xs
xsm
sm
md
lg

สมรภูมิเลือกตั้งเมืองหลวงยังไม่ผูกขาดแค่ “ปชป.-พท.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรุงเทพมหานครยามนี้ก็เหมือนกับทุกจังหวัดทั่วประเทศที่สองข้างสองฟากถนนรวมถึงตรอกซอกซอยเต็มไปด้วยป้ายหาเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่ได้มีแค่ป้ายสองพรรคการเมืองใหญ่ “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย”

ยังมีแซมแทรกด้วยป้ายหาเสียงของพรรคขนาดกลางและเล็ก เข้ามาเติมสีสันการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครให้ประชาชนมีทางเลือกมากกว่าแค่พรรคสวาปามกับพรรคเผาบ้านเผาเมือง

แม้หลายฝ่ายประเมินว่ายากที่พรรคจิ๋ว-เล็ก-กลางจะเข้ามาสอดแทรกเบียดเอาที่นั่ง ส.ส.เขตไปจาก ปชป.-พท.รวมถึงแม้แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ต่อให้ผลสำรวจของโพลหลายสำนักจะบอกตรงกันว่ายังมีประชาชนเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครพรรคการเมืองไหนหรือเทคะแนนปาร์ติ้ลิสต์ให้พรรคใด

อย่างไรก็ตาม พื้นที่กรุงเทพมหานครรู้ดีว่าเป็นสนามปราบเซียน ดูเลือกตั้งปี 50 ใครจะคิดว่าอดีต ส.ส.กทม.ไทยรักไทยจะสอบตกร่วงระนาวเกือบยี่สิบคน และพวกหน้าใหม่โนเนมประชาธิปัตย์ในกทม.จะแจ้งเกิดได้ เหตุเพราะคนกรุงเทพฯจำนวนมากจะตัดสินใจเอาในช่วงไม่กี่วันสุดท้ายก่อนลงคะแนนเสียง ผสมกับกระแสหลายอย่างจะเป็นตัวตัดสินชี้ขาดว่าชัยชนะจะเป็นของพรรคไหน

ดังนั้น ตอนนี้ก็ยังดูไม่ออกว่าสนาม กทม.ใครจะแพ้หรือชนะ ระหว่าง พท.กับ ปชป. และพรรคอื่นจะเข้ามาแย่งที่นั่งได้หรือไม่

เบื้องต้นประชาธิปัตย์ตั้งเป้า กทม.ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่งจาก 33 คนซึ่งถือว่าสูงมาก ขณะที่เพื่อไทยตั้งไว้พอประมาณคือต่ำสุดๆ 12 แต่สูงสุดอยู่ที่ 20 ทำให้การแข่งขันย่อมต้องเข้มข้นแน่นอน และไม่ผิดหากจะสรุปได้ว่า

สนาม กทม.คือจุดชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากประชาธิปัตย์ หรือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากเพื่อไทย

โดยเฉพาะหากประชาธิปัตย์ยึด กทม.ได้ระดับ 25 ที่นั่งก็จะไปเอาไปเติมส่วนที่หายไปจากอีสาน-เหนือ ก็ทำให้มีโอกาสจะชนะ-แพ้ห่างจากเพื่อไทยไม่เกิน 5 ที่นั่งอย่างที่อภิสิทธิ์วิเคราะห์เอาไว้

กระนั้น “ทีมข่าวการเมือง”เห็นว่า ไม่จำเป็นที่คนกรุงเทพมหานครจะมีทางเลือกแค่สองทาง ประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย

เพราะหากมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่า ตัวผู้สมัครดีกว่า พรรคแม้จะเล็กแต่แนวทางการเมืองชัดเจน จะไปทางซ้ายหรือทางขวา ดูแล้วชัด ไม่อึมครึม บอกมาเลยว่าไม่เอาแนวทางนิรโทษกรรม หรือจะขอเป็นตัวกลางสร้างความปรองดองโดยเสนอแนวคิดและวิธีการที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่บอกว่าจะปรองดอง แต่ไม่บอกว่าจะทำอย่างไร ปรองดองแบบไหน

หาเสียงแบบนึกว่าคนกรุงเทพมหานครยังไงก็ได้ ขอให้ขายแนวทางปรองดอง-สมานฉันท์แล้วก็จะเลือกทันทีเพราะเข็ดขยาดกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง พรรคไหนมาบอกว่าจะปรองดองทำให้ปัญหาขัดแย้งหมดไปก็หลับหูหลับตาเลือก แต่ไม่บอกว่าจะทำอย่างไร จะนิรโทษกรรมพวกเผาบ้านเผาเมือง-โจรก่อการร้าย หรือแค่สร้างคำโฆษณาหาเสียงสวยหรู แต่พอถามจะทำอย่างไร ทำแบบไหน ก็ตีกรรเชียงทำอ้อมแอ้มบอกขอให้เลือกตั้งเสร็จก่อนค่อยว่ากัน

ขอบอกก่อนว่า หากคิดจะหาเสียงแบบมักง่ายอย่างนี้ คนกรุงเทพมหานครไม่มีวันให้ถูกหลอก และคนกรุงเทพฯ ก็พร้อมเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นเสนอตัวเข้ามาเป็นทางเลือก ขอเพียงให้เป็นสินค้าดี มีคุณภาพ ทั้งตัวผู้สมัครและตัวพรรคก็เป็นพอ

วันนี้ทุกพรรคการเมือง จึงยังมีโอกาสในการเจาะที่นั่งสนามกรุงเทพมหานครได้ เพราะจะว่าไปผู้สมัคระบบเขตของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ บางคนก็สู้พรรคขนาดกลาง-เล็กไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

จากการตรวจสนามเลือกตั้งกทม.พบว่าพรรคที่เสนอตัวขอเข้ามาเป็นทางเลือกให้คนกรุงเทพมหานคร ที่แสดงท่าทีว่าเอาจริงหลักๆ ก็มี อาทิ

ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน -แม้จะเป็นพรรคที่ประกาศชัดว่าเป็น “พรรคโคราช” แต่สนามกรุงเทพมหานครก็ยังไม่ทิ้ง ยังคงหวังลึกๆ จะสอดแทรกได้บางเขตเลือกตั้ง บนการชูนโยบายสู้การเมืองแบบการกีฬาคือรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นอีกพรรคที่เสนอแนวทางสมานฉันท์ คือหวังจะหาเสียงกับคนกรุงเทพมหานคร ที่เบื่อหน่ายการเมืองแบบทะเลาะกันไม่มีวันเลิกรา ไม่มีวันจบเกมแบบจบการแข่งขันกันแล้วต่อให้สู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เมื่อจบแล้วใครแพ้-ชนะก็ยอมรับ และจับมือกัน

ซึ่งคอนเซ็ปต์ที่ใช้แม้จะโดนใจคน กทม.ไม่น้อย แต่ที่ไม่มีเสียงขานรับจากคนกรุงเทพฯ ก็คงเพราะคนกรุงเทพมหานครเห็นความจริงที่ว่า พรรครวมชาติพัฒนาของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ไม่ใช่พรรคหลักในการขับเคลื่อนนโยบายนี้

เพราะประชาชนมองว่าชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินไม่ใช่พรรคการเมืองที่จะเข้าไปมีส่วนสำคัญในการกำหนดกติกาการเมืองหลังเลือกตั้งเพื่อให้ความขัดแย้งหมดไปแบบรู้แพ้รู้ชนะ

พรรคที่จะเป็นตัวกำหนดว่าหลังเลือกตั้งปัญหาประเทศไทยทุกอย่างจะจบหรือไม่ คนกรุงเทพฯรู้ดีว่ามีแค่สองพรรคคือเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เท่านั้น พรรคอื่นๆ เป็นแค่ตัวประกอบในการวางอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้งเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การชูคำขวัญ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ของสุวัจน์ จึงไม่เปรี้ยงปร้าง โยนไปแล้ว คนกรุงเทพไม่ตื่นเต้น ทั้งที่ถือเป็นประเด็นการหาเสียงเลือกตั้งที่เข้าใจง่ายและคนเห็นด้วย แต่เมื่อพรรคสุวัจน์เล่นประเด็นนี้ คนไม่แน่ใจ ผลก็เลย แนวคิดดี แต่ขายไม่ออก

ขณะที่ตัวผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต พบว่าเปิดตัวมาแล้วไม่ติดตลาด ชื่อไม่อยู่ระดับตัวเต็ง กลายเป็น ไม้ประดับเสียมากกว่า ทั้งปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ที่จะลงในเขต 13 สายไหม

หรือเขต 11 หลักสี่-ดอนเมือง ที่ส่ง น.ส.เยาวภา บุรพลชัย อดีตนักเทควันโดเหรียญทองแดงโอลิมปิก รวมถึง โสภณ ดำนุ้ย หรือมิสเตอร์หลินปิง อดีต ผอ.องค์การสวนสัตว์ ที่ลงเขต 5 ดุสิต-ราชเทวี

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงแล้วก็ขอต้องสู้เต็มที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ ชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา ผอ.เลือกตั้ง กทม. ที่อยู่กับสุวัจน์มาตั้งแต่ชาติพัฒนาคงต้องใช้กลยุทธ์หลายอย่าง หากคิดจะเบียด ปชป.-พท.รวมถึงการขอคะแนนปาร์ติ้ลิสต์ด้วย

ด้านพรรคเล็กน้องใหม่ “รักษ์สันติ”ที่มีปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ดูแล้วก็เห็นได้เลยว่า รักษ์สันติ -ปุระชัย หวังคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ใน กทม.เป็นหลัก เพื่อทำให้ได้ ส.ส.อย่างน้อยสัก 1-2 คน

ส่วนระบบเขต ที่หวังมากสุดคงไม่พ้น นพ.ประจวบ อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ส.ไทยรักไทยสองสมัย ที่ลงเขต 5 ดุสิต-ราชเทวี แข่งกับโสภณ ดำนุ้ย แต่สองตัวหลักจริงๆก็คือ น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี จาก ปชป.กับ.ลีลาวดี วัชโรบล ของเพื่อไทย

อีกหนึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ “พรรคภูมิใจไทย” ส่งคนเดียวและหวังไว้ว่าต้องได้ ก็คือ“ศุภมาศ อิศรภักดี” อดีต ส.ส.กทม.ไทยรักไทยสองสมัยที่ขอลงแก้มือ เขต 11 หลังพ่ายแพ้ยับเยินตอนอยู่พรรคพลังประชาชนที่เป็นเขตใหญ่

พอลงเขตเดียวเบอร์เดียว “เจ๊ผึ้ง” มั่นใจว่าสูสี แม้จะรู้ดีว่าภาพลักษณ์ของภูมิใจไทยขายได้ยากในกทม.เอาแค่เรื่องรถเมล์เอ็นจีวี เช่าแพงกว่าซื้อก็หนักแล้ว แต่ “เจ๊ผึ้ง” คงมั่นใจว่าดีกรีอดีต ส.ส.สองสมัย และลงพื้นที่ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา พ่วงกับที่มีน้องสาวเป็น ส.ก.อิสระหนึ่งเดียวที่ไม่มีพรรคสังกัดแล้วเอาชนะทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์มาได้

จึงน่าจะทำให้การลงสมัครรอบนี้แม้ภูมิใจไทยจะไม่มีกระแสพรรค-ขาดฐานเสียงจัดตั้งของพรรค แต่วัดกันตัวต่อตัวแล้ว น่าจะสู้คู่แข่งสำคัญคือ “สกลธี ภัททิยกุล”จาก ปชป. ลูกชายพล.อ.วินัย ภัททิยกุลได้ ส่วนเพื่อไทยแม้จะส่ง สุรชาติ เทียนทอง ลูกเสนาะลงแต่ยังไม่ใช่ตัวยืนของเขตนี้

ปิดท้ายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ มาในนาม “พรรครักประเทศไทย” รายนี้กลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือ ข้ามาคนเดียว ขอเพียงคนเดียวเข้าสภาไปเป็นฝ่ายค้านก็พอแล้ว ไม่เอาระบบเขต และเชื่อว่าน่าจะได้เสียงจากต่างจังหวัดด้วยซ้ำไป แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ใน กทม.ของชูวิทย์ยังดูไม่ออกว่าจะไปตัด ปชป.หรือ พท. แต่น่าจะเป็นกลุ่ม50 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ตัดสินใจมากที่สุด

รักใคร ชอบใคร 3 ก.ค.54 เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น