xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการซัดตั้ง ส.ว.สรรหาอำนาจมืดครอบงำ เมินตัวแทนมุสลิมร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร  (แฟ้มภาพ)
นักการเมือง-นักวิชาการมุสลิมชำแหละ ส.ว.สรรหา ชี้อำนาจมืดครอบงำ ตั้ง ส.ว.ปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง สืบทอดอำนาจ เมินตัวแทนมุสลิมร่วม เสนอไป 22 วืดหมด ขณะที่ “อัษฎางค์” แนะรวมตัวตั้งพรรค เรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หลังพบยังขาดความเป็นเอกภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาหัวข้อ “สิทธิทางการเมืองของมุสลิม” จากกรณีศึกษา “การสูญพันธุ์ของสมาชิกวุฒิสภามุสลิม (สรรหา)” โดยมีนายมัรวาน สะมะอุน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นายกริยา กิจจาวัฒน์ อดีตกรรมการกลางอิสลามฯ นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการผู้จัดการ ทีวีดาวเทียมสปริงนิวส์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีหนังสือพิมพ์พับลิกโพสต์

นายอัษฎางค์กล่าวว่า ทุกคนในประเทศนี้มีความเสมอภาค มุสลิมก็เหมือนกันไม่มีความแตกต่าง ประเทศไทยมีรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจำลองมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 พยายามจัดให้ดีที่สุด มีรัฐประหารปี 49 ก็มีรัฐธรรมนูญปี 50 ยังปรับใช้เหมาะสมไม่ได้ อยู่ที่การปรับใช้ รวมถึงการสรรหาวุฒิสมาชิก เอา 7 คนมาเลือกมีหลักประกันอะไร การสรรหามีอำนาจเบื้องหลัง มีวุฒิสมาชิกเก่าจาก คมช. เราต้องสะท้อนผู้ปกครองให้เห็นว่า กลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา ต้องได้รับความเท่าเทียมกัน ถูกละเลยผิดประเพณีการเมืองหรือไม่ อำนาจมืดแทรกแซงได้ คนที่เป็นประธานวุฒิสภาปัจจุบัน มีข่าวล่วงหน้าว่าจะได้เป็นด้วยซ้ำ มันน่าจะมีผลประโยชน์อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตย และที่น่าเกลียดอำนาจนี้ใช้แล้วไม่รับผิดชอบ

นายมัรวานกล่าวว่า ความมุ่งหมายของการปกครองที่เรามุ่งเปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม สิ่งหนึ่งแนวความคิดต่างๆ ที่จำเป็นต้องเป็นแนวความคิดที่ออกมาจากหลากหลาย แต่การเมืองที่เริ่มต้นจากสมบูรณาญาสิทธิราช มุสลิมก็ไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งเราไม่ควรลืมความคิดความอ่านของมุสลิม การเข้าไปในสภา ความเหลื่อมล้ำศาสนาเป็นเรื่องที่เราต้องแก้ไข ในเมื่อเราต้องร่วมรับผิดชอบปัญหาของประเทศชาติด้วยกัน แต่สิ่งที่เขาทำก็ทำไปตามระบบ แต่นั้นเป็นเผด็จการจากรัฐธรรมนูญ

ด้าน นายกริยากล่าวว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่า การสรรหา ส.ว.ครั้งนี้ ไม่มีความเป็นธรรม คือ 1.เลือกตามใบสั่ง เพราะมีนายพลเข้ามาเป็นจำนวนมาก 2.คัดเลือกแบบสืบทอดอำนาจ และ 3.เลือกมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเพื่อไปใช้ในการเลือกตั้งในรัฐบาลหน้า อันมาจากการร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม มุสลิมเราก็ต้องหันกลับมาดูตัวเองว่า เราเหมือนดูดีแล้วหรือยัง ไม่ใช่จะให้เขามองเราอย่างเดียว เราต้องมองตัวเองด้วย จุดอ่อนของเราองค์กรมุสลิมยังขาดความเป็นเอกภาพ เพราะแม้ในระดับตำบลการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่ เรายังแพ้ แสดงให้เห็นว่า เรามีความอ่อนแอ ดังนั้นก็อย่าว่าแต่สรรหา ส.ว.เลย เพราะที่ผ่านมาเรามักจะมองข้ามการเมืองในทุกระดับหมายถึงว่า ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่น่าร่วมงาน ซึ่งหากเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ก็จะส่งผลกระทบเราอย่างแน่นอน ทั้งนี้สิ่งที่นักการเมืองต้องมีคือ ความมั่นคง โดยการยึดถือศาสนาที่ตัวเองนับถือ มีความเป็นธรรมในการปกป้องสิทธิของประชาชน

ขณะที่ นายอัษฎางค์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ปัจจุบันมุสลิมยังถูกปิดกั้นโอกาสทางการเมือง เห็นได้จากการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ที่มีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ ทำให้ไม่มีตัวแทนจากมุสลิมร่วมเป็นสมาชิกวุฒิสภาแม้แต่คนเดียว ทั้งที่มีการส่งมุสลิมเข้าชิงตำแหน่งถึง 22 คน ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้มีตัวแทนจากหลากหลาย พร้อมเรียกร้องให้นักการเมืองที่เป็นมุสลิม อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นพ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคมาตุภูมิถือเป็นทางเลือกของมุสลิมได้หรือไม่ นายอัษฎางค์กล่าวว่า อาจจะใช่ แต่ต้องถาม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ว่ามีความจริงใจและจริงจังในการดำเนินการทางการเมืองเพื่อมุสลิมแค่ไหน เพราะตามที่ปรากฏข่าวว่านายวัฒนา อัศวเหม เป็นนายทุนให้กับพรรค ก็อาจจะถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น