xs
xsm
sm
md
lg

คชอ.ชงของบ ครม.2.1 พันล้าน ฟื้นฟูภัยพิบัติใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาทิตย์  วงศ์หนองเตย
ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ของบ ครม.2.1 พันล้านบาท ฟื้นฟูภัยพิบัติภาคใต้ ด้านคณะทำงานเขื่อนปากมูล เตรียมเสนอ ครม. แนวทางศึกษาเปิด-ปิดเขื่อนอย่างละ 1 ปี เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบระบบนิเวศน์วิทยา การใช้น้ำ และ เกษตรกรรม หาข้อสรุปผลดีและเสีย เพื่อยุติปัญหาข้อโต้แย้ง

วันนี้ (25 เม.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ คชอ.ว่าที่ประชุมเตรียมเสนอขออนุมัติงบกลางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 2,100 ล้านบาท ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคมซ่อมแซมสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช 74 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย 250 ล้านบาท กรมทางหลวง 719 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 300 ล้านบาท กรมการศาสนา 79 ล้านบาท ทหารพัฒนา 50 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 32 ล้านบาท กรมพัฒนาที่ดิน 25 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 447 ล้านบาทและกรมชลประทาน ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง SP2 จำนวน 800 ล้านบาท

ทั้งนี้ การสร้างบ้านที่เสียหายทั้งหลังที่ประสบอุทกภัยใน 5 จังหวัดภาคใต้ 830 หลัง และจังหวัดสงขลาที่ประสบวาตภัยครั้งก่อน 116 หลัง รวมถึงบ้านที่เสียหายในจังหวัดภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืออีก 21 หลัง รวม 967 หลัง ซึ่งจากการสอบถามผู้ว่าราชการจังหวัดพบว่าบ้านที่มีความพร้อมในการก่อสร้างโดยไม่มีปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินมีจำนวน 617 หลัง

นายสาทิตย์ กล่าวว่าในการก่อสร้างบ้านเรือนได้รับความอนุเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโดยเป็นเงินบริจาคจากช่อง 3 จำนวน 200 หลัง มูลนิธิเพื่อนพึ่งพาฯยามยาก 150 หลัง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 212 หลัง ส่วนที่เหลือใช้เงินกองทุนผู้ประสบภัย สำหรับเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาทอนุมัติไปแล้ว 1.2 แสนราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 2 แสนราย คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้แล้วเสร็จทั้งหมด 3.2 แสนรายภายสิ้นเดือน เม.ย.นี้

ด้าน นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ หนึ่งในคณะกรรมการศึกษาเขื่อนปากมูล ที่มี นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานโดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ข้อสรุปถึงแนวทางในการศึกษาเรื่องปริมาณน้ำแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยให้กรอบเวลา 45 วันว่า ที่ประชุมมีแนวทางเสนอนายสาทิตย์ ในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล คือ ให้ศึกษาการเปิดและปิดเขื่อนเป็นเวลา 2 ปี โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 มี.ค.พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการตามข้อเสนอ

ทั้งนี้ ในการศึกษาจะดำเนินการ 2 รูปแบบ เพื่อการเปรียบเทียบผลดีและผลเสียเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีและมีผลกระทบน้อยที่สุด ระหว่างรูปแบบที่ 1 คือ ปิดประตูน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำอยู่ที่ 106 มลทก.เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบทางนิเวศน์วิทยา สัตว์น้ำ และ การใช้น้ำด้านเกษตรกรรมจะเป็นอย่างไร และ รูปแบบที่ 2 คือ เปิดประตูน้ำทุกบานเป็นระยะเวลา 1 ปีพร้อมกับศึกษาผลกระทบทางนิเวศน์วิทยา สัตว์น้ำ และการใช้น้ำด้านเกษตรกรรมว่าจะเป็นอย่างไร

นายพรชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องศึกษา 2 รูปแบบ เพราะที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลหรือสถิติการเปิดปิดน้ำเขื่อนปากมูลมาก่อน สำหรับรูปแบบการศึกษาดังกล่าวควรเริ่มดำเนินการภายในเดือน ต.ค.นี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย.2555 ตามรูปแบบการศึกษาที่ 1 และหลังจากนั้น เริ่มดำเนินการศึกษาในรูปแบบที่ 2 ต่อทันที สำหรับหน่วยงานกลางในการดำเนินการศึกษาควรเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือทาง ครม. ควรตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อจัดกระบวนการและวิธีวิจัยศึกษา

นายพรชัย กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการได้รับความเห็นชอบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น สนับสนุนการศึกษาเรื่องปริมาณน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น