xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ อ้างยูเนสโกเริ่มคล้อยไทยส่อเลื่อนถกมรดกโลก ถามถ้ารัฐสมคบเขมรจะมีปะทะหรือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“มาร์ค” หลงระเริง!! อ้างยูเนสโกเริ่มคล้อยตามไทย เลื่อนประชุมมรดกโลก ยังไม่คิดขึ้นทะเบียนร่วม ชี้ ต้องหยุดกระบวนการก่อน ปัด “สุวิทย์” เซ็นข้อตกลงเอาไว้ ฉะเขมรโยกโย้ไม่ถกจีบีซี กลัวศาลโลกรู้กลไกแก้ปัญหา ยัน “ประวิตร” บอกพร้อมคุยต่อ ถามพันธมิตรฯ ถ้ารัฐสมคบเขมรจะมีปะทะกันหรือ ไล่ไปดูข้อเท็จจริง เย้ย “เฉลิม” ยกดินแดนให้เขาก็คุยได้

วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการหารือนอกรอบทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา วันที่ 25-26 พ.ค.ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ว่า กัมพูชาก็ต้องสู้ของเขา แต่เมื่อเช้าวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้คุยกับคนที่อยู่ที่นั่น ซึ่งขณะนี้ทางยูเนสโกเอง ค่อนข้างที่จะคล้อยมาว่า ถ้าหากจะเลื่อนไปน่าจะเป็นทางออกที่ดี และยังทำงานกันอยู่ ซึ่งตนจะติดตามอีกที ส่วนการเจรจานั้น เดิมจะต้องคุยกันในวันที่ 25-26 พ.ค.และต่อมาต้องมาคุยกันในคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ซึ่งขณะนี้เรายังยืนอยู่จุดเดิมว่าควรจะเลื่อน ทางยูเนสโกเองก็ดูจะสนับสนุนเรามากขึ้น

“เขาเข้าใจว่า เงื่อนไขตรงนี้จะเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง ความตึงเครียดขึ้นมาได้ และเราได้ย้ำมาตลอดว่า ทางยูเนสโกควรระมัดระวัง แม้ว่าจะดูในเชิงเทคนิคว่าทำงานทางด้านการอนุรักษ์ แต่ข้อเท็จจริงที่เขาปฏิเสธไม่ได้คือ ก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้สู้รบกัน และไม่ได้ปะทะกันเลย ทั้งสองฝ่ายอยู่ด้วยกัน เปิดให้คนเข้าไปเที่ยว มีทั้งการเก็บเงินซึ่งก็ได้ทั้งสองฝั่งด้วยซ้ำ แต่เมื่อมีการขึ้นมรดกโลกมา ก็มีแต่ปัญหาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเขาต้องไปทบทวน เพราะเหนือสิ่งอื่นใด เจตนารมณ์ของการก่อตั้งองค์กรโดยยูเนสโก เองคือเรื่องของสันติภาพ” นายกฯ กล่าว ถึงกรณีที่ยูเนสโกเข้าใจปัญหาของเรามากขึ้น

เมื่อซักต่อว่า ถ้าหากปัญหาเดินสู่ทางตัน จะมีวิธีสำรองเพื่อนำเสนอ ยูเนสโกในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกัน หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนั้นคงเป็นข้อเสนอในระยะที่ยาวออกไป สามารถพูดคุยกันได้ในเรื่องแบบนี้ แต่ในเบื้องต้นควรหยุดยั้งกระบวนการที่จะพิจารณาแผนบริหารของกัมพูชาในพื้นที่ก่อน ถ้าตรงนี้ยังตกลงกันไม่ได้ ในเดือนมิถุนายน ต้องไปดูมติตรงนั้นอีกที่

เมื่อถามว่า หากการพูดคุยครั้งนี้ไม่มีความชัดเจน แนวทางในเดือน มิ.ย.จะต้องทำอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ต้องประมวลความเห็นจากฝ่ายต่างๆที่แสดงความคิดเห็นในช่วง 1-2 วันนี้ เพื่อจะได้เดินหน้าต่อได้ถูกแนวทาง ตนเห็นหนังสือพิมพ์นำไปเขียนว่าทำไมต้องรวบรวมข้อมูล เพราะเราต้องดูข้อมูล ดูท่าทีของประเทศต่างๆ ใน 1-2 วันนี้ เพื่อไปประกอบการพิจารณาการทำงานในเดือน มิ.ย.

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชาบอกว่าเขาได้เปรียบ เนื่องจาก นายสุวิทย์ ไปเซ็นร่างสัญญาข้อตกลงต่างๆ ไว้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี คุณสุวิทย์ ไม่เคยไปเซ็นตกลงอะไร เพราะเป็นมติของกรรมการ และวันนั้น เขาพยายามที่จะให้พิจารณาตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงพยายามที่จะพูดเพื่อผลักดันอีกทีหนึ่งในปีนี้ แต่มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ชี้ชัดมากขึ้นว่าการเดินหน้าต่อจะทำให้มีปัญหามากขึ้น ทางกัมพูขาก็จะเล่นแบบนี้เหมือนโยกโย้ เรื่องจีบีซี ตนเข้าใจว่าต้องการให้เรื่องกลับไปที่เวทีศาลโลก พยายามจะบอกกับศาลโลกว่า ให้ช่วยมาแก้ปัญหาในเรื่องกำลังทหารหรืออะไรต่างๆ ถ้าประชุม จีบีซี คงจะกลัวว่าจะเห็นว่าความจริงมีกลไกอยู่

เมื่อถามว่า การเป็นเพื่อนบ้านกับกัมพูชานั้นยากลำบากหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเพื่อนบ้านกัน ธรรมดาที่จะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง ส่วนการที่เขายังใช้เวทีโลกกับเรื่องการใช้การทหารนั้น เราจะมีแนวทางการต่อสู้ในส่วนของคดีที่จะไปขึ้นสู่ศาลโลก และเมื่อเช้าวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา รมว.กลาโหมของไทย ได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเรื่องประชุมจีบีซีเดินหน้าต่อ ดังนั้นจึงไม่จริงที่ พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหมกัมพูชา มาพูดว่า ฝ่ายไทยยังไม่ดำเนินการ

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชามักจะพูดไม่ตรงกับสิ่งที่พูดกับฝ่ายไทย จะทำอย่างไรให้กัมพูชากลับมาพูดความจริงกับสังคมโลก นายกฯ กล่าวว่า เรามีหน้าที่ในการไปชี้แจงทุกเวทีที่เราไป โดยให้เห็นว่าจริงๆแล้วเราเจรจาหรือพูดคุยกับกัมพูชา หรืออาจจะมีคนที่ สามหรือคนที่สี่ ในเวทีต่างๆก็ดี เรายืนอยู่บนเหตุอะไร และยึดตามข้อตกลงต่างๆอย่างไร ทางกัมพูชาเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราได้ชี้แจง ตนคิดว่าหลายคนเข้าใจเราดีขึ้น

เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้กลายเป็นการเมืองในประเทศ โดยกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงขั้นบอกว่ารัฐบาลสมคบกับกัมพูชา เพื่อยกดินแดนให้โดยผ่านศาลโลก นายกฯ กล่าวว่า “ถ้ารัฐบาลสมคบกับกัมพูชาคงจะมีการปะทะกันหรือครับ ถ้ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่อะไรๆ ก็ยอมตามกัมพูชา คงไม่ต้องมีการปะทะกัน สมเด็จฮุนเซน คงไม่มาพูดหรือว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นคนที่ทำงานด้วยยาก ต้องดูที่มาที่ไปของปัญหา ส่วนเรื่องของมรดกโลก ที่มาของปัญหาคือปี 51 รัฐบาลในขณะนั้นไปแสดงท่าทีเองว่ายินยอมให้เขาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว เรามาตามแก้ทีหลังว่าไม่ดีอย่างไร แต่ว่าเราเสียเปรียบไปตั้งแต่วันนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงมีความเสียเปรียบที่มาจากตรงนี้ พันธมิตรฯ ควรจะไปดูข้อเท็จจริงพวกนี้”

เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุถ้าได้เป็นรัฐบาล วันแรกจะไปคุยกับกัมพูชา และความสัมพันธ์ก็จะราบรื่น นายกฯ กล่าวว่า ถ้าไปยกดินแดนให้เขาก็คุยได้อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น