การบริหารประเทศภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ เดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย ก่อนที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนกลับไปเลือกตั้งกันใหม่ตามกติกา
โดยครั้งนี้มีเงื่อน “ยุบสภา” ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะลงมือทำในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค.
หลังที่นายอภิสิทธิ์ประกาศวรรคทองดังกล่าว ก่อให้เกิดการขยับความเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อรับมือกับสถานการณ์การเลือกตั้งที่มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ของหลายๆ ฝ่าย
พรรคการเมืองใหญ่ น้อย ทุกป้อมค่าย ชักธงรบเชิดฉิ่งตีกลอง กันพัลวัน ทั้งจัดทัพผู้สมัคร เร่งคิดค้นนโยบายเป็นการใหญ่ เกิดปรากฎการณ์ควบรวมพรรค จับมือกันเป็นพันธมิตรหลังเลือกตั้ง ของพรรคการเมืองขนาดเล็ก และขนาดกลาง
ขณะเดียวกันก็มีการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่แกะกล่อง เช่น “พรรครักษ์สันติ” ของร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรมว.มหาดไทย ที่โด่งดังจากนโยบายจัดระเบียบสังคม หวังเข้ามาเจาะตลาดฐานเสียงจากคนกรุงเทพฯชั้นใน
องคาพยพต่างๆ ในเชิงบริหารที่มีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวพัน จึงดูเหมือนว่าจะชะงักงันไปหมด เมื่อการเมืองหันความสนใจไปที่อนาคตการเลือกตั้ง การบริหารงานต่างๆที่อยู่ในมือบางครั้งจึงเกิดอาการ “เกียร์ว่าง” หรือยื้อให้อยู่ตัวไป โดยไม่มีอะไรใหม่มาเพิ่มเติม หรือพัฒนากว่าที่เป็นอยู่ ฝ่ายราชการ หน่วยงานต่างๆ ก็ต้องใส่เกียร์ว่างตามไปโดยปริยาย ในขณะที่บางหน่วยถึงขั้นใส่เกียร์ถอย เพื่อรอดูสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นในห้วงถัดไป
ทั้งนี้จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านทางสำนักโพลต่างๆ ในช่วงหลัง หรือช่วงต้นปี 2554 เป็นต้นมา ปรากฏว่าคะแนนนิยมของรัฐบาล “ดีแต่พูด”มีแต่ “ทรงกับทรุด” ยิ่งในช่วงที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ราคาสินค้าหลายตัวขยับปรับตัวสูงขึ้น สืบเนื่องจากวิกฤติการณ์ปัญหาราคาน้ำมันปาล์ม
ยิ่งทำให้กระแสของรัฐบาลต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ชนิดกู่ไม่กลับ
จะประคับประคอง หรือหาทางเรียกคะแนนกลับมาอย่างไร ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเกินไปเสียแล้ว เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมันใกล้ตัวกับชาวบ้านร้านตลาด ได้รับผลกระทบเข้าตัวกันไปเต็มๆ เสียงก่นจึงด่าดังตะพึดตะพือไปทั่วประเทศ
เมื่อไล่เรียงโฟกัสไปดูที่การบริหารงานด้านต่างๆ ของรัฐบาลแล้ว ยิ่งนานวัน ยิ่งปรากฏเห็นความจริงแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ จนส่งผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงแล้ว ยังพบข่าวคาวฉาวโฉ่ ทุจริตคอรัปชัน ออกมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีเสียงครหานินทาตลอดมาถึงเรื่องดังกล่าว
รัฐบาลผสมในรูปแบบของการเมืองยุคเก่า เข้ามาบริหารประเทศแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ผสานประโยชน์กันเพื่อประคับประคองรัฐบาลให้อยู่รอด ตลอดการบริหารประเทศกว่า 2 ปี ที่ผ่านมา ภาพความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน แต่เงื่อนไขหลักที่ทุกคนเชื่อว่าทำให้ยังอยู่ด้วยกันได้
ก็คือ เรื่องงบประมาณ หากไม่มีเรื่องนี้แล้วไซร้ป่านนี้คงต้องกลับไปบ้านใครบ้านมัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นที่ครหา นินทา แบบไม่รู้จบ หยิบขึ้นมาพูดเมื่อไหร่ ทุกคนก็พยักบอกใช่แทบทุกครั้ง
เมื่อมองไปที่การบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะเหตุการณ์อุกทกภัยครั้งล่าสุดที่ภาคใต้จมใต้น้ำ พบว่ามีความล่าช้าไม่ทันการณ์ แทบไม่แตกต่างจากสถานการณ์เดียวกันในปีที่แล้ว คราวก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน มาคราวนี้เกิดขึ้นที่ภาคใต้ ฐานเสียงที่หนาแน่นของพรรคประชาธิปัตย์เอง แต่การแก้ปัญหากลับล่าช้าไม่ต่างกัน ถูกโจมตีทั้งเรื่องการเตือนภัย และมาตรการช่วยเหลือแบบเสียไม่ได้
ล่าช้าเหมือนเต่าป่วย!!
ทางด้านปัญหาเรื้อรังความขัดแย้งภายในประเทศยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ รัฐบาลได้สร้างคำถามขึ้นมากมายให้กับผู้ชุมนุมและคนไทยทั้งประเทศว่า การดำเนินการที่หลายอย่างที่ผ่านมาของรัฐบาลถูกต้องจริงหรือไม่ มันมีหลายอย่างชวนให้สงสัยว่าความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น ความบาดเจ็บ สูญเสียต่างๆ จนเป็นเหตุการณ์ช็อกโลก รัฐบาลหรือใครกันแน่ที่มีส่วนอย่างสำคัญ เพราะถึงวันนี้เวลาผ่านล่วงเลยมานานนับเดือน นับปี แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่ปราศจากความกังขาให้แก่ประชาชน และคนทั่วโลก
ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศก็เป็นจุดด้อยให้โจมตีอย่างหนัก นับตั้งแต่การเอานายกษิต ภิรมย์ อดีตเครือข่ายพันธมิตรประชาเพื่อประชาธิปไตย มานั่งเป็นรัฐมนตรี นอกจากการไล่ล่าตามล้างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อริเบอร์ 1 ของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ก็ไม่มีนโยบายอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เอาแต่เดินตามตูดสหรัฐอเมริกา ปล่อยให้เข้ามาแทรกแซงตั้งข้อสันนิษฐานว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นแหล่งซ่องสุมผู้ก่อการร้าย ในขณะที่การบริหารจัดการสร้างสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลได้เปลี่ยนจากการใช้ดอกไม้เจรจามาเป็นใช้กระบอกปืนแทน
บวกกับกระแส “โหวตโน”ตามข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯมาแรงขึ้นทุกขณะ ยิ่งนานยิ่งได้รับการขานรับจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเชื่อว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งจริงๆแล้ว จะมีประชาชนกาบัตรไม่เลือกพรรคการเมืองมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนต่อฐานเสียงของประชาธิปัตย์หนักกว่าใคร
จากสารพัดปัจจัย เงื่อนไขที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ “เอแบคโพล” ที่นินทากันว่าอิงแอบแนบชิดกับคนในพรรคประชาธิปัตย์ ยังออกมาฟันธงเลยว่าคะแนนนิยมของรัฐบาล หรือของพรรคประชาธิปัตย์ ตกต่ำรูดราจนพ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทย ศัตรูตัวฉกาจตลอดกาลไปแล้ว
แม้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์เรื่อยไปจนกระทั่งลูกหาบ จะยังคงออกมาตะเบงเสียงแสดงความมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะชนะถล่มทลายบ้าง ได้รับเลือกตั้งเสียงข้างมากบ้าง แต่ความจริงในใจอาจหวั่นไหว เข้าทำนอง ปากกล้าขาสั่น ยิ่งระยะหลังเสียงของแต่ละคนยิ่งแปลกๆ แปร่งๆ คล้ายมีปมในใจบางอย่าง
ตัวเลขส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยมีเป็นกอบเป็นกำอาจจะลดลงเยอะแยะจนใจหายวาบ อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เปลี่ยนระบบมาเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ที่เคยสร้างความยิ่งใหญ่ถล่มทลายให้พรรคเพื่อไทยมาแล้ว
การเลือกตั้งระบบนี้จะทำให้ปฏิบัติการ คนแข็งอุ้มคนอ่อน ใช้ไม่ได้อีกต่อไป การชนะเลือกตั้งแบบยกทีมไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เพราะเวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง ต้องลงสนามแลกหมัดชนิดตัวต่อตัว
เด็กรุ่นใหม่ ส.ส.สมัยแรกถอดด้ามของพรรคประชาธิปัตย์หลายคน คงต้องเจอการต่อสู้รูปแบบใหม่เหงื่อไหลมากกว่าเดิม ไม่แน่ใจว่าหน้าใหม่ๆ อย่างบุญยอด สุขถิ่นไทย หรือ สกลธี ภัททิยะกุล ส.ส.กทม. จะพาตัวเองกลับเข้าสภาอีกครั้งได้หรือไม่ หรืออาจจะร่วงกราวรูดกันไปเสียหมด
เพราะการเลือกตั้งระบบนี้ถ้าเจาะลึกลงไปที่ฐานเสียงตามพื้นที่แล้วพบว่าพรรคเพื่อไทยมีความเหนียวแน่นกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่หวั่นไหววูบวาบ ยิ่งวันนี้บางคนตีนลอยหลงตัวเอง ยิ่งไปกันใหญ่
สถานการณ์การเมืองที่กำลังตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ณ ยามนี้ นักการเมืองเจนจัดเก๋าเกมในพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมรู้ทิศทางลมดี แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ได้ประกาศจะยุบสภาเหมือนเป็นสัญญาประชาคมไปแล้ว ขณะเดียวกันกฎหมายลูกก็กำลังจะผ่านสภา
จะทำอะไรตอนนี้ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว คงเหลือเพียงทางออกเดียว คือหาเหตุผลมาอ้างเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อหวังฟลุ๊กรอให้กระแสดีๆ มาช่วยเท่านั้น!!