กกต.ยกคำร้อง 3 เรื่องรวด ! ชี้ "พนิช" ติดคุกเขมรไม่ส่งผลให้พ้นสภาพส.ส. เหตุคำพิพากษาศาลต่างประเทศไม่ถือเป็นคำพิพากษาศาลไทยตามรัฐธรรมนูญ และคดีความยังไม่สิ้นสุดหลังได้ยื่นอุทธรณ์ ทางด้าน "วิรัช" ก็รอดจากกรณีเข้าพบ "พสิษฐ์" แทรกแซงคดียุบปชป. เนื่องจาก"พสิษฐ์" ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยคดี ขณะเดียวกัน "มาร์ค-กษิต" รับเงินค่าบรรยายที่ปปช. เป็นไปตามระเบียบราชการ ไม่ขัดกฎหมายตามที่ "เรืองไกร" ยื่นคำร้อง
วันนี้ (8 เม.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงผลการประชุมกกต.ว่า ที่ประชุมกกต.มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยยกคำร้อง 3 เรื่องได้แก่ กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบการรับเงินค่าบรรยายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เนื่องจากไปบรรยายให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายอภิสิทธิ์รับเงินค่าบรรยายจำนวน 5,000 บาท และนายกษิตรับเงินจำนวน 6,000 บาทนั้น โดยที่ประชุมเห็นว่าการไปบรรยายดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะเป็นลูกจ้างและค่า วิทยากรที่จ่ายก็เป็นไปตามระเบียบราชการที่กำหนดไว้
นายประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีของนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุกอาจเป็นเหตุให้ความเป็นสมาชิกภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง ซึ่งที่ประชุมกกต.มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายว่า เหตุต้องให้สิ้นสภาพนั้น หมายรวมถึงต้องคำพิพากษาศาลในต่างประเทศด้วยหรือไม่นั้น คณะอนุกรรมการได้เสนอความเห็นมาให้ที่ประชุมกกต.พิจารณาแล้ว โดยที่ประชุมกกต.ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลกัมพูชา เนื่องจากคำพิพากษาของศาลต่างประเทศไม่ถือเป็นคำพิพากษาของศาลไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และคดีความยังไม่ถือเป็นที่สุด เนื่องจากนายพนิชได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลกัมพูชา
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยร้องเรียนมายังกกต.ขอให้วินิจฉัยการกระทำของนาย วิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ที่ไปพบนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นการใช้ตำแหน่งส.ส.เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงอำนาจของตุลากศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ที่ประชุมกกต.เห็นว่าการเดินทางไปพบนายพสิษฐ์ไม่เข้าข่ายเป็นการใช้สถานะ ส.ส.เข้าไปก้าวก่ายและการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ และนายพสิษฐ์ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัย โดยการวินิจฉัยคดีเป็นอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ