xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ต้องโดดมาเล่นเองแก้เกม “สภาล่ม” ซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

แม้จะถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของการเป็น “ผู้แทนราษฎร” แต่กระนั้น “ทั่นผู้แทน” กลับปล่อยให้ที่ประชุมสภาฯ ล่มติดต่อกันถึง 3 ครั้งซ้อน กลายเป็นว่านักการเมืองไม่ยี่หระต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเลย

แต่ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จำกัดในวงของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” อีกต่อไป หรือจะไปโทษเฉพาะการทำหน้าที่ของประธานสภาฯหรือประธานวิปรัฐบาลก็คงไม่ถูกนัก

เพราะ “ต้นตอ” ของปัญหานั้นล้วนแล้วแต่มาจาก “ฝ่ายบริหาร” ทั้งสิ้น เนื่องจากพยายามผลักดันเรื่องที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติบ้านเมืองเข้าสู่การพิจารณาของทั้งที่ประชุมร่วมรัฐสภา และสภาผู้แทนราษฎร

เห็นได้จากการประชุมทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นเป็นเรื่องที่ “คณะรัฐมนตรี” เสนอเข้ามาทั้งหมด

ล่มครั้งแรกก็มาจากความพยามผลักดันให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ “เจบีซี” ทั้ง 3 ฉบับ ที่มีการถกเถียงกันอย่างหนัก ก่อนจบลงด้วยองค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถลงมติได้ ต้องปิดการประชุมไปโดยปริยาย

ซึ่งในความเป็นจริงบันทึกเจบีซี 3 ฉบับนี้ค้างอยู่ในวาระการประชุมมาแล้วกว่า 2 ปีแล้ว แต่รัฐบาลกลับอาศัยช่วงโค้งสุดท้ายของสภาฯผลักดันให้ที่ประชุมรับรองให้ได้ ทั้งที่มีเสียงคัดค้านจากทั้ง ส.ว.และ ส.ส. รวมไปถึงภาคประชาชน ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหามากมายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อเสียเปรียบของฝ่ายไทย และอาจมีผลต่อการปักปันเขตแดนใหม่ ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนอย่างเป็นทางการในที่สุด

แถมยังมีเรื่อง “ผลประโยชน์” ที่เอื้อให้กับฝ่ายกัมพูชา ซึ่งคนระดับแกนนำของรัฐบาลเข้าไปมีส่วนได้เสียด้วย

ทำให้แม้แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์เองยังไม่อยากมีส่วนในการชายชาติ หรือร่วมเป็น “แก๊งปล้นแผ่นดิน” ไปด้วย หรือกระทั่ง “วัชระ เพชรทอง” ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ที่มาประชุมสภาฯ ไม่เคยขาด ยัง “โดดร่ม” ไม่ปรากฏชื่อในการแสดงตัวนับองค์ประชุม

ส่วนการล่มครั้งที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นรอบการพิจารณา พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่รู้ๆ กันอยู่ว่าหากมีการประกาศใช้ ก็เหมือนปล่อยให้กลุ่มบุคคลที่จ้องหาประโยชน์ เดินหน้า “วางบิล” หาทุนสู้ศึกเลือกตั้งได้ทันที

หากสภาฯ “บ้าจี้” ปล่อยผ่านทั้ง 2 เรื่องนี้ไปก็กลายเป็นการเตะหมูเข้าปาก สุ่มเสี่ยงกลายเป็น “เครื่องมือโจร” ทั้งยังเสมือนการแหย่เท้าเข้าคุกไปข้างหนึ่งอีกต่างหาก เพราะมีโทษอาญาจ่อคอหอยอยู่อีกต่างหาก แล้วในห้วงเวลาที่การเลือกตั้งงวดเข้ามาเช่นนี้แล้ว คงไม่มีใครคิดเสี่ยงตัดอนาคตตัวเองเช่นนั้น

มุมหนึ่งอาจกล่าวตำหนิการทำหน้าที่ของผู้แทนที่ขาดความรับผิดชอบไม่เข้าร่วมการประชุม จนทำให้สภาฯ ล่มซ้ำซาก แต่อีกมุมก็ต้องชมเชยที่ไม่เข้าร่วมสังฆกรรมกับเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และส่งผลเสียหายต่อประเทศ

เรื่องนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ต้องไตร่ตรองให้หนัก ในฐานะที่เป็นคนเป่านกหวีดประกาศยุบสภาล่วงหน้า แม้ยังไม่ระบุวันชัดเจน แต่ก็ทำให้ ส.ส.ที่รู้ตัวว่าใกล้ตกงาน คลุกในพื้นที่ไม่มาทำหน้าที่ในสภาฯ หรือบางคนก็ใช้เป็น “ข้ออ้าง” ชั้นเยี่ยมลอยตัวจากปัญหา

จนทำให้ “ชัย ชิดชอบ” ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ “น๊อตหลุด” อัดอภิสิทธิ์แบบไม่ไว้หน้าว่า ทำให้การทำงานของสภาฯมีปัญหา ขู่แม้กระทั่งยุให้ทหารออกมา “เป่าแตร” ด้วยซ้ำ

หนทางง่ายๆ ในวันนี้ คือ รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารต้องเลิก “กดดัน” ฝ่ายนิติบัญญัติ

และพยายามชี้นำให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหันกลับมาร่วมกันทำหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่องประโยชน์ของคนในชาติ สร้างบรรยากาศให้เกิดความ “สามัคคี” แบบที่ยกมือผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือกฎหมายลูก 3 ฉบับ ที่บรรดานักการเมืองพร้อมเพรียงกันเห็นชอบ แบบไม่มีผู้ค้านแม้แต่คนเดียว

ไม่ใช่มุ่งหยิบเรื่องที่มีปัญหาข้อขัดแย้งสูงเข้ามาผลักภาระให้ฝ่ายนิติบัญญัติ

หมายความว่า อภิสิทธิ์และรัฐบาลต้องปรับวิธีการทำงานโดยเร่งด่วน อย่ามุ่งแต่ “ขยายแผล” นำเรื่องที่ไม่เคลียร์เข้ามาในสภาฯ ยกตัวอย่าง บันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ซึ่งไม่ควรรีบเร่งลนลานผลักภาระให้สภาฯ เพราะอย่างไรไทยกับกัมพูชาก็ยกแผ่นดินหนีกันไปไหนไม่ได้ หากปล่อยไปอีก 2-3 เดือนมีรัฐบาลใหม่ค่อยชงเข้ามาคุยกันอีกรอบ หรือหากล้มไปเลย ฝ่ายกัมพูชาก็คงจะทำอะไรไม่ได้มาก ส่วน พ.ร.บ.การยางฯที่หากยังไม่ลงตัวก็ควรแขวนไว้ก่อน

แล้วใช้เวลาที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดของสภาฯ ปลุก “สำนึกความรับผิดชอบ” ของท่านผู้แทนกลับมาโดยเร็ว และต้องทำเวลาที่เหลืออยู่ให้มีค่ามากที่สุด หันมาให้ความสำคัญกับกฎหมายสำคัญๆที่มีประโยชน์ต่อคนทั้งชาติ เฉพาะที่คณะรัฐมนตรีเสนอมา และยังดองคาอยู่ในวาระการประชุมของสภาฯ ก็ไม่ต่ำกว่า 20 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข หรือร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น

และต้องตระหนักด้วยว่างบประมาณกว่า 500 ล้านบาทต่อเดือนที่เป็น “ค่าตอบแทน” ของ ส.ส.ที่ตกรายละ 1.2 แสนบาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าเบื้ยประชุม หรือค่าเดินทางอีกจิปาถะนั้น มาจาก “ภาษี” ของประชาชน ไม่ควรจะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

ต้องจับตากันต่อว่า การประชุมสภาฯในสัปดาห์นี้ยังจะซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ เพราะหากสภาฯทำงานไม่ได้ ก็คงมีเหตุผลที่จะต้องประกาศยุบสภาก่อนกำหนด โดยไม่จำเป็นต้องรอกฎหมายลูก 3 ฉบับเสร็จ แล้วโยนลูกไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ออกระเบียบในการเลือกตั้งแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และทำมาแล้วในอดีต โดยที่ไม่ต้องสนใจของเสียงขู่ของ กกต.บางคน

แต่ก่อนถึงจุดนั้น อภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องเร่งระงับบาดแผลนี้ให้ได้ โดยดึงกฎหมายที่ไม่มีปัญหา และเป็นประโยชน์จริงๆเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เรียก ส.ส.กลับมาประจำการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้เต็มที่ ก่อนมุ่งสู่สนามเลือกตั้งอย่างเต็มตัว

หากรัฐบาลทำแล้ว ยังมีการ “เล่นเกม” ล้มการประชุมกันต่อ ถึงเวลานั้นค่อยมาเปิดชื่อไล่ประจานเป็นรายตัว

ร่วมประณามไม่ให้ได้ผุดได้เกิดในทางการเมืองกันไปเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น