รองประธานวุฒิสภา ระบุกฎหมายลูก 3 ฉบับที่ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุม เพราะส.ว.ใหม่เพิ่งทำหน้าที่วันแรก ปัดมีการรับงานยื้อเวลายุบสภา เชื่อพิจารณาจบ 25 เม.ย. ทันตามกรอบที่นายกฯ วางไว้ “ส.ว.สมชาย” ระบุต้องดูเนื้อหากฎหมาย หากมีข้อบกพร่องก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง
วันนี้ (18 เม.ย.) นายนิคม ไวรัชยพานิช รองประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า สาเหตุที่วุฒิสภายังไม่บรรจุวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสำหรับการเลือกตั้งทั้ง 3 ฉบับในการประชุมวันนี้ (18 เม.ย.) ด้วยเหตุที่มีวันหยุดติดต่อกันทำให้กรรมาธิการพิจารณาไม่ทัน การประชุมวันนี้ที่ประชุมจะให้ ส.ว.สรรหาใหม่ 73 คนปฏิญาณตน จากนั้นจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อจัดสรร ส.ว.สรรหาไปทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 22 คณะ โดยกรรมาธิการจะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการเลือก ส.ว.ไปทำหน้าที่ โดย ส.ว.แต่ละรายจะมีสิทธิเลือกไปทำหน้าที่ในกรรมาธิการคนละ 2 คณะ จากนั้นจะนำมาขอความเห็นชอบจากที่ประชุมในวันที่ 22 เม.ย. ทั้งนี้ เหตุที่ต้องเร่งพิจารณาเพราะเกรงว่าหากปิดสมัยประชุมแล้วไม่สามารถดำเนินการได้
ส่วนที่มีความเห็นจาก ส.ว.เลือกตั้งบางส่วนที่เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าไม่มีเรื่องซับซ้อนที่วุฒิสภาเลื่อนการพิจารณาออกไปจะถือเป็นการเตะถ่วงหรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะเป็นการเตะถ่วง สังเกตจากเวลาที่ผ่านมา 3 ปี หากมีเรื่องใดให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้วุฒิสภาไม่เคยนิ่งนอนใจที่จะพิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาได้ภายในวันที่ 22 เม.ย.
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเห็นจาก ส.ส.ฝ่ายค้านว่ามี ส.ว.รับงานเพื่อให้ยืดเวลาพิจารณากฎหมายลูกออกไปเพื่อประโยชน์ในการขยายเวลายุบสภา นายนิคมกล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างช้าการพิจารณาเรื่องนี้ไม่เกินวันที่ 25 เม.ย.จากนั้นจะส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่ากรอบเวลาจะอยู่ในช่วงเวลายุบสภาที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้
“ผมคิดว่าคงไม่มี ส.ว.คนไหนคิดอย่างนั้น หรือไปรับงาน เพราะทุกฝ่ายขานรับกับนายกฯ ที่จะยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมซึ่งทุกคนก็รู้แล้วว่าจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่”
ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ข้อกังวลเรื่องการพิจารณากฎหมายลูกพิจารณาไม่เสร็จ อาจกระทบถึงการเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งตนเห็นว่าสมัยประชุมนี้มีถึงวันที่ 20 พ.ค. วุฒิสภาเป็นอิสระที่จะพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงถึงการความปรองดองไม่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง หากกฎหมายมีข้อบกพร่องวุฒิสภาคงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จหากมีไม่มีปัญหาน่าจะผ่านการพิจารณาได้ทันที
“ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เรื่องที่มีข่าวว่ามี ส.ว.รับงานให้ยืดเวลาพิจารณาออกไป เพราะ ส.ว.ทำงานด้วยความรับผิดชอบ ดูจากกรอบเวลาการพิจารณาน่าจะทันตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศจะยุบสภา ส.ว.ไม่คิดจะเตะถ่วงอะไร แต่ขอย้ำว่าวุฒิสภาเป็นอิสระเป็นกลางรู้หน้าที่และพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ”