ส.ส.ยังมีหน้าเถียงกันใครทำสภาล่ม “อภิวันท์” ขวางเพิ่มประชุมวันศุกร์ อ้าง ส.ส.ภารกิจเยอะ “ปู่ชัย” คิดดันพิจารณา พ.ร.บ.ยางต่อ เจอ ปชป.ขวาง กลัวล่มรอบ 4 “มาร์ค” โวยอย่าอ้างใกล้ยุบสภาทำสภาล่ม ยันทุกคนต้องทำหน้าที่ แนะเปิดชื่อประจาน ส.ส.หลังยาว ให้ชาวบ้านคิดก่อนเลือกเข้ามาอีก
วันนี้ (1 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระกระทู้ถามสด ในเวลา 11.00 น. เนื่องจากรัฐมนตรีติดภารกิจรับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ โดยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช หารือว่าอยากให้ พ.อ.อภิวันท์ได้หารือกับประธานและรองประธานเพื่อปรับปรุงวิธีการประชุมสภาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจาก ส.ส.หลายคนต่างมีภารกิจในพื้นที่เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง เพราะจะมีการยุบสภา แต่สภากลับมีตารางการประชุมตลอดทั้งสัปดาห์ ทำให้การประชุมสภาล่มซ้ำซาก สมาชิกก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โทษทุกคนยกเว้นตัวเอง แม้นายกฯ ประกาศว่าจะยุบสภาต้นเดือน พ.ค. สมาชิกก็ควรจะทำหน้าที่จนถึงนาทีสุดท้าย และควรจะพิจารณาเฉพาะกฎหมายที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ แต่ไม่ควรพิจารณารับทราบรายงานผลการศึกษา หรือกฎหมายอื่นๆ ที่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
นายเทพไทกล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้มีความสุ่มเสี่ยงในการนำสิ่งของไปแจกให้กับประชาชนเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาบอกว่า ถ้าแจกสิ่งของที่มีมูลค่าเกิน 3 พันบาทจะต้องนำไปรวมในค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ทั้งที่เวลาลงพื้นที่ประชาชนจะถามหาว่าถ้าไม่มีของติดไม้ติดมือมาก็ไม่ควรมา
ด้าน พ.อ.อภิวันท์ชี้แจงว่า การจัดวาระการประชุมของสภาในช่วงนี้ ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยในช่วงนี้ที่จะให้นัดประชุมในวันศุกร์ เพราะ ส.ส.มีภารกิจมากมาย ควรประชุมแค่วันพุธและพฤหัสฯ เนื่องจากวันอังคารจะต้องมีการประชุมร่วมรัฐสภาอยู่แล้ว อีกทั้งขณะนี้มีอุทกภัยน้ำท่วมทำให้ ส.ส.ต้องลงพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ตนได้กราบเรียนให้ประธานสภารับทราบแล้ว ซึ่งก็อยู่ที่อำนาจของประธานว่าจะมีดุลพินิจอย่างไร ทั้งนี้ยืนยันว่าสภาชุดนี้คุณภาพดีเกินเฉลี่ย
ขณะที่ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ หารือว่า อยากให้ พ.อ.อภิวันท์ ทำหนังสือไปถึงพรรคเพื่อไทยให้ยุติเกมการนับองค์ประชุม เพราะหาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยมาร่วมนับองค์ประชุมด้วย องค์ประชุมก็น่าจะครบ ก็ควรยุติการเล่นเกมได้แล้ว และอยากให้ทำหนังสือสอบถามการลงมติของ ส.ว.ในการประชุมร่วมรัฐสภา ว่ามีใครลงมติไปกี่ครั้ง เพราะถ้าตนทำเองก็เกรงว่าจะผิดมารยาท ทั้งนี้ ขอให้สภาฯ และวุฒิสภาแจกแจงค่าใช้จ่ายการเดินทางของ ส.ส.และ ส.ว.ตลอดสมัยการดำรงตำแหน่ง ว่าใครมีค่าใช้จ่ายเท่าไรบ้างเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.
ขณะที่ พ.อ.อภิวันท์ ชี้แจงเรื่องพรรคเพื่อไทยไม่เข้าประชุมว่า อยากให้ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ไปขอร้องประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งก็น่าจะสำเร็จ เพราะประธานวิปฝ่ายค้านก็บอกว่าไม่เห็นวิปรัฐบาลมาขอร้องอะไรเลย
พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาที่สภาล่มส่วนหนึ่งก็มาจากตัวประธานที่ใช้อำนาจกำกับดูแลบริหารจัดการการประชุม ที่บางครั้งก็เลือกที่จะให้กับพวกตัวเองพูด จนบางทีฝ่ายค้านก็ไม่ได้หารือในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชน เขาเลยไม่เข้าประชุมอย่างพร้อมเพียง จะเข้าประชุมก็ช่วงที่เขาได้คิวพูด ทำให้บรรยากาศการประชุมตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อรน จึงอยากให้ประธานทบทวนกลับไปใช้ระบบเดิม เฉลี่ยเวลากันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่าเลือกพวกเขาพวกเรา
นายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุการณ์สภาล่มที่เกิดขึ้น ตนไปที่ไหนก็ได้รับการต่อว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจแทนประชาชน ตนเห็นด้วยที่พ.อ.อภิวันท์ ที่หารือกับประธานสภาฯ ว่าการประชุมไม่ควรประชุมมากเกินไป ควรประชุมแค่วันพุธ พฤหัสฯ ไม่ควรประชุมวันศุกร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เห็นว่าเป็นปัญหาของส.ส.ที่ต้องร่วมกันหาทางแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของประธานสภาฯ แก้ไขอย่างเดียว ทั้งนี้ ตนเอารายชื่อของส.ส.ที่ขาดประชุม 3 วันติดต่อมานั่งดู พบว่าเป็นคนเก่าที่ขาดเป็นประจำ เสมือนเป็นนักเรียนที่ชอบขาดเรียนเป็นประจำ คนประเภทนี้อยากเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ มีชื่อ แต่มีพฤติกรรมทำให้โรงเรียนเขาเสียชื่อเสียง
“อยากให้ประธานแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า ส.ส.ของท่านไม่มีความรับผิดชอบ คราวหน้าไม่ควรเลือกให้เขามาเป็น ส.ส.ต่อไป เว้นแต่ ส.ส.ภาคใต้ที่ไปช่วยชาวบ้านน้ำท่วม แต่จากรายชื่อมี ส.ส.หลายคนที่ไม่เกี่ยวข้องเลย แต่กลับขาดประชุมติดต่อกัน 3 วัน พวกนี้เป็นพวกที่ชอบตื่นสาย ทำให้มาประชุมไม่ทัน คนประเภทนี้ไม่ควรเลือกเข้ามาเป็น ส.ส.อีกต่อไป” นายเจริญกล่าว
จากนั้น นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้แจงว่า กระบวนการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ก็ต้องใช้องค์ประชุมมาตัดสินใจ แม้องค์ประชุมเป็นเรื่องของรัฐบาลก็เป็นเรื่องๆ ไป การจะบรรจุร่างใดควรหารือให้ครบว่ากฎหมายใด มีความจำเป็น ซึ่งเมื่อวานก็มี ส.ส.ลาเป็นร้อยคน มีใบลาถูกต้องก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้และวันนี้ก็ได้มีลากันอีกร่วมร้อยคน ส่วนตัวไม่สบายใจ ที่ระบุว่า ส.ส.ตื่นสาย มาไม่ทันประชุมก็ไม่ควรเอามาพูดกัน เพราะองค์ประกอบการประชุมมีหลายปัจจัย มีเหตุจำเป็นภัยภิบัติ แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ถ้าออกไปมีผลกระทบ เรายืนยันฝ่ายค้านปฎิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดจนวันสุดท้ายเราอยากเห็นระบบรัฐสภาอยู่ต่อไป
ขณะที่ พ.อ.อภิวันท์ได้พยายามตัดบทว่า อยากขอให้วิปสองฝ่ายหารือว่าจะเอาร่างกฎหมายฉบับใดเข้ามาพิจารณา
ต่อมาหลังจากเสร็จสิ้นกระทู้สด 3 เรื่อง นายชัยได้เสนอให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ... แต่นายธนา จีระวนิช ส.ส.กทม.ค้านว่าไม่ควรเพราะตอนนี้ ส.ส.หลายคนไม่สามารถมาได้เพราะมีภัยพิบัติ และช่วงนี้ควรจะเป็นการพิจารณาแค่วาระรับทราบ ถ้าจะให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยางอีกเกรงว่า องค์ประชุมจะล่มเป็นครั้งที่ 4 อีก
จากนั้นนายชัยได้ตัดสินใจไม่นำวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยางขึ้นมาพิจารณาต่อ พร้อมกับกล่าวว่านายกฯ อยู่ก็ดีจะได้พูดเรื่องเร่งยุบสภา ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ ลูกขึ้นชี้แจงว่า ที่ตนเสนอต่อที่ประชุมและสาธารณะว่า ตั้งใจจะยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม เพราะตั้งใจจะให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และฝ่ายต่างๆ ก็เรียกร้องมา ซึ่ง สมาชิกก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 3 ฉบับ ตั้งแต่ในช่วงรับหลักการ ฉะนั้นจะมาพูดเรื่องยุบ ไม่ยุบ ปัญหาองค์ประชุมไม่ครบไม่ได้ ต้องยอมรับว่าในสัปดาห์นี้ท่านนัดประชุม 4 วัน แต่เราพบปัญหาภัยพิบัติ ตนเองมีภารกิจ 3 วันไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ท่านทราบดีว่าตนให้ความสำคัญกับสภามาก จึงอยากขอความเห็นใจ แม้จะยุบหรือไม่ยุบวันหนึ่งอายุสภาก็หมดลงอยู่ดี จะมาอ้างว่าอายุใกล้หมดแล้วไม่ทำหน้าที่ไม่ได้ ทุกคนมีหน้าที่ก็ต้องทำ ท่านจะช่วยประจานคนไม่ทำหน้าที่ก็ได้ จะทำให้ประชาชนตัดสินใจในวันข้างหน้าได้ง่ายขึ้น ใครมีอะไรก็ชี้แจงไป ทำไมไม่อยู่ก็ไปว่ากันเอง แต่ตราบเท่าที่เป็นอยู่ต้องทำหน้าที่ไม่เช่นนั้นจะกลับมาเป็นทำไม
ด้านนายชัยกล่าวว่า ตนจะยึดเอาคำพูดของนางผุศดี ตามไท ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่าถ้าเห็น ส.ส.อยู่นอกสภาที่ไหนให้จับส่งตัวมาด้วย ดังนั้น ถ้าประชาชนเห็น ส.ส.อยู่ที่ไหนให้จับส่งตัวมายังสภาด้วย จะมาเอาค่าส่วงตัวมาที่นายกฯ ก็ได้ จากนั้นได้เข้าวาระรับทราบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ