xs
xsm
sm
md
lg

“นิคม” เมินลาออกชิงประธาน “สมชาย” ชี้ประมุขวุฒิฯ ต้องเป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคใด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคม ไวยรัชพานิช  (แฟ้มภาพ)
“นิคม” ย้ำไม่ลาอกจากตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา แม้ลงชิงตำแหน่งประธาน อ้างไม่มีกฎระเบียบห้าม ยันไม่เอื้อประโยชน์ใดๆ รับหาก ส.ว.สรรหาได้ครองเก้าอี้อีกสมัย อาจเกิดประเด็นขึ้นมาได้ ด้าน “สมชาย” ชี้ประธานคนใหม่ต้องเป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมือง

นายนิคม ไวรัชยพานิช รองประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ ที่มีข่าวว่า ส.ว.เลือกตั้งยังเสียงแตกในการเสนอชื่อ ขณะที่ ส.ว.สรรหา เตรียมเสนอชื่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ส.ว.สรรหาคนใหม่ เข้าชิงเพียงคนเดียวจะทำให้ตัดคะแนนกันเองของ ส.ว.เลือกตั้งหรือไม่ว่า ในระบอบประชาธิปไตยการเสนอชิงตำแหน่งประธานมีระเบียบขั้นตอนตามข้อบังคับการประชุม ตนเห็นว่าดีหากมีคนถูกเสนอชื่อมามากกว่าสองคน โดยการเลือกหากในครั้งแรกผู้รับการสรรหาไม่ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งจะนำคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนกันใหม่ จากนั้นใครได้คะแนนสูงสุดจะได้ตำแหน่งไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าว ส.ว.บางส่วนไม่พอใจที่ท่านยังคงอยู่ในตำแหน่งรองประธาน แต่จะลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานสภา นายนิคมกล่าวว่า แล้วแต่ใครจะคิด ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่ระบุว่ารองประธานต้องลาออกไปก่อนจึงจะลงสมัครได้ ในอดีตเคยมีรองประธานลงสมัครและเมื่อได้ตำแหน่งแล้วจึงลาออกจากตำแหน่งรองประธาน ตนไม่ได้กลัวพลาดแต่มองว่าต้องมีคนทำงานอยู่ หากตนลาออกจะเหลือรองประธานวุฒิสภาคนที่สองคนเดียวหากทำงานคนเดียว 6-7 ชั่วโมงคงทำงานลำบาก ขอยืนยันว่าไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ใคร ที่ผ่านมาการทำหน้าที่ประธานของตนได้พิสูจน์ความเป็นกลางแล้ว การเลือกก็ไม่จำเป็นต้องเลือกตนก็ได้เลือกคนอื่นก็ได้ แต่จะให้คนลาออกแล้วมีปัญหาการทำงานคงไม่เหมาะ จะมาอ้างเรื่องความชอบธรรมคงไม่เกี่ยวเพราะการลงคะแนนเสียงทุกคนมีเสียงเดียวเท่ากัน

ส่วนหากการเลือกครั้งนี้ได้ ส.ว.สรรหามาเป็นประธานอีกจะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่นั้น นายนิคมกล่าวว่า คงอาจจะมีประเด็นขึ้นมาบ้าง แต่โครงสร้างของรัฐธรรมนูญเขียนให้การดำรงตำแหน่ง ส.ว.สรรหาและเลือกตั้งดำรงตำแหน่งเหลื่อมกันอยู่แล้ว การทำหน้าที่ควรสร้างระบบที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากกว่า

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การเลือกประธานใหม่คงไม่พิจารณาว่ามาจากสรรหาหรือเลือกตั้งแต่ละคนอาจมีที่มาแตกต่างกัน แต่เมื่อทำงานแล้วจะมีอำนาจหน้าที่เท่ากัน การเลือกประธานจึงต้องพิจารณาจากคุณสมบัติประธานวุฒิสภาต้องเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง ไม่อยู่ในผลประโยชน์ทางการเมืองใด ต้องมีความรักชาติรักแผ่นดิน ปกป้องสถาบัน มีความเสียสละ เหมือนที่นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภาเคยปฏิบัติมา

ทั้งนี้ การพิจารณาอาจจะดูจากบุคคลที่มีชื่อในข่าวก่อนจากนั้นจะดูว่ายังมีผู้มีคุณสมบัติอีกหรือไม่ ตนเพิ่งทราบข่าวว่าอาจมีถึง 5-6 คนที่มีคุณสมบัติครบตามนั้น

ส่วนที่ ส.ว.เลือกตั้งเห็นว่าการเลือกประธานวุฒิสภาครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสของส.ว.เลือกตั้ง นายสมชายกล่าวว่า คงไม่มีปัญหาไม่ว่าจะได้ ส.ว.เลือกตั้งหรือสรรหามาเป็นประธาน ที่ผ่านมา ส.ว.อยู่ด้วยกันมาด้วยดี ไม่มีความจำเป็นว่าต้องเป็น ส.ว.ที่มีที่มาแบบใดมาเป็นประธานวุฒิสภา อย่างไรก็ดี การเลือกประธานในปี 2551 มีเวลาการเตรียมการเลือกประธานพอสมควรโดยมีการเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์และมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่สุดท้ายจึงได้นายประสพสุข บุญเดช มาเป็นประธานด้วยการเลือกตั้งที่เป็นธรรมตนไม่คิดว่าการเลือกครั้งนี้จะมีการปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า เสียงของ 40 ส.ว.จะมาเป็นเสียงตัดสินในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า คงไม่ใช่น่าจะเป็นเรื่องของสภาทั้งหมด ซึ่งจะมีการพูดคุยกันทั้ง ส.ว.เลือกตั้งและ ส.ว.สรรหาที่จะเลือกคนที่ดีที่สุดมาทำหน้าที่ ในห่วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง วุฒิสภามีความสำคัญในการทำหน้าที่ หากเกิดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยคงไม่มีปัญหา แต่หากต้องมีการเลือกตั้งหลายหนเหมือนปี 2549 วุฒิสภาต้องทำหน้าที่รักษาการเป็นเวลานาน วุฒิสภามีความสำคัญและประธานวุฒิสภาจะต้องรักษาการประธานรัฐสภาด้วย อย่งไรก็ดีเบื้องต้นตนไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร

ต่อข้อถามว่า กลุ่ม 40 ส.ว.จะมีการพูดคุยเรื่องตำแหน่งประธานวุฒิสภาหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า คงมีการคุยทั้ง ส.ว.สรรหา ส.ว.เลือกตั้งทุกคน และคงคุยมากกว่าเดิม กลุ่มฯพร้อมจะคุยกับทุกฝ่ายรวมถึงผู้ที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อ เพราะต้องการฟังวิสัยทัศน์ เพื่อยืนยันความเชื่อมั่นในการเป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่ยุ่งเกี่ยวทั้งต่อหน้าและลับหลังต่อผลประโยชน์ทางการเมือง อาจจะมองว่าเรากำหนดสเปกสูงแต่ประธานวุฒิสภาเป็นสัญลักษณ์ที่สูงเช่นนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น