xs
xsm
sm
md
lg

ทบ.ยันชุดสำรวจล่วงหน้าแค่ตัวสร้างบรรยากาศ ไม่มีผลต่อดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พ.อ.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด
โฆษก ทบ.เผยชุดล่วงหน้าฯ เข้าพื้นที่ไทย แค่สำรวจขอบเขตพื้นที่ทำงาน-ที่พักให้ผู้สังเกตการณ์อินโดฯ ยันไทยไม่ได้ยอมเขมร แต่เป็นการโอนอ่อนเข้าหากัน โต้กลับ “กลุ่มการเมือง” ยันไม่เสียดินแดน จุดยืนไทยเหมือนเดิม กัมพูชาต้องถอนทหารออกเท่านั้น

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ในการหารือระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมของไทย และ พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหมของกัมพูชา ระหว่างการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน ที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อสรุปให้ส่งชุดสำรวจล่วงหน้า (advance team) ลงพื้นที่นั้น เป็นแค่เจ้าหน้าที่ในการลงสำรวจขอบเขตพื้นที่การทำงาน พร้อมทั้งดูเรื่องที่พักหากมีผู้สังเกตการณ์เข้ามาในประเทศ ซึ่งการส่งชุดสำรวจลงพื้นที่ ส่งผลให้คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีที่ไทยต้องการให้เกิด จัดประชุมที่กัมพูชาได้

“ไม่ได้เป็นการเสียดินแดนในอนาคตอย่างที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มนำไปโจมตี ฝ่ายไทยเราต้องการให้กลไกทวิภาคีเดินหน้าไปได้ คล้ายกับการสร้างบรรยากาศ ให้พร้อมเป็นการประชุม จีบีซี เราไม่ได้ยอมเขา อย่าไปมองว่าไม่เป็นไปตามจุดยืนเดิม มันไม่ถึงขนาดนั้น ชุดสำรวจฯ ดังกล่าวไม่ใช่ ผู้สังเกตการณ์อย่างที่ตีความกัน แต่เป็นชุดที่ลงพื้นที่ในทางธุรการเพื่อดูใน 2 เรื่องคือ ขอบเขตพื้นที่ปฏิบัติงานของผู้สังเกตการณ์ และ ที่พักของผู้สังเกตการณ์ที่จะต้องมาทำงาน ซึ่งชุดสำรวจนี้จะมาทั้งในฝั่งกัมพูชาด้วย และของไทยด้วย โดยมาดูที่พัก และพื้นที่ว่า หากมีผู้สังเกตการณ์เข้ามาจริงๆ เขาจะไปอยู่ตรงไหน พักตรงไหน ขอบเขตการปฏิบัติการแค่ไหน ไม่ใช่หมายความว่ามีชุดสำรวจเข้ามาแล้ว วันข้างหน้าจะมีชุดสังเกตการณ์เข้ามาร้อยเปอร์เซ็นต์ การจะมีชุดสังเกตการณ์มาหรือไม่ ต้องประชุมในการประชุมจีบีซีก่อน”

โฆษกกองทัพบกกล่าวว่า ท่าทีของไทยและกัมพูชาที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าสองฝ่ายโน้มเข้าหากัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีตั้งแต่มีการปะทะกันมา ทำอย่างไรจะให้เกิดสันติภาพให้เกิดขึ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การยินดีให้ชุดสำรวจเข้ามา ก็เหมือนกับไทยโอนเข้าหากัมพูชา และ ฝ่ายกัมพูชาก็พร้อมให้มีการจัดประชุมจีบีซีทั้งสองฝ่ายระหว่างไทย-กัมพูชา จะได้นำปัญหาต่างๆ มาพูดคุยกัน โดยเฉพาะเรื่องผู้สังเกตการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาของไทยไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ให้มีผู้สังเกตุการณ์ แต่เงื่อนไขก่อนที่ชุดสังเกตการณ์เข้ามาต้องมีการถอนทหารก่อน ซึ่งฝ่ายเราพร้อมปฏิบัติ

“ถ้าเราไม่คุยกันก่อน วันหนึ่งมีกองกำลังของต่างประเทศติดอาวุธเข้ามาปฏิบัติภารกิจอะไรอยู่ตรงไหน อธิปไตยเหนือดินแดน ศักดิ์ศรีของไทย และกัมพูชา อยู่ตรงไหน ดังนั้นจึงต้องคุยกันก่อนว่าควรจะเข้ามาหรือไม่ และถ้าเข้ามา บทบาทเขาจะทำอะไรได้แค่ไหน มีอาวุธเข้ามาหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราย้ำอยู่เสมอว่าถ้ามีผู้สังเกตการณ์เข้ามา จะต้องไม่มีการวางกำลังทหารในพื้นที่พิพาทแล้ว ไม่มีชุมชนของสองประเทศอยู่ เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ลงตัว เมื่อเขาเข้ามาจะได้สังเกตการณ์ว่าพื้นที่เป็นลักษณะอย่างนี้ ตราบใดมีกำลังบางส่วนวาง มีชุมชนอยู่ จะทำให้ผู้สังเกตการณ์ไม่ได้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เขาสามารถไปประมวลได้” พ.อ.สรรเสริญกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น