xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาผ่านกฎหมายลูกเลือกตั้ง 3 ฉบับแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.ว.ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ประกอบการเลือกตั้ง ตามที่รัฐบาลเร่งรัดมา
สภาสูงถกกฎหมายลูกเลือกตั้ง 3 ฉบับ ตีตกมาตรา กมธ.วิฯ แก้ไขทุกฉบับ ก่อนผ่านวาระ 3 ได้สบาย

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ ในวาระ 2 และ 3 โดยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติแก้ไขเพิ่มเติมร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3 มาตรา คือ มาตรา 32/1 แก้ไขความในมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.ฉบับเดิม โดยกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ให้ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งต่อ กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง หรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง มาตรา 33/1 แก้ไขความในมาตรา 97 ในการเลือกตั้ง ส.ส. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะขอให้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนอยู่ ต้องมาลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตการเลือกตั้ง โดยต้องลงทะเบียนก่อนการเลือกตั้ง 30 วัน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบ 90 วัน และมาตรา 36/ 1 ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลัง พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดที่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วให้มีผลใช้ได้ต่อไป และอาจให้ลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงได้

ในส่วนมาตรา 32/1 ส.ว.หลายคนอภิปรายคัดค้านโดยเห็นว่า การให้ข้าราชการมีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งเพียงกลุ่มเดียว จะเป็นการตัดสิทธิประชาชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติ 82 ต่อ 33 เสียงไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเติมมาตรา 32/1 ของคณะกรรมาธิการฯ และให้คงร่างเดิมของสภาฯ และมีมติไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเติมมาตรา 33/1 ด้วยเสียง 81 ต่อ 32 เสียง จึงทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องถอนมาตรา 36/ 1 ออกไป จึงทำให้ทั้ง 3 มาตราที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แก้ไขเพิ่มเติมตกไปทั้งหมด และให้คงร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ประชุมพิจารณารายมาตราแล้วเสร็จ จึงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 115 ต่อ 3 งดออกเสียง 5 ซึ่งก็เท่ากับว่าวุฒิสภาไม่มีการแก้ไขร่างของสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่มาตราเดียว

ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดมาตรา 4 ว่าด้วยการให้ประธาน กกต.รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติ 72 ต่อ 40 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ และเห็นชอบตามร่างเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 114 ต่อ 4 เสียง

ขณะที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีมติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 ที่แก้ไขความในมาตรา 89 ของ พ.ร.บ.ฉบับเดิม โดยห้ามมิให้ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามให้เงิน ทรัพย์สินอันคำนวณเป็นเงินได้แก่บุคคล คณะบุคคลหรือนิติบุคคลเว้นแต่เป็นการให้ตามประเพณีตามหลักเกณฑ์ที่กกต.กำหนด และมาตรา 11 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ว่าด้วยการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง ซึ่ง ส.ว.หลายคนคัดค้าน เนื่องจากไม่มีความชัดเจนในนิยามคำว่า “ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง” สุดท้ายที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีมติแก้ไขทั้งสองมาตรา และมีมติเห็นชอบ ตามร่างเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 114 ต่อ 5 เสียง

ขั้นตอนจากนี้ก็จะมีการส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้ง 3 ฉบับกลับไปสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเพื่อรับทราบ โดยไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา





กำลังโหลดความคิดเห็น