xs
xsm
sm
md
lg

"ประวิตร"นำทีมเยือนอินโดฯ ปัดเจรจาปัญหาไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ประวิตร"นำทีม ผบ.ทบ. ปลัดกลาโหม เยือนอินโดฯ กระชับความสัมพันธ์กองทัพ ยันไม่มีการหารือปัญหาขัดแย้งไทย-กัมพูชา เพราะทุกอย่างอยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงต่างประเทศ ที่จะเป็นคนกำหนด ทีโออาร์ จัดผู้สังเกตุการณ์ในพื้นที่ทับซ้อน

วันนี้ (18 เม.ย.) เวลา 03.30 น.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ของกระทรวงกลาโหม จะเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของรมว.กลาโหมอินโดนีเซีย

ทั้งนี้การเดินทางเยือนอินโดนีเซียของ คณะ พล.อ.ประวิตร และ ผบ.ทบ. ยังถูกจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะการไปหารือเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา รวมถึงเรื่องการส่งผู้สังเกตุการณ์ทางด้านการทหาร เข้ามาในพื้นที่ข้อพิพาท 4.6 ตร.กม.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธที่จะเดินทางเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการทั่วไปชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ จีบีซี กับ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมกัมพูชา ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 8-9 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า จะเป็นประเทศที่ 3 ที่จะเข้ามาร่วมไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การเดินทางไปเยือนอินโดนีเซียในครั้งนี้ ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่เราได้รับคำเชิญจากรมว.กลาโหมของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อทางอินโดนีเซียให้เกียรติเชิญเรามา ทางเราก็ต้องให้เกียรติเดินทางไปเยือน อีกทั้งตั้งแต้ตนเข้ามารับตำแหน่งรมว.กลาโหมมา 2 ปีกว่าแล้ว ก็ยังไม่ได้เดินทางไปเยือน หรือเยี่ยมคำนับรมว.กลาโหม ของอินโดนีเซีย ทั้ง ๆ ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของทั้งสองกองทัพ

ส่วนการที่นำ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ไปด้วย ก็เนื่องจากทั้ง 2 ท่าน เข้ามาตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ 6 เดือน ก็ยังไม่ได้เดินทางไป จึงได้ร่วมคณะไปในครั้งนี้เลย

ส่วน พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ไม่ได้เดินทางร่วมกับคณะไปด้วย เนื่องจาก ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง 3 ท่าน ได้เดินทางไปเยือนมาก่อนหน้านี้แล้ว

" การเดินทางเยือนในครั้งนี้ จะไม่มีการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะกรณี ที่จะให้ผู้สังเกตุการณ์ทางด้านการทหารของประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 15 คน เดินทางเข้าไปในประเทศไทย เพื่อเข้าไปสังเกตุการณ์บริเวณพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. และเรื่องนี้จบไปแล้ว เพราะขั้นตอนทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการ และกระทรวงต่างประเทศ จะเป็นคนกำหนดในเรื่องการเจรจาปัญหาต่างๆ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขข้อตกลง หรือ ทีโออาร์ คงไม่มีปัญหาอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศทั้งหมด ผมไปในฐานะกระทรวงกลาโหมต่อกระทรวงกลาโหม ไม่ได้มีเรื่องอย่างอื่น" พล.อ.ประวิตร ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เมื่อวันที่ 7-8 เม.ย.54 ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซียที่ผ่านมา ที่รัฐบาลได้ส่งให้ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมกับ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรมต.ต่างประเทศกัมพูชา รวมถึงนายมาร์ตี นาตาเลกาวา ประธานอาเซียน และ รมต.ต่างประเทศอินโดนีเซีย โดยมีปัญหาอยู่ที่ว่าทางอินโดนีเซีย ขอส่งกำลังทหารเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ ในพื้นที่ชายแดนไทยและกัมพูชา โดยเอกสารเงื่อนไขข้อตกลง หรือ ทีโออาร์ ที่นายมาร์ตี นาตาเลกาวา ประธานอาเซียน เสนอ ต่อนายกษิต เพื่อส่งทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา มีจำนวน 3 หน้า

สำหรับเอกสารเงื่อนไขข้อตกลง หรือ ทีโออาร์ จำนวน 3 หน้าที่ว่านี้ เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นมาหลังจากมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 54 โดยมีเนื้อหาสรุปว่า ทางอินโดนีเซีย ประสงค์จะส่งทีมสังเกตการณ์ หรือไอโอที (The Indonesian Observers Team) อันประกอบไปด้วยทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ชาย แดนไทย-กัมพูชา จำนวน 30 นาย โดยแบ่งเป็นทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย-กัมพูชา (IOT-C) จำนวน 15 คน จะเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบชายแดนกัมพูชา-ไทย ในฝั่งกัมพูชา และ ทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย-ไทย (IOT-T) จำนวน 15 คน จะเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบชายแดนไทย-กัมพูชา ในฝั่งไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น