รองเลขาฯ นายกฯ ระบุอุทกภัยใต้ดีขึ้น ย้ำครม.อนุมัติ 935 ล.เร่งซ่อมถนน ด้าน “มารค ยันกำชับเงินช่วยเหลือต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ชี้คนได้สิทธิ์ต้องท่วมฉับพลัน-ขังหลายวัน-ถูกพายุ ดินถล่ม ชี้ถ้าถูกท่วมแต่ไม่เสียทรัพย์ก็ไม่ได้ตังค์ ขู่มีกรณีศึกษาศาลสั่งขังพวกมั่วนิ่มขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว ซัดบางพวกเอาความเดือดร้อนมาเล่นการเมือง
วันนี้ (13 เม.ย.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ดีขึ้นตามลำดับ หลังวานนี้ (12 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 935 ล้านบาท เพื่อซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมที่ชำรุดเสียหาย บางเส้นทางรถยังไม่สามารถสัญจรได้ ส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นไปด้วยความลำบาก จึงต้องเร่งซ่อมแซมให้เชื่อมต่อเส้นทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประสบภัยครอบครัวละ 5,000 บาท ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่ คอช.กำหนด คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินได้หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนปัญหาราคาปุ๋ยแพง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ จัดหาปุ๋ยราคาถูก 1 แสนตัน จำหน่ายให้เกษตรกร โดยมอบหมายให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดรายละเอียดให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น
ขณะที่ วานนี้ (12 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ถึงกรณีปัญหาการช่วยเหลือเงินเยียวจากน้ำท่วมปลายปี 2553 ว่า ทุกได้กำชับทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ต้องเข้าใจว่า เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นการดำเนินการครั้งแรกเมื่อตอนปลายปีที่แล้วที่มากับหลักเกณฑ์ของเงื่อนไขผู้ประสบภัยซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ประสบภัยตามปกติ เรามีน้ำท่วมมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ และบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมไม่ได้สิทธิ์ตรงนี้ แต่คนที่จะได้สิทธิ์ตรงนี้คือ 1.คนที่น้ำมาแบบฉับพลันไม่สามารถที่จะมีเวลาป้องกัน และสูญเสียทรัพย์สิน 2.ถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ตายตัวชัดเจน ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และ 3.ถูกภัยอื่นเช่นพายุทำบ้านพัง ดินถล่ม แต่ถ้าเป็นกรณีอื่นที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม แต่ทรัพย์สินไม่เสียหายเพราะมีเวลาในการเตรียมการ อาจจะท่วมขังเพียง 1-2 วัน อย่างนี้ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้ ถ้าเราบอกว่าที่ จ.นครศรีธรรมราชจะต้องได้รับสิทธิ์นี้ อีก 60 กว่าจังหวัด ก็ต้องไปทำกันใหม่หมด เพราะว่าเราต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน ความจริงสำหรับฝ่ายการเมืองง่ายที่สุดว่าจะจ่ายไปอย่างไรก็ได้ เพราะว่าถูกใจคน
“เราต้องปกป้องประโยชน์ของประเทศ และต้องการให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน ส่วนใครที่เห็นว่าการวินิจฉัยกลั่นกรองไม่ถูกต้อง ให้นำหลักฐานพิสูจน์ แล้วจะยินดีที่จะจ่ายให้ แต่ขณะเดียวกันใครที่ไปรับรองคนซึ่งไม่มีสิทธิ์ และยังยืนยันอีกเราก็จะตรวจสอบให้แต่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย ไม่มินั้นแล้วจะมีปัญหามาก ผมจะเทียบเคียงให้เห็นว่า ศาลที่ จ.พะเยา ได้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา คนที่ไปรับรองเรื่องของการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จะขอรับเงินประกันรายได้ และได้ตรวจสอบพบความเป็นจริงว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาเคยพูดว่ามีการรับรอง โดยใช้วีการสวมสิทธิ์เข้ามาจะดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนใหญ่ถ้ามีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เปิดโอกาสให้สอบทานอีกครั้งหนึ่ง โดยนำข้อมูลมายันกันเพราะอยู่ในช่วงของการทำงาน และในหลายพื้นที่จึงมีการถอนชื่ออกไป แต่ถ้ามีการยืนยันแล้วพบว่าเป็นเท็จก็จะดำเนินการ แต่เราต้องดูด้วยว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า แต่ถ้าจงใจก็จะอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนกรณีของ นายยงยศ แก้วเขียว กำนันตำบลเขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยจะเคลียร์ปัญหาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ดูตามข้อเท็จจริง ส่วนกรณีที่ชาวบ้านคิดว่าเพื่อนบ้านได้แต่ตัวเองนั้น คือสิ่งที่ตนอายกจะย้ำว่าต้องเป็นไปตามเกณฑ์คือการที่บ้านติดกันไม่ได้แปลว่าจะต้องได้เหมือนกัน เพราะถ้าไล่ติดกันไปเรื่อยๆคงต้องทั้งประเทศ จึงต้องมีการขีดเส้นที่ใดที่หนึ่งว่าทำไมบ้านนี้ได้อีกบ้านหนึ่งไม่ได้
เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกำนันยงยศ จะมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เห็นว่าเมื่อวานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เมื่อถามต่อว่า การที่นำประชาชนมาร้องเรียนจะส่งผลต่อฐานเสียงภาคใต้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ตนว่าประชาชนคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริง และตนยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไม่ไปจ่ายเงินให้คนที่เดือดร้อน รัฐบาลอยากจะจ่ายให้ทุกคนและตั้งใจจ่ายให้ทุกคน แต่รัฐบาลไม่มีสิทธินำเงินภาษีอากรของประชาชนไปจ่ายให้คนไม่มีสิทธิ์
“มีความพยายามธรรมดาครับ มีความเคลื่อนไหวของบางส่วน เอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเล่นการเมืองครับ อาจจะใกล้เลือกตั้งมั้งครับ” นายกฯ กล่าวถึงกรณีที่มีการพยายามปั่นหัวประชาชน
เมื่อถามว่า มีการใช้กฎหมู่ที่บีบบังคับผู้ใหญ่บ้านและประชาชนเห็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนยืนยันว่ารัฐบาลดำเนินการตามแนวทาวที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ของส่วนรวมและหวังว่าประชาชนจะเข้าใจ และเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากจะเข้าใจ เพราะว่าข้อเท็จจริงบางอย่างตรวจสอบเองกับประชาชนได้ สำหรับแรงกดดันตนเข้าใจดีว่ามี ว่าเวลาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันและปรากฏว่า คนหนึ่งได้แต่อีกคนไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จะเกิดความเกรงใจกัน ในบางจังหวัดจึงทำถึงขั้นว่าคนมีสิทธิ์ก็รับไป แต่รับไปแล้วต้องไปแบ่งคนไม่มีสิทธิ์ ในหมู่เดียวกัน จึงเฉลี่ยว่าในที่สุดไปไปคนละ 3 พันกว่า แต่ถือเป็นเรื่องสิทธิคนที่ได้รับเงินว่าถ้าจะแบ่งปันคนอื่นก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมอยู่แล้ว และที่เป็นเรื่องขณะนี้เพราะไม่ให้เงิน เพราะว่ามีการไปติดตามข้อเท็จจริงมาเหมือนเพราะเซ็นรับมาเพราะความเกรงใจกัน เราจึงแจ้งไปว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ จะเป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าเขาทบทวนแก้ไขไปก็จบ แต่ถ้ายืนยันมาอีกครั้งหนึ่งว่ามีสิทธิ์จริงต้องตรวจสอบให้ แต่ถ้ายืนยันมาอีกครั้งแล้วถ้าตรวจสอบพบว่าผิดจริงคนที่ยืนยันมาต้องได้รับผิดชอบทางกฎหมาย