รัฐบาล ผวากระแสทุ่มงบทิ้งทวน เข็น “ปณิธาน” ออกโรงแจง 5 เหตุแก้เกี้ยว ยันข้อมูลสำนักงบฯ จ่ายจริงแค่หมื่นล้าน ปัดเทกระจาดแสนล้านถือเป็นงบผูกพันข้ามปี โทษสื่อตามระเบียบไปบวกเพิ่มให้ดูหวือหวา
วันนี้ (4 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ว่า การประชุม ครม.ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง มีวาระเพื่อพิจารณา 155 วาระ โดยเป็นวาระจร 53 วาระ ซี่งไม่ได้ถือว่าเป็นวาระที่มากจนผิดปกติ เอกสารที่รัฐมนตรีไม่ค่อยได้เห็น เพราะเป็นวาระจรนั้นก็ไม่มาก แต่วาระปกติที่พิจารณาจะมาก คือ 102 วาระ ซึ่งก็ถือเป็น ครม.อนุมัติในหลักการค่อนข้างมาก เห็นเอกสารล่วงหน้า อย่างเรื่อง งบพัฒนารัฐวิสาหกิจที่อนุมัติล่วงหน้าไป 4 แสนกว่าล้าน และบางตัวเป็นงบผูกพัน งบประจำปี ในช่วงเวลาขณะนี้ส่วนใหญ่จะขอผูกพันไปยันปีหน้า และอาจจะกลับเข้ามา ส่วนที่อนุมัติในหลักการไปหลายโครงการแล้วนั้น เป็นการบวกตัวเลขที่ซ้ำซ้อนทำให้ตัวเลขโดยรวมดูเหมือนจะสูงเป็นแสนล้านและ ทางสำนักงบประมาณได้ยืนยันตัวเลข มาว่าของบกลางในรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินเพื่อกรณี จำเป็นเร่งด่วนมีหลายโครงการ โดยตัวเลขอยู่ที่ 13,745.0939 ล้านบาท ไม่ใช่เป็นแสนล้านตามที่เป็นข่าว
นายปณิธาน กล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลตั้งใจที่จะให้เกิดความต่อเนื่องในการที่จะดำเนินงานที่ได้แถลงไป และมีนโยบายไปชัดเจน และไม่อยากให้โครงการเร่งด่วนหายโครงการที่เป็นโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ ประสบภัย โครงการที่แก้ปัญหาตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซึ่งเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สูงมากเป็นลำดับที่ 2 ในงบกลางประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท ไม่ควรที่จะต้องมาสะดุด และเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องมีการอนุมัติ และหากจำเป็นก็สามารถขออนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ในบางช่วงที่เห็น ว่า เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพราะกฎหมายเลือกตั้ง อนุญาตให้รัฐบาลไปขอให้ กกต.มีการอนุมัติเพิ่มเติม หากเห็นว่าจำเป็น แต่ในชั้นนี้ทางรัฐบาลเองก็ไม่อยากรบกวน กกต.อยากให้โครงการต่างๆ เดินหน้า
“รัฐบาลจริงๆ ทางกฎหมายยังถือว่าเป็นรัฐบาล ภาษากฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งให้ครม.ทราบ ไม่ได้เรียกว่า รัฐบาลรักษาการ เป็นรัฐบาลที่ยัง มีอำนาจเต็ม แต่มีบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ ตามกฎหมายเลือกตั้ง บางอย่างอาจจะเป็นเรื่องของประเพณีปฏิบัติ ในแง่ความต่อเนื่อง เมื่อวานชัดเจนว่าครม.ต้องการเห็นความต่อเนื่องต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาโดย เฉพาะปัญหาเร่งด่วน” นายปณิธาน กล่าว
นายปณิธาน ระบุว่า ที่มีการอนุมัติงบประมาณจำนวนมากมาจากเหตุผล 5 ประการ คือ 1.รัฐบาลยุบสภาเร็วกว่ากำหนด ทำให้โครงการที่หน่วยราชการวางแผนว่าจะเสนอช่วงปลายปีต้องรวมกันมาในช่วงนี้ 2.หลายโครงการเป็นงบผูกพันข้ามปีไม่ควรจะมานับรวมด้วย 3.รัฐบาลมีแผนปรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ 4.มีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นใช้เงินเยียวยากว่า 1 พันล้าน และ 5.เกิดการสู้รบแนวชายแดนไทยกับกัมพูชาจึงต้องใช้เงินนับพันล้านซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ
นายปณิธาน กล่าวว่า ในระหว่างการประชุม ครม.เมื่อหน่วยงานต่างๆ ขออนุมัติงบกลาง นายกรัฐมนตรีได้สอบถามกระทรวงการคลังถึงจำนวนงบกลางในตอนนี้ว่าเหลือแค่ไหนและแสดงความเป็นห่วงว่าเหลือไม่มาก แต่หลายหน่วยงานที่เสนอในช่วงนี้ถือว่าเร่งด่วนและจำเป็น
สำหรับการอนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นรวมทั้งสิ้น 13,745.0939 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1.กระทรวงแรงงาน จำนวน 262.0800 ล้านบาท โดยคุ้มครองประกันสินทรัพย์ 95 ล้านบาท โครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาอาชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ 67.08 ล้านบาท โครงการศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ 100 ล้านบาท 2.ศอ.บต.จำนวน 190.1880 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนหมู่บ้านชายแดนภาคใต้ 180.6880 ล้านบาท การปฏิบัติงานด้านการข่าวในจังหวัดชายแดนใต้ 9.5000 ล้านบาท 3.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 237.0059 ล้านบาท การช่วยเหลือเยียวยาส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง จำนวน 212.6559 ล้านบาท การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ชุมนุม พื้นที่ กทม.5.5000 ล้านบาท โครงการประชาวิวัฒน์ผู้หาบเร่แผลลอย 18.8500 ล้านบาท
4.กระทรวงการคลัง จำนวน 740 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการบ้าน ธอส.เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก 500 ล้านบาท มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยปี 2553 และ 2554 เพิ่มเติม 240 ล้านบาท 5.สปน.จำนวน 149.5000 เป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมการจัดการศพผู้สูงอายุ 6.กระทรวงวัฒนธรรมจำนวน 72.3500 เป็นค่าบูรณะ/ซ่อมแซมโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
7.สตช.จำนวน 171.1800 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการกรุงเทพเมืองปลอดภัย (ประชาวิวัฒน์) 123.6800 ล้านบาท โครงการเช่ารถภารกิจถวายความปลอดภัย 7.5000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่พักอาศัย 40 ล้านบาท 8.คชอ.ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 1385.6000 ล้านบาท
9.กระทรวงสาธารณสุข ค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข จำนวน 4200 ล้านบาท 10.กระทรวงพาณิชย์ โครงการมหกรรมลดค่าครองชีพ 169 ล้านบาท 11.กระทรวงกลาโหม จำนวน 1806 ล้านบาท แบ่งเป็นการปรับค่าเบี้ยเลี้ยงทหารพราน 172 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการป้องกันชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน 359 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดหากระสุนสำรองคงคลัง 920 ล้านบาท
12.กกต.ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง 3164.8000 ล้านบาท 13.กระทรวงเกษตรฯ จำนวน 1166.3900 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยราษฎรโครงการเขื่อนน้ำอูน จำนวน 86.7000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยศัตรูพืช 439.3300 (โรคไหม้คอรวง) แนวทางควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 385 ล้านบาท และการช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย 2553 จำนวน 255.3600