“สุวิทย์” ยัน คกก.ดูแลปัญหาปราสาทพระวิหารไม่ซ้ำซ้อนคณะทำงานชุดเดิม พร้อมเดินหน้าเจรจาประเทศภาคีสมาชิกมรดกโลก ตั้งเป้ากรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ปัดตอบสู้คดีศาลโลกเกรงกระทบรูปคดี ปล่อย “บัวแก้ว” แจงเอง
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งคณะกรรมการดูแลปัญหาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า เป็นทีมงานที่จะไปทำงานการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารที่จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเราจะต้องมีการเตรียมกระบวนการขั้นตอนข้อมูลต่างๆ ที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับคณะกรรมการมรดกโลก และคิดว่าเรามีประเด็นปัญหา ข้อเท็จจริงต่างๆ ค่อนข้างมากที่จะไปรวบรวมนำเสนอ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะต้องมีขั้นตอนต่อเนื่องกัน เพราะในส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ทางคณะกรรมการส่วนใหญ่จะทราบปัญหาดีว่าปัญหาอยู่ตรงไหน อย่างไร และสุดท้ายเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการชุดนี้ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งและเกิดปัญหาความรุนแรงจนทำให้เกิดเสียเลือดเนื้อและชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของคณะกรรมการมรดกโลกและภาคีอนุสัญญามรดกโลก
นายสุวิทย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีคณะกรรมการดูแลตรงนี้ มีแต่คณะผู้แทนไทย เวลาไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น ฉะนั้น กระบวนการเตรียมการและรูปแบบจะเป็นคนละรูปแบบกัน ตอนนี้เมื่อมีคณะทำงานที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติมนอกเหนือจากอนุกรรมการภายใต้คณะอนุกรรมการมรดกโลกคิดว่าจะครอบคลุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นที่จะพูดคุยกับทางกัมพูชาในวันที่ 25 พ.ค.นี้คืออะไร นายสุวิทย์กล่าวว่า คงจะคุยกันในกระบวนการขั้นตอนที่จะมีการพิจารณากันในเดือนมิถุนายน โดยจะดูว่าไทยกับกัมพูชาจะร่วมกันหาข้อยุติปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นสำหรับการดำเนินการที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณามรดกโลก
ส่วนข้อเสนอของไทยคืออะไรนั้น นายสุวิทย์กล่าวว่า จริงๆ แล้วการดำเนินการในเรื่องนี้ทางผู้แทนพิเศษของผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกที่มาเมืองไทย ได้บอกกับนายกรัฐมนตรีว่า การประชุมของทั้งสองฝ่ายเป็นการประชุมที่จะมีเงื่อนไขในการดำเนินการเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกันและหาทางออกร่วมกันก่อนที่มีการพิจารณาในที่ประชุมมรดกโลก ซึ่งจะนำไปสู่การเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาในเวทีมรดกโลก ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นของผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกที่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อมีประเด็นในการเลื่อนการพิจาณาดังกล่าวทำให้ทางกัมพูชาเดินแผนร้องไปที่ศาลโลกเพื่อให้มีการเคลื่อนทหารออกจากรอบพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร นายสุวิทย์กล่าวว่า เรื่องศาลโลกกัมพูชาพูดมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาพูดตอนนี้ และเขาก็ไปดำเนินการ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องดูแลเรื่องของศาลโลก
ต่อข้อถามว่าการขอคุ้มครองชั่วคราวให้ไทยเคลื่อนทหารออกจากรอบพื้นที่ปราสามพระวิหารในพื้นที่ 4.6 ตางรางกิโลเมตร จะส่งผลต่อคณะกรรมการมรดกโลกหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาลโลกต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจง ตนไม่สามารถก้าวล่วงไปได้ แต่ในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลก เราก็ทำงาน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางศาล กระทรวงการต่างประเทศควรชี้แจงเอง เพราะข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศมีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากตนพูดอะไรในขณะนี้อาจะมีผลต่อรูปคดีที่ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ฉะนั้น ตนคงพูดในเฉพาะคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาต่างๆ ในเวทีมรดกโลกขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมรดกโลก 20 คน รวมทั้งกัมพูชาด้วย จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งคิดว่าทุกคนเห็นปัญหาแล้วในสิ่งที่เราบอกตั้งแต่แรกว่าการขึ้นทะเบียน โดยที่ยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องของเขตแดนและขอบเขตการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ภายใต้เงื่อนไขอนุสัญญาและกฎกติกาที่กำหนดไว้ ก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาต่อไปได้ รวมทั้งรายละเอียดของแผนบริหารจัดการ ถ้าขอบเขตยังไม่ชัดเจน แผนบริหารจะชัดเจนคงเป็นไปไม่ได้
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า การเดินทางไปฝรั่งเศสคราวนี้ ไม่ได้ไปดำเนินการเรื่องมรดกโลกโดยตรง แต่ไปในฐานะผู้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ในส่วนของคณะกรรมการองค์กรวินัยเอกชนของยูเนสโก
ส่ในจะใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกด้วยหรือไม่นั้น นายสุวิทย์กล่าวว่า ถ้าเจอเพื่อนๆ ที่เป็นสมาชิกก็จะพูดคุยถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามทำความเข้าใจกับเขาอีกทีว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร เพราะอะไร เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นวันนี้ต้องยอมรับว่าก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องความตรึงเครียด หรือความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา จนมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกก็มีการปิดตัวไม่ให้มีการท่องเที่ยว จากนั้นก็มีเหตุการณ์ตึงเครียดและการปะทะกันถึง 7-8 ครั้งบริเวณชายแดนและบริเวณพื้นที่ในปราสาทพระวิหาร ดังนั้น เห็นชัดเจนว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกทำให้เกิดปัญหาและการปะทะกัน จนเสียเลือดเนื้อ ชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน