื่อล้างผลขาดทุน และนำเงินไปคืนผู้ถือหุ้นเดิม ดูเผินๆ ก็ไม่มีอะไรพิสดาร แต่ผู้ที่ติดตามกลโกงในตลาดทุนไทยชี้ว่า นี่คือการผ่องถ่ายเงินจำนวน 1,700 ล้านบาทออกไปจากบริษัท แต่เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต.ที่มีนายวิจิตรเป็นประธานคณะกรรมการ และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นเลขาธิการ
จุดมุ่งหมายในการข่มขู่เพื่อฮุบกิจการทีทีเอ หากดูจากประวัติความเป็นมาของนายวีระและนายบีแล้ว คนเหล่านี้เป็นนักการเงินที่ใช้ความรู้และเส้นสายในการเล่นแร่แปรธาตุ การเทกโอเวอร์ทีทีเอหากเป็นผลสำเร็จ ก็จะชำแหละกิจการเดินเรือของคนไทยแห่งนี้ เอาสินทรัพย์ออกขาย ฟันกำไรสูงๆ ในเวลาอันรวดเร็ว แล้วขายหุ้นทิ้ง เป็นการปล้นโดยใช้เครื่องมือทางการเงินเป็นอาวุธ โดยโจรใส่สูทที่มีเกียรติ มีชื่อเสียง โดยมี ประธาน ก.ล.ต.เป็นหัวหน้าแก๊ง
ทีทีเอมีสินทรัพย์มหาศาล นอกจากกองเรือสินค้าที่มีเรือ 40 ลำ เงินสดในมือ 5,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีเหมืองถ่านหินที่มีปริมาณสำรองถึง 100 ล้านตัน
นักการเงินประเมินว่าสินทรัพย์เหล่านี้ หากขายออกไปจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทโดยใช้เงินลงทุนไม่เกิน 7,000 ล้านบาท จากการกว้านซื้อหุ้นทีทีเอ 30% ไม่จำเป็นต้องมีเสียงข้างมาก เพราะหุ้นทีทีเอไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ชัดเจน กระจัดกระจายไปอยู่ในมือผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง และไม่มีเจ้าภาพดูแลความเคลื่อนไหวของหุ้น
แม้ว่า ม.ล.จันทรจุฑา ซึ่งเป็นคู่กรณีจะเป็นผู้ให้ข้อมูลฝ่ายเดียวโดยยังไม่มีข้อมูลจากอีกฝ่ายหนึ่งแต่การที่ ม.ล.จันทรจุฑาเปิดเผยตัวอย่างชัดเจน ให้รายละเอียดวัน เวลา สถานที่ในการพบปะ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยังเงียบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายวิจิตรซึ่งถูกกล่าวหา ในเรื่องร้ายแรงมากเป็นสิ่งที่น่าจะชี้ได้ว่าเราควรจะเชื่อใคร
การออกมาเปิดเผยเรื่องนี้กับสื่อ อาจจะเป็นกลยุทธ์ในการตอบโต้กับแก๊งโจรใส่สูทของ ม.ล.จันทรจุฑา แต่ก็เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ที่ทำให้ได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของวิญญูชนจอมปลอม ความจริงแล้ว พวกหอการค้า สภาล็อบบี้ยิสต์ทั้งหลายในภาคเอกชนที่ชอบชี้นิ้วไปที่นักการเมืองว่าโกงควรจะให้ความสนใจเรื่องนี้ และสนับสนุน ม.ล.จันทรจุฑาอย่างเปิดเผย เพราะวิธีการเช่นนี้แหละที่จะช่วยชำระล้างการคอร์รัปชัน ขจัดการใช้อำนาจฉ้อฉลได้ดีที่สุดดีกว่าที่จะชวนกันไปเล่นยี่เกลงสัตยาบันว่าจะไม่จ่ายใต้โต๊ะให้นักการเมือง
หากย้อนกับไปดูพฤติกรรมในอดีตของนายวิจิตร จะไม่แปลกใจเลย และจะเชื่อว่าเขาเป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาจริงๆ
นายวิจิตรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน ก.ล.ต.เมื่อปี 2551 โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หลังจากเพิ่งพ้นตำแหน่งประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์หมาดๆ ในขณะนั้น นายวิจิตรเป็นประธานคณะกรรมการบริษัทจีสตีลซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องผิด เพราะ ก.ล.ต.ต้องกำกับดูแลการลงทุนในตลาดทุน แต่ประธาน ก.ล.ต.เป็นประธานกิจการที่ต้องอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.ด้วย
นายวิจิตรยังเป็นประธานจีสตีลอยู่จนทุกวันนี้ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ (อย่างเบาๆ และลับหลัง) แต่เขาก็ทำเป็นทองใม่รู้ร้อน นายวิจิตรจะพ้นจากตำแหน่งประธาน ก.ล.ต.ในเดือนกรกฎาคมนี้ การที่เขาไปเจรจาขอเป็นประธานทีทีเอ ก็อาจจะเป็นการหาที่ลงหลังจากพ้นจากประธาน ก.ล.ต.แล้วก็ได้
มนุษย์เรานั้นล้วนถูกครอบงำด้วย “กิน กาม เกียรติ” จะมากจะน้อยตามแต่กิเลสของแต่ละคนเบื้องหลังความเก่งกาจของโดมินิก สเตราส์ คาห์น คือความกระหายในกาม เบื้องหลังของนายวิจิตรคืออะไร?
นายวิจิตรเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2533 สมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ว่าคนก่อนหน้าคือนายชวลิต ธนะชานันท์ ซึ่งมีอายุในตำแหน่งเพียง 6 เดือน คนที่จะขึ้นรับตำแหน่งต่อหากเป็นคนในคือรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการเสนอชื่อนายเอกมล คีรีวัฒน์ เป็นรองผู้ว่าฯ
ระหว่างรอการทูลเกล้าฯ นายวิจิตรขอให้นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ยับยั้งกระบวนการทูลเกล้าฯ ไว้ก่อน เพื่อที่ตนจะได้ผลักดันการตีความกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยในตอนนั้นให้ออกมว่า รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประแทศไทย มีได้ 2 คน เพราะกฎหมายแบงก์ชาติซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนแรกเป็นผู้ร่าง ทรงร่างเป็นภาษาอังกฤษแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย ในภาษาอังกฤษตำแหน่งรองผู้ว่าฯ เป็นคำนามรูปเอกพจน์คือมีคนเดียว แต่นายวิจิตรประสบความสำเร็จในการผลักดันให้มีการตีความในภาษาไทยว่า มีได้มากกว่า 1 คน ซึ่งเป็นการขัดเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย
ปี 2533 จึงเป็นครั้งแรกใประวัติศาสตร์แบงก์ชาติ ที่มีรองผู้ว่าพร้อมกัน 2 คน และนายวิจิตรก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการชงของนายพันศักดิ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 ส่วนนายเอกกมลถูกเตะไปรับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.คนแรก แต่ยังถูกตามลางตามเช็ดจากนายวิจิตร มีการดักฟังโทรศัพท์ของนายเอกกมลและนำไปสู่การปลดนายเอกกมลจากตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.โดยยืมมือนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เมื่อปี 2538 และในวันเดียวกับที่นายเอกกมลโดนปลด จากเลขาธิการ ก.ล.ต. นายวิจิตรก็สั่งปลดนายเอกกมลจากตำแหน่งรองผู้ว่าด้วย ซึ่งจนถึงบัดนี้นายวิจิตรก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าปลดนายเอกกมลด้วยเรื่องอะไร ในขณะที่ข้อเท็จจริงตอนนั้นคือนายเอกกมลกำลังจะกลับแบงก์ชาติมาเป็นหอกข้างแคร่นายวิจิตรเพราะหมดวาระการยืมตัวไปแป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.
นายวิจิตร เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ 6 ปี เป็นยุคที่มืดมนที่สุดของแบงก์ชาติ เพราะผู้ว่าฯ มาด้วยการเมืองจึงต้องเล่นการเมืองด้วย นอกจากนั้น นายวิจิตรยังถูกกล่าวหาว่ารับหุ้นของบริษัทลูกของธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งและมีวงเงินเบิกเกินบัญชีกับแบงก์บีบีซีโดยไม่ต้องมีการค้ำประกัน ในสมัยที่เป็นผู้ว่าฯ ซึ่งต้องกำกับดูแลแบงก์พาณิชย์
การใช้อำนาจหน้าที่กำกับดูแลในการแสวงหาประโยชน์จากกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตนจึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนายวิจิตรเพราะเคยทำมาแล้ว
นายวิจิตรยังขอให้นายนิพัทธ พุกกะณะสุต เอาธนาคารออมสินไปซื้อหุ้นแบงก์บีบีซีซึ่งกำลังมีปัญหามูลค่า 500 กว่าล้านบาทโดยไม่ผ่านรัฐมนตรีคลัง เมื่อบีบีซีล้มละลายธนาคารออมสินจึงได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้นายนิพัทธถูกกระทรวงการคลังดำเนินคดีข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซี่งศาลแพ่งเห็นว่าผิดจริง ให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีนี้ยังอยุ่ในศาลอุทธรณ์
นายวิจิตรจำใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2539 หลังจากปัญหาแบงก์บีบีซี ที่แบงก์ชาติส่งคนเข้าไปควบคุมการดำเนินงานอยู่หลายปี ลุกลามเกินกว่าจะปกปิดความจริงไว้ได้ นายเริงชัย มะระกานนท์ ขึ้นเป็นผู้ว่าคนต่อไป และต้องมารับกรรมจากการโจมตีค่าเงินบาทของนักเก็งกำไรต่างชาติ ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่นายวิจิตรไม่ยอมปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งเป็นข้อเสนอของนักวิชาการของแบงก์ชาติเมื่อปี 2534
ในยุคทักษิณเป็นใหญ่ สายสัมพันธ์กับพันศักดิ์ทำให้นายวิจิตรได้กลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่ทักษิณส่งคนเข้ายึดกุมตำแหน่งสำคัญๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ตัวกรรมการผู้จัดการซึ่งปัจจุบันไปรับจ้างเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตรลงมา
เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์นายวิจิตรได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต.และมีบทบาทสำคัญร่วมกับนายนิพัทธในการวางคนที่จะเข้ายึดกุมตลาดเงิน และตลาดทุนของไทย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยชุดแรก ตามกฎหมายใหม่ ซึ่งขัดกฎหมาย เพราะคณะกรรมการสรรหาหลายคน รวมทั้งนายวิจิตรเอง เป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์ เป็นผลให้ การทูลเกล้าเสนอคณะกรรมการแบงก์ชาติชุดนั้น ไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา เพราะกระบวนการผิดกฎหมาย
นายนิพัทธเองซึ่งนอกจากจะถูกดำเนินคดีกรณีเอาแบงก์ออมสินไปซื้อหุ้นแบงก์บีบีแล้วยังมีมลทินจากการถูกให้ออกจากราชการข้อหารับสินบนกรณีประมูลที่ดินหมอชิตซึ่งต่อมารัฐบาลทักษิณลบล้างความผิดให้ แต่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหากรรมกาผู้ทรงคุณวุฒิของ ก.ล.ต.และเป็นผู้กำหนดให้นายวิจิตรเป็น ประธาน ก.ล.ต.
นายวิจิตรเป็นประธาน ก.ล.ต.แล้วก็แต่งตั้งให้นายนิพัทธเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นตัวแทนของ ก.ล.ต.เป็นการตอบแทน และเป็นไปตามแผนการยึดตลาดทุนของหุ่นเชิดทักษิณในปี 2551