คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1. “ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ” ประทานสัมภาษณ์ขอประชาชนอย่าเชื่อข่าวลือ พร้อมขอความเป็นธรรมให้ “ในหลวง-พระราชินี”!
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ประทานสัมภาษณ์พิเศษแก่รายการโทรทัศน์ “วู้ดดี้เกิดมาคุย” ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่ประทับรักษาพระวรกายหลังจากพระองค์ทรงประสบอุบัติเหตุลื่นหกล้มเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2553 จนพระอูรุ(กระดูกต้นขา)ข้างซ้ายหัก ในการนี้ พระองค์ทรงฉลองพระองค์ในชุดกาวน์สีขาว ด้านในยังคงเป็นชุดผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประทานสัมภาษณ์ในหลากหลายประเด็น เช่น ทรงต้องการให้ประชาชนรู้จักตัวตนที่แท้จริงของพระองค์ “อยากให้คนที่ติดตามชมรายการได้รู้จักตัวตนของฉันอย่างแท้จริง ไม่อยากให้ไปฟังข่าวลือ หรือข่าวที่พูดๆ กันไป ณ วันนี้ คือตัวตนที่แท้จริงของฉัน ไม่มีบิดเบือน” พร้อมกันนี้ ยังทรงยืนยันว่า พระองค์มิได้อยู่อย่างสุขสบายอย่างที่หลายคนคิด “การเกิดมาเป็นลูกของพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่ได้สุขสบายอย่างที่หลายคนคิดหรือนึกภาพตามจินตนาการนิทานเจ้าหญิงเจ้าชาย ชีวิตถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชน ต้องทำงานตั้งแต่อายุ 14 จนถึงเรียนจบปริญญาเอก”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ยังทรงขอความเป็นธรรมให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย “ทุกวันนี้ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ท่านยังทรงงาน แม้ว่าจะมีอาการเจ็บป่วย เห็นท่านตรากตรำทำงานเพื่อประชาชนของท่านมาตั้งแต่เด็กๆ เดินทางไปในแหล่งที่ไม่มีแม้กระทั่งถนน ช่วยเหลือประชาชน เด็กยุคใหม่ไม่รู้แล้วว่าท่านทำอะไรให้บ้านเมืองบ้าง... ใจจริงของฉัน อยากจะขอเวลาจากรายการทีวีช่วงสั้นๆ แค่ 5 นาที 10 นาที ฉายพระราชกรณียกิจที่ท่านทำ สงสารท่านเถอะ ท่านทุ่มเทเต็มที่ เอาใจใส่ทุกรายละเอียดทุกงานที่ทำทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องความสามัคคีของคนไทย อยากให้กลมเกลียว คนไทยต้องเข้มแข็ง ชาติจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไป ฉันอยากให้ทั้ง 2 พระองค์ได้รับความยุติธรรมตามที่ท่านควรจะได้รับ”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ยังทรงเล่าถึงวิธีจัดการกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งพระองค์ทรงได้รับการสั่งสอนจากหลวงตามหาบัวด้วยว่า “15 ปีที่ผ่านมา เป็นเด็กวัด กินนอน ทำสมาธิอยู่ในกุฏิเล็กๆ ที่วัดกับหลวงตามหาบัว ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเด็กวัด... แม้ว่าหลวงตาปลงสังขารไปแล้ว มีกระแสข่าวมากมาย มีคำกล่าวว่ามากมาย มันย่อมมีผลกระทบกับชีวิตคนเราแน่นอน แต่อยากให้มองย้อนกลับไปพิจารณาคำนินทาว่ากล่าวนั้นว่าตรงกับตัวเราหรือไม่ ถ้ามันเป็นจริง เราก็ต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองเสียก่อน แต่ถ้าไม่ตรงกับเรา ต้องปล่อยวางกับสิ่งเหล่านี้ทันที หลวงตาท่านสอนไว้... เรื่องในอดีตให้มันผ่านไป อนาคตคือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อย่าไปฟุ้งซ่านคาดเดา ให้อยู่กับปัจจุบัน... เวลาที่มีอะไรมากระทบจิตใจ ไม่ว่าใครจะพูดอะไร มีข่าวอะไรทั้งในแง่ที่ดีและไม่ดี หลักใหญ่ๆ คือ จิตใจ ทุกอย่างสำคัญที่ใจ เมื่อใจเราคิดดี มีใจเป็นประธานแล้ว ทุกอย่างที่เราคิดก็จะออกมาดีเอง”
สำหรับคำประทานสัมภาษณ์พิเศษฉบับเต็มของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีกำหนดออกอากาศในรายการ “วู้ดดี้เกิดมาคุย” คืนวันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย. เวลา 22.30น.
2. งามหน้า! สภาล่ม 3 วันซ้อน “อภิสิทธิ์” โต้ อย่าโยงยุบสภา ด้านศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัย “เจบีซี”
สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาการประชุมสภาล่ม 3 วันซ้อน ขณะที่รัฐบาลและฝ่ายค้านต่างโทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุให้สภาล่ม เริ่มจากการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่สภาตกลงกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มี.ค.แล้วว่า จะมีการลงมติบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับในวันที่ 29 มี.ค. หลังจากเมื่อวันที่ 25 มี.ค.มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่กล้าลงมติ คาดว่าเพราะกลัวจะขัดรัฐธรรมนูญและมีความผิดทางอาญาตามที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเตือนไว้ เนื่องจากบันทึกเจบีซีดังกล่าวอาจส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียดินแดน เพราะมีการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ของกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 29 มี.ค. ที่ประชุมก็ไม่ได้มีการลงมติบันทึกเจบีซีอีก เพราะนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ตนและ ส.ส.จำนวนหนึ่งได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าบันทึกเจบีซี 3 ฉบับดังกล่าวเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาตาม รธน.มาตรา 190 ที่จะต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบก่อนหรือไม่ ดังนั้นควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จก่อน ที่ประชุมจึงได้เลื่อนการลงมติบันทึกเจบีซีออกไปเป็นวันที่ 5 เม.ย.แทน
แต่ถึงกระนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอว่า แม้จะยังไม่มีการลงมติบันทึกเจบีซีในวันที่ 29 มี.ค. แต่ที่ประชุมก็น่าจะรับทราบรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับบันทึกเจบีซีก่อน แล้วค่อยไปลงมติรับรองในวันที่ 5 เม.ย. ด้านนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วย จึงขอให้ตรวจสอบว่าองค์ประชุมครบหรือไม่ แต่สุดท้ายพบว่า มีสมาชิกในห้องประชุมแค่ 262 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงต้องเลื่อนการลงมติเกี่ยวกับเจบีซีไปเป็นวันที่ 5 เม.ย.
ด้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดพิจารณาคำร้องของ ส.ส.ที่ขอให้วินิจฉัยว่าบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาตาม รธน.มาตรา 190 ที่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนหรือไม่ในวันที่ 30 มี.ค. ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและมีมติไม่รับวินิจฉัยคำร้องของ ส.ส.ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า กรณีบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ คณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เนื่องจากยังมีขั้นตอนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องพิจารณาดำเนินการเสียก่อน จึงยังไม่เข้าเกณฑ์มาตรา 190 ประกอบมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้อง
ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงสาเหตุที่ทำให้การประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ล่มว่า เพราะ ส.ส.ภาคใต้ต้องไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ส่วน ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมประชุมแต่ไม่ยอมเสียบบัตรแสดงตน ขณะที่ ส.ว.ก็วอล์กเอ๊าต์ออกจากห้องประชุม ซึ่งไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไร ทั้งนี้ นายชัย เชื่อว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 5 เม.ย.จะไม่ล่มแน่
อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(30 มี.ค.) ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายตามวาระปกติ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย แต่มีผู้เข้าร่วมประชุมบางตา แม้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ จะกดออดเพื่อเรียกสมาชิกเป็นเวลานานกว่า 10 นาที แต่องค์ประชุมก็ไม่ครบอีก ทำให้สภาล่มเป็นวันที่สองติดต่อกัน ส่งผลให้นายชัยออกอาการฉุนเฉียว ถึงกับกล่าวกับผู้สื่อข่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “วันที่ 31 มี.ค.จะบอกนายกฯ ให้ยุบสภาไปเลย เพราะ ส.ส.ไม่สนใจกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายในวันนี้มีความสำคัญต่อประชาชนเป็นอย่างมาก และไม่ใช่ประเด็นการเมือง ผมเห็นว่าในสภามี ส.ส.ถึง 300 คน แต่ก็ไม่ทำหน้าที่ แม้ผมจะกดออดไปนานถึง 12 นาที ส.ส.ก็ไม่มา เป็นเรื่องแย่จริงๆ ที่เข้ามาเซ็นชื่อเพียงอย่างเดียว ยุบสภาเร็วขึ้นก็ดีเหมือนกัน เพราะถือเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันแล้ว”
ด้าน ส.ส.ต่างมีปฏิกิริยาต่อการที่สภาล่มเช่นกัน โดยนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีพาณิชย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย บอกว่า “บริษัทปิดแล้ว พนักงานก็รู้ว่าตกงาน พวกเขาจึงไปหางานใหม่ จะมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร” ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เหตุที่สภาล่มอาจมาจากการที่นายกรัฐมนตรีประกาศวันยุบสภาที่ชัดเจน ทำให้ ส.ส.รู้ชะตากรรม จึงลงพื้นที่หาเสียงมากกว่าที่จะมาประชุมสภา นายเทพไท ยังชี้ด้วยว่า การประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. หาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เข้าร่วมประชุม ยอมกดบัตรแสดงตน องค์ประชุมก็น่าจะครบ
ส่วนการประชุมสภาฯ วันต่อมา(31 มี.ค.) ซึ่งมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ต่อจากเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่สภาล่ม ปรากฏว่า เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้สภาล่มอีกเป็นวันที่สามติดต่อกัน ทำให้ไม่สามารถลงมติมาตราต่างๆ ของร่างกฎหมายดังกล่าวได้
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า การที่สภาล่ม 3 วันติดต่อกัน สะท้อนถึงความล้มเหลวในการคุมเสียงและความไม่จริงใจในการทำงาน พรรคจึงขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาทันทีที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับผ่านความเห็นชอบจากสภา โดยฝ่ายค้านพร้อมให้ความร่วมมือในการพิจารณาร่างแก้ไขดังกล่าว คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือน เม.ย.นี้
ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาปกป้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า การกำหนดวันยุบสภาล่วงหน้าของนายกฯ ไม่ได้เป็นต้นเหตุให้สภาล่ม แต่เป็นเพราะ ส.ส.ส่วนหนึ่งต้องลงพื้นที่ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งต้องเห็นใจ ส.ส. เพราะ ส.ส.ได้รับโทรศัพท์จากประชาชนโทรมาตามว่าใจดำไม่ลงมาดูกันบ้าง ทำให้ต้องเดินทางลงพื้นที่
ด้านนายอภิสิทธิ์ ก็ยืนยันเช่นกันว่า ไม่ควรนำประเด็นเรื่องยุบสภามาเกี่ยวโยงการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา “การจะยุบสภาหรือไม่ยุบสภา ถึงอย่างไรวันหนึ่งสภาอายุก็หมด จะเอามาอ้าง แล้วไม่ทำหน้าที่คงไม่ได้ จึงอยากให้ประชาชนได้ประจานว่าใครไม่ทำหน้าที่ก็ให้ประกาศให้ประชาชนทราบ เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ใครไม่อยู่ก็ชี้แจงกันมาเอง จะมาอ้างเหตุผลการยุบสภาไม่ได้ ตราบที่มีหน้าที่อยู่ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป”
ทั้งนี้ ส.ส.หลายคนได้เสนอให้ปรับปรุงการประชุมสภาฯ เพื่อแก้ปัญหาสภาล่ม โดยไม่เห็นด้วยกับการประชุมสภาฯ ตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจาก ส.ส.ต้องลงพื้นที่เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาฯ ก็บอกเช่นกันว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการนัดประชุมสภาฯ ในวันศุกร์ เพราะ ส.ส.มีภารกิจมาก ควรประชุมแค่วันพุธและพฤหัสบดีเท่านั้น ส่วนวันอังคารจะต้องมีการประชุมร่วมรัฐสภาอยู่แล้ว อีกทั้งช่วงนี้มีปัญหาน้ำท่วม ทำให้ ส.ส.ต้องลงพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ผลจะออกมาอย่างที่ ส.ส.เสนอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจต่อไป
3. “สนธิ” ยัน แกนนำพันธมิตรฯ ไม่ได้แตกคอ พร้อมเดินหน้ารณรงค์ “โหวตโน” ด้าน “กมม.” รอเคาะครั้งสุดท้าย ส่งคนลงเลือกตั้งหรือไม่ 24 เม.ย.!
เมื่อคืนวันที่ 30 มี.ค. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายพิภพ ธงไชย ได้ขึ้นเวทีที่สะพานมัฆวานรังสรรค์หลังมีข่าวลือว่าแกนนำพันธมิตรฯ แตกคอกันแล้ว ทั้งนี้ นายสนธิ ได้ปฏิเสธข่าวลือ 2 เรื่อง เรื่องแรกกรณีที่มีข่าวว่า วันที่ 6 เม.ย.นี้ พันธมิตรฯ จะเดินขบวนไปถวายฎีกาจากนั้นจะสลายการชุมนุม ส่วนอีกเรื่องกรณีที่มีข่าวว่าแกนนำพันธมิตรฯ แตกแยกกันแล้ว ซึ่งนายสนธิ ยืนยันว่า ไม่จริงแต่อย่างใด พร้อมย้ำ พันธมิตรฯ ผูกพันกันด้วยจิตวิญญาณ อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและทำเพื่อส่วนรวม ไม่ได้หลงในตัวบุคคล และพร้อมที่จะออกมาต่อสู้ในเรื่องที่เป็นปัญหาของชาติบ้านเมือง เช่นกรณีเขมรและเขาพระวิหาร
นายสนธิ ยังตอกย้ำด้วยว่า การเมืองครั้งนี้เป็นการเมืองที่สกปรก พันธมิตรฯ จึงต้องรณรงค์ให้โหวตโน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยจะโหวตโนหมด ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองใหม่(กมม.) ที่พันธมิตรฯ เป็นเจ้าของ “เราพูดมาตลอดเวลาว่า การเมืองครั้งนี้เป็นการเมืองที่สกปรก อัปรีย์ไปจัญไรมา เราต้องยุติการเป็นตัวประกันให้พรรคประชาธิปัตย์ที่เอาไปพูดว่าไม่เลือกเราเขามาแน่ ทั้งที่จริงๆ แล้วถึงเลือกเราเขาก็มา เพราะมันเลวทั้งคู่ พวกเราถึงรณรงค์ให้โหวตโน ซึ่งนัยของมันคือ การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เราจะโหวตโนหมด ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองใหม่... การตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็เพื่อหวังให้การเมืองดีขึ้น พรรคการเมืองใหม่ต้องเป็นเครื่องมือของพันธมิตรฯ ไม่ใช่เจ้านายของพันธมิตรฯ ถ้าพี่น้องเห็นว่าการเมืองแบบนี้เป็นการเมืองน้ำเน่า พรรคการเมืองใหม่ไม่ควรจะส่งคนลงเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหม่ก็ควรจะฟังปรัชญานี้ ในฐานะที่พันธมิตรฯ เป็นเจ้าของพรรคการเมืองใหม่ หากกติกานี้สมาชิกพรรคการเมืองใหม่คิดว่าไม่ยอมรับ แต่ไปยอมรับกติกาของ กกต. พรรคการเมืองใหม่กับพันธมิตรฯ ก็ต้องแยกทางกันเดิน”
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ เผย(1 เม.ย.)ว่า พรรคการเมืองใหม่ได้มีมติจากตัวแทนสาขาพรรคเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ว่า จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่ยังไม่ถือว่าสิ้นสุดขั้นตอน เพราะต้องมีการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคในวันที่ 24 เม.ย.นี้ก่อน เพื่อให้สมาชิกพรรคลงมติเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งนี้ นายสุริยะใส ยอมรับว่า มติของแกนนำพันธมิตรฯ ที่ให้โหวตโน ไม่เป็นผลดีต่อพรรคการเมืองใหม่ และกลุ่มพันธมิตรฯ เองในภาพรวม เพราะทำให้ดูเหมือนว่าทางใครทางมัน หรือตัดญาติขาดมิตรกันแล้ว ทำให้มวลชนสับสนว่าจะเลือกพรรคการเมืองใหม่ หรือจะโหวตโน ซึ่งจะทำให้เสียงไม่มีพลัง แต่ส่วนตัวคิดว่าขณะนี้ยังมีเวลาเพียงพอที่จะหาข้อสรุปโดยไม่ให้เกิดความขัดแย้งใดใด นายสุริยะใส ยังบอกด้วยว่า “สถานการณ์เช่นนี้เป็นบททดสอบทฤษฎี 2 ขา พรรคการเมืองกับมวลชน หรือทฤษฎี 1 ลำต้นแต่ 2 กิ่ง ว่ายังใช้การได้อยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของพันธมิตรฯ ในวันที่ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา หากพรรคสามารถฝ่าข้ามจุดนี้ไปได้ พรรคก็มีอนาคต แต่ถ้าก้าวข้ามไม่ได้ก็เป็นอันว่า สิ่งที่ตั้งใจไว้มันไม่ได้ผล ส่วนตัวไม่ซีเรียสว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมในวันที่ 24 เม.ย.นี้”
4. “พสิษฐ์” เข้ามอบตัวคดีแพร่คลิปศาล รธน.แล้ว เตรียมขึ้นเวที “เสื้อแดง” แฉคดียุบพรรค 10 เม.ย.นี้!
หลังหลบหนีไปต่างประเทศพักใหญ่ ล่าสุด นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาข้อหาเป็นเจ้าพนักงาน รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทำการใดใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 กรณีลักลอบบันทึกคลิปวิดีโอการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้เข้ามอบตัวต่อ พ.ต.อ.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต รองผู้บังคับการกองปราบปราม เมื่อวันที่ 30 มี.ค.เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี โดยเดินทางมาพร้อมกับนายประชุม ทองมี ทนายความ
ทั้งนี้ หลังพนักงานสอบสวนสอบปากคำนายพสิษฐ์นานกว่า 3 ชั่วโมง ได้อนุญาตให้นายพสิษฐ์ประกันตัวไปหลังเจ้าตัวยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 75,000 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่า นายพสิษฐ์ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดใดกับผู้สื่อข่าว โดยบอกเพียงว่า “เขาไม่ให้ผมพูด” ขณะที่ พ.ต.อ.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต รองผู้บังคับการกองปราบปราม เผยว่า นายพสิษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้นายพสิษฐ์เดินทางไปพักอาศัยอยู่ที่ฮ่องกง เหตุที่ไม่เดินทางกลับมาสู้คดีตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เพราะรู้สึกกดดันมาก ส่วนการกลับเข้าประเทศครั้งนี้ นายพสิษฐ์ อ้างว่าใช้ช่องทางพิเศษไม่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ พ.ต.อ.นัยวัฒน์ ยังเผยด้วยว่า ได้ประสานทนายความเพื่อติดต่อ น.ส.ชุติมา หรือพิมพิจญ์ แสนสินรังสี ข้าราชการระดับ 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาอีกรายในคดีเดียวกัน ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เพื่อจะได้เร่งสรุปสำนวนคดี คาดว่าใช้เวลา 1 สัปดาห์จะสามารถส่งให้อัยการพิจารณาต่อไปได้
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) รีบเปิดแถลงหลังนายพสิษฐ์ได้รับการประกันตัวว่า ในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงเพื่อรำลึก 1 ปีเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนิน-สี่แยกคอกวัววันที่ 10 เม.ย.นี้ นอกจากจะมีการทำบุญและสดุดีวีรชนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.2553 แล้ว ยังจะมีเซอร์ไพรส์ใหญ่ โดยได้เชิญนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ผู้ต้องหาคดีเปิดเผยคลิปวิดีโอการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาขึ้นเวทีปราศรัยเปิดใจให้ประชาชนได้ตาสว่าง เพื่อจะได้ทราบว่าการพิจารณาคดียุบ 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน ,พรรคมัชฌิมาธิปไตย ,พรรคชาติไทย กับพรรคประชาธิปัตย์มีความผิดปกติอย่างไร “ได้รับคำยืนยันมาแล้วว่า นายพสิษฐ์จะมาขึ้นเวทีแน่นอน ขอให้เชื่อมือผม แล้วการพูดครั้งนี้รับรองว่าจะเป็นการพูดแบหัวใจให้คนไทยได้รู้ถึงพฤติกรรมทั้งหมด เมื่อได้รับทราบ จะได้ตาสว่างว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้ จึงอยากขอร้องให้คนที่คิดจะอุ้มนายพสิษฐ์ให้ยุติการกระทำเสีย ขอให้นายพสิษฐ์ได้ไปทำหน้าที่ของประชาชนก่อน”
5. ใต้อ่วม! 10 จังหวัดผจญน้ำท่วม-ดินถล่ม ยอดตาย 35 รายแล้ว - “ในหลวง-พระราชินี” พระราชทานเงินช่วย พร้อมที่พักอาศัยชั่วคราว!
หลังมหันตภัยทางธรรมชาติได้เล่นงานหลายประเทศอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ตามด้วยแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก กระทั่งเกิดภาวะอากาศหนาวในช่วงใกล้เข้าฤดูร้อนในประเทศไทย ยังไม่พอ ปรากฏว่า ล่าสุด ได้เกิดฝนตกหนักในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทย ซึ่งนอกจากทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักแล้ว ยังเกิดปัญหาดินถล่ม อ่างเก็บน้ำแตก จนมีผู้เสียชีวิตและสูญหายหลายราย
ด้านศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.-2 เม.ย. มีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยรวม 10 จังหวัดแล้ว ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช ,พัทลุง ,สุราษฎร์ธานี ,ตรัง ,ชุมพร ,สงขลา ,กระบี่ ,พังงา ,สตูล และนราธิวาส มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 2 แสนคน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 35 ราย
ด้านคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้(คชอ.) ที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคใต้ 22.4 ล้านบาท นอกจากนี้ คชอ.ยังเตรียมของบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีก 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม โดยแบ่งเป็น 3 เงื่อนไข 1.น้ำท่วมฉับพลัน 2.น้ำป่าไหลหลาก และ 3.น้ำท่วมขังไม่เกิน 7 วัน คาดว่าจะเร่งรัดจ่ายเงินให้กับผู้เสียหายได้ภายใน 1 เดือน สำหรับมูลค่าความเสียหายทั้งหมดจากอุทกภัยครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายด้านสาธารณูปโภค ด้านพืชผลทางการเกษตร หรืออื่นๆ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้จำนวน 5 แสนบาท ผ่านสภากาชาดไทย พร้อมมีพระราชกระแสรับสั่งห่วงใยราษฎรที่กำลังประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ หลังเกิดปัญหาดินถล่มจนราษฎรประสบปัญหาเรื่องที่พักอาศัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่พักอาศัยชั่วคราวให้ราษฎรได้พักอาศัยจนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลายด้วย ได้แก่ ที่พักอาศัยชั่วคราวในโครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช และที่พักอาศัยชั่วคราวในโครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านหัวป่าเขียว อ.ควนขนุน จ.พัทลุง รวมทั้งพระราชทานน้ำดื่มสะอาดผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชประสงค์