xs
xsm
sm
md
lg

กกต.พร้อมจัดเลือกตั้งทันทีหลังมี พ.ร.ฎ.ยุบสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประพันธ์ นัยโกวิท  (แฟ้มภาพ)
กกต.ยืนยัน พร้อมจัดการเลือกตั้งทันทีที่โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ยุบสภา ลงมา เชื่อ ปัญหาโยกย้ายนายอำเภอไม่มีผลกระทบแต่งตั้ง ผอ.เขต เผย หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากฎหมายลูกไม่ทัน สามารถออกระเบียบแทนได้ พร้อมเตือนกลุ่มเคลื่อนไหว วิทยุ โทรทัศน์ ให้ระวังหลังมี พ.ร.ฎ.ยุบสภา

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมทูลเกล้าฯ ถวายพ.ร.ฎ.ยุบสภาในช่วงบ่ายวันนี้ (6 พ.ค.) ว่า กกต.ต้องรอให้มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา โปรดเกล้าฯ มาก่อนจึงจะมีความชัดเจนในเรื่องของวันเลือกตั้ง และวันประกาศรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน โดย กกต.ได้คาดการณ์วันเลือกตั้งในช่วงวันที่ 26 มิ.ย.หรือ 3 ก.ค.

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเตรียมการเลือกตั้งได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการแต่งตั้ง กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง และผอ.ประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่รับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ส่วนกระแสข่าวเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายอำเภอที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ตนเชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบต่อการแต่งตั้งนายอำเภอที่เป็น ผอ.เขตเลือกตั้งแต่อย่างใด

ส่วนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ ไม่ทันจะกระทบต่อแผนการดำเนินการเลือกตั้งของ กกต.นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า คงไม่กระทบ เพราะ กกต.สามารถ รอการพิจารณาของศาลได้ไม่เกิน 2-3 วัน ก่อนที่ กกต.จะเปิดรับสมัคร ส.ส. แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ทันพร้อมกับช่วงที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง โปรดเกล้าฯ ลงมา แต่หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่ทัน กกต.ก็สามารถออกระเบียบประกาศ กกต.

ทั้งนี้ กกต.ได้ร่างระเบียบประกาศดังกล่าวไว้พร้อมแล้ว นอกจากนี้ พรรคการเมืองต้องมีการเตรียมความพร้อมของผู้สมัคร ซึ่งจะต้องไม่มีชื่อซ้ำซ้อนกับพรรคการเมืองอื่น และจะต้องเป็นสังกัดเป็นสมาชิกพรรคก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วันกรณีที่มีการยุบสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้ทำหนังสือหารือเรื่องการใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่นการใช้รถกันกระสุน การมอบโยบาย มายัง กกต.ว่าระหว่างเป็นรัฐบาลรักษาการสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว แต่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 อนุ 4 บัญญัติว่า ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประสงค์ให้ได้เปรียบเสียเปรียบทางการเลือกตั้ง แต่หากใช้ปฏิบัติในราชการปกติ เช่นตรวจเยี่ยมทหารตามแนวชายแดน หรือมีเหตุการณ์ไม่ปกติ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ในส่วนของการปาถกฐา หรือมอบนโยบาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีอำนาจดำเนินการได้ปกติทุกอย่าง เพียงแต่ต้องไม่ใช่เป็นการใช้เพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง

ส่วนการประชุม ครม.นัดสุดท้ายได้มีการอนุมัติงบประมาณกว่าแสนล้านบาท ถือว่ามีนัยทางการเมืองเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีใครร้องเรียนมา แต่ขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีความผิด เพราะช่วงที่อนุมัติงบดังกล่าว ครม.ยังมีอำนาจเต็ม เนื่องจากยังไม่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา ส่วนกรณีที่มีผู้ที่มีความประสงค์จะลงสมัครเลือกตั้งลงพื้นที่แจกสิ่งของที่ มีตราสัญลักษณ์ของกระทรวงนั้น ต้องดูตามข้อเท็จจริง หากไปในหน่วยงานของราชการก็สามารถทำได้ แต่หากผู้สมัครหรือคนในพรรคนำสิ่งของไปแจก ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 89 ระบุว่าจะต้องนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงแต่ตอนนี้ถือว่าไม่ผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะนัดชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.นั้น หากในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง จะสามารถชุมนุมได้หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า เมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ทุกฝ่ายจะต้องระวัง แม้กระทั่งสื่อมวลชนที่เป็นวิทยุ โทรทัศน์ก็ต้องระวัง เพราะตามกฎหมายห้ามหาเสียงเลือกตั้งในวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงกลุ่มมวลชนจะทำอะไรก็ขอให้ระวังว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์การเลือกตั้งได้โฟนอินหรือขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงให้พรรคการเมืองจะถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ถือว่าทำได้ โดยขอให้ดูตามข้อเท็จจริง แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้วอะไรที่ก้ำกึ่งก็ควรระแวดระวัง เพราะเสี่ยงกับการร้องเรียน อีกทั้งต้องดูว่าอำนาจหน้าที่ของ กก.บห.พรรคทำอะไรได้บ้าง โดยหลักคือการณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส่วนผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้งได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง แต่กลับทำหน้าที่เหมือนเป็น กก.บห.พรรคก็อาจมีความเสี่ยงที่จะทำผิด แต่ทุกอย่างก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป
กำลังโหลดความคิดเห็น