xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชต.ไม่ละเมิด หนุน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชี้แดงเผาเมืองผ่าน 1 ปี ผู้ค้ายังเจ็บปวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด
นายกสมาคมผู้ประกอบการราชประสงค์ รวมพลผู้เดือดร้อนแดงเผาเมือง ตั้งเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด รับผ่าน 1 ปี ยังทำผู้ค้าเจ็บปวด หนี้บาน หนุน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หวังไม่ละเมิดสิทธิ์กัน แม่ค้าประตูน้ำ โวยม็อบมาลูกค้าหด ทำผู้ขายเดือดร้อน

วันนี้ (10 พ.ค.) นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ในฐานะผู้แทนเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด เปิดเผยว่า ความเดือดร้อนจากการชุมนุม โดยเฉพาะจากการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ จนนำไปสู่การจลาจลและเผาทำลายสถานที่ต่างๆ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ยังคงสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ประกอบการค้าขายในบริเวณใกล้เคียงที่มีอยู่ราว 3-4 หมื่นราย ซึ่งแต่ละรายต่างมีลูกจ้างประมาณ 20-30 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติพี่น้องของทั้งผู้ประกอบการ และคนงานที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งรับงานไปทำ ส่งผลให้รายได้หดหายได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

นายชาย กล่าวว่า แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วเกือบ 1 ปี แต่พวกเขายังคงต้องแบกรับภาระหนักอึ้ง หลายรายต้องกู้หนี้ยืมสินมาประคับประคองธุรกิจ วันนี้จึงมารวมตัวกันเพื่อเป็นตัวแทน เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้เดือดร้อนจากการชุมนุม ซึ่งประกอบด้วย วินมอเตอร์ไซค์หน้าอาคารอัมรินทร์ กลุ่มไทยคราฟต์ อัมรินทร์ กลุ่มผู้ค้าพวงมาลัย หน้าศาลท่านท้าวมหาพรหม กลุ่มผู้ประกอบการสีลม เซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประตูน้ำ สยามสแควร์ จุฬาฯ สมาคมโรงแรม พนักงานบริษัท ลูกจ้างและประชาชนทั่วไป เพื่อสะท้อนให้สังคมเห็นถึงความเดือดร้อนที่ยังคงมีอยู่ แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐส่วนหนึ่งก็ตาม

“นี่จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงผลกระทบ ที่เกิดขึ้นต่อเนี่องมาเป็นเวลา 1 ปี ที่แม้หลายฝ่ายคิดว่าความเดือดร้อนดังกล่าวได้ทุเลาเบาบางไปแล้วนั้น แท้จริงการมีหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบ และผลกระทบต่อเนื่องไปยังเบื้องหลังของธุรกิจและผู้คนนั้นยังคงอยู่ และมีคนไทยจำนวนหนึ่งต้องแบกรับภาระดังกล่าวโดยไม่มีหนทางจะเรียกร้องสิทธิของพวกเขาจากที่ใด” นายชาย กล่าว

นายชาย กล่าวต่อว่า ในความคิดของตน พระราชบัญญัติการชุมนุมฯ มิได้ปิดกั้นที่จะให้มีการชุมนุม แต่จะมีกระบวนการจัดระเบียบการชุมนุมที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้เป็นกรอบให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีขอบเขตการรับผิดชอบในส่วนของตนเองได้ชัดเจน เราจะได้มีการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ ได้ตามระบอบประชาธิปไตยและยังอยู่ในกรอบของการไม่ละเมิดสิทธิของกันและกัน ตนเชื่อว่า ทุกฝ่ายจะยอมรับร่วมกันได้เมื่อเราอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิร่วมกัน ซึ่งตนคิดว่าหาก พ.ร.บ.การชุมนุม ตอบโจทย์ดังกล่าว ก็จะใช้งานได้ดี ทั้งนี้ ยอมรับว่า พ.ร.บ.การชุมนุม ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้กระบวนการเกิดขึ้น เพราะการชุมนุมที่ไม่ละเมิดเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่แท้จริง ในอีกแง่ ยังเป็นกระบวนการที่ทำให้ภาครัฐสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ เนื่องจากสังคมยอมรับในกระบวนการที่เกิดขึ้นด้วย

“ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วก็เป็นบทเรียนของทุกฝ่ายและของสังคมไทย และขอเรียกร้องให้ทุกคนมาร่วมมือกันสร้างประเทศไทยขึ้นใหม่ พัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ทุกคนเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานของเรา” ผู้แทนเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด กล่าวทิ้งท้าย

นางมนัสกร (นามสมมติ) กล่าวว่า ตนทำธุรกิจขายเสื้อผ้าที่ประตูน้ำมา 5 ปี ไม่เคยกู้แบงก์ แต่หลังจากการชุมนุมต้องกลายเป็นหนี้ ทุกวันนี้ธุรกิจยังไม่ฟื้น และจำเป็นต้องส่งงานให้แรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดทำไม่ให้ขาด เพราะคนงานก็ต้องเลี้ยงดูครอบครัวของเขาอีกหลายปากท้อง การที่มีผู้ชุมนุมมาสม่ำเสมอ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สิ้นสุด เพราะเมื่อไหร่ที่มีข่าวการชุมนุม ลูกค้าจะไม่มาเดินประตูน้ำเลย เพราะกลัว ตนจึงอยากเรียกร้องให้มีการกำหนดโซนการชุมนุมว่าสถานที่ใดควรหรือไม่ควรชุมนุม ไม่อยากให้มาชุมนุมในที่ที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นแบบนี้

นายวีรยุทธ อาจหาญ ตัวแทนจากโรงแรมสยามโนโวเทล กล่าวว่า ผลกระทบมีมาตั้งแต่สนามบินถูกปิดแล้ว แต่พอ 10 เมษา 53 ก็โดนกระทบเต็มๆ แขกต่างประเทศลดลง อีกอย่างเรามีคู่แข่ง คือ ฮ่องกง พอมีข่าวม็อบก็กระทบแล้ว ซึ่งปีที่แล้วปิดทั้งโรงแรมเป็นเดือน โนโวเทลปิดไป 1 เดือน สูญรายได้กว่า 200 ล้านบาท พนักงานที่มาจากต่างจังหวัดต้องกลับบ้าน กระทบกันไปหมด ด้านสภาพจิตใจไม่ต้องพูดถึง พอเหตุการณ์สงบแล้ว ก็เริ่มดีขึ้น ทางจุฬาฯ ช่วยลดค่าเช่าลงบ้าง รัฐบาลก็ช่วยเหลืออย่างดี สยามสแควร์ตอนนี้ก็ดีขึ้นเยอะครับ แต่อยากฝากถึงรัฐบาลว่าถ้าหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมได้ ก็น่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

ด้าน นางศรีเพ็ญ นามสมมติ ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการจากเซ็นเตอร์วัน กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่เซ็นเตอร์วันส่วนใหญ่อายุระหว่าง 30-40 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มสร้างครอบครัว ทำธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็กระทบโดยตรงต่อรายได้รายวัน และรายเดือน ยิ่งเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม ลูกเปิดเทอมก็ต้องใช้เงิน อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ เราถือเป็นวัยทำงานที่มีภาระหนักมากอยู่แล้ว พอมาโดนเหตุการณ์เข้า ทำให้ทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องต้องได้รับความเดือดร้อนกันไปหมด ดังนั้น เมื่อมีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน ตนจึงอยากจะบอกว่า เราคงห้ามไม่ให้เขาชุมนุมไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการได้รับการดูแล และอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการชุมนุมแต่ละครั้ง มันสร้างความเดือดร้อนให้กับทุกฝ่ายจริงๆ

ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายประชาชนประชาธิปไตยไม่ละเมิด ได้แก่ กลุ่มบุคคลหลายกลุ่มจากภาควิชาการ ภาคกฎหมาย ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและชุมชนต่างๆ ที่รวมตัวกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยพันธกิจของกลุ่ม คือ 1.สนับสนุนการชุมนุมและการประท้วงในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล 2.ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ 3.ร่วมผลักดันให้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

4.รณรงค์ให้การประท้วงและชุมนุมของกลุ่มต่างๆ มีการบริหารจัดการการชุมนุมที่ดี เช่น ใช้พื้นที่ปิดในการชุมนุมแทนพื้นที่สาธารณะ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของขนาดพื้นที่กับจำนวนผู้ที่คาดว่าจะมาชุมนุม ไม่ปิดการจราจร ไม่กีดขวางการจราจร ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมและประชาชนโดยรอบพื้นที่ ตลอดจนอาคารและทรัพย์สินส่วนบุคคลและสาธารณะโดยรอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น