ศชอ.ขึ้นป้ายพื้นที่สีแดง 3 จุด เตรียมอพพยประชาชน “ภูเก็ต-สุราษฎร์-นครศรีฯ” แจงยอดตาย 13 ศพยังไม่นิ่งรอผลจากกระบี่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เปิดศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติ เผยโรคเท้าเปื่อย ไข้หวัด ท้องร่วงระบาด
วันนี้ (31 มี.ค.) นายวิทเยนทร์ มุตามระ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) แถลงภายหลังการประชุม ศชอ.ว่า รายงานจากกรมชลประทานเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมารายงานระบุว่า ระดับน้ำล้นตลิ่งยังอยู่ในจุดเดิม คือ ในอำเภอพระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ อำเภอเมือง จ.นครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จ.สตูล อำเภอย่านตาขาว จ.ตรัง โดยมีน้ำที่คาดว่าจะล้นตลิ่งในวันนี้เพิ่มเติมขึ้นที่ อำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ส่วนบริเวณอ่างเก็บน้ำที่จะมีน้ำล้นเพิ่มขึ้น คือ อ่างเก็บน้ำบางกำปริ คลองหยา คลองบรรเจิด จ.กระบี่ และที่ป่าบอน ป่าพะยอม จ.พัทลุง
นายวิทเยนทร์กล่าวว่า หน่วยงานสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 88 แห่ง แต่สามารถยังเปิดบริการได้อยู่ โดยหน่วยพยาบาลสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบและทำให้ผู้ป่วยเข้าออกลำบาก อยู่ที่โรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาลเทพพนม อำเภอหลังสวน และโรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ส่วนที่โรงพยาบาลเกาะสมุย ยังมีปัญหาเข้าออกของผู้ป่วย จึงมีการย้ายมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เกาะสมุย แทนในขณะนี้
ขณะที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ออกให้บริการไปแล้วกว่า 7230 ราย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดจากโรคน้ำกัดเท้า โรคไข้หวัด ทางเดินหายใจ ท้องร่วง และสุขภาพจิต
นายวิทเยนทร์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ฝนจะคลี่คลาย ตกน้อยลง โดยส่วนใหญ่มีการกระจุกตัวอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งคาดว่าจากวันนี้ไปถึงวันที่ 1-2 เมษายน ฝนจะน้อยลงตามลำดับ และระดับน้ำน่าจะลดลง
นายวิทเยนทร์กล่าวว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมน ได้มีการประสานงานกับนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา โดยขอให้กระทรวงท่องเที่ยวจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในกรณีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติขอความช่วยเหลือหากยังมีการติดค้างอยู่ตามเกาะ อพยพกลับสามารถที่จะติดต่อได้ในกรณีช่วยเหลือ โดยสามารถติดต่อได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ ททท. 1672 และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 0-2356-0650 สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสานความช่วยเหลือ และติดค้าง
ส่วนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เทียบท่าที่สัตหับ และได้อพยพนักท่องเที่ยวจากเกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงัน จำนวน 618 ราย และเรือหลวงสุโขทัย จะเข้าเทียบฝั่งในวันนี้ ที่สัตหีบเช่นเดียวกัน โดยพานักท่องเที่ยวกลับมาในเวลา 125 ราย โดยจะมีการประสานงานจาก ทั้ง ขสมก. บขส. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดรถเพื่อบริการนักท่องเที่ยวไปยังจุดต่างๆ ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ พัทยา และบางส่วนไปที่ จ.ชุมพร ส่วนเรือรบหลวงล่องลม และบางปะกง อยู่ประจำที่ฝั่งในกรณีที่ต้องการให้ออกไปช่วยเหลือเพิ่มเติม
นายวิทเยนทร์กล่าวว่า จำนวนยอดผู้เสียชีวิตขณะนี้ยังไม่รวมที่ จ.กระบี่ อยู่ที่ 13 ราย อยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช 9 ราย พัทลุง 1 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย ซึ่งจะต้องรอคำยืนยันอย่างเป็นทางการจากจังหวัดกระบี่ว่ามีกี่ราย คนสูญหาย มี 6 ราย ที่จังหวัดกระบี่
“ขณะนี้ที่ต้องเตือนภัยอยู่คือประชาชนที่อยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ลาดชัน แม้จะมีฝนตกน้อยลง แต่บริเวณบนภูเขายังมีน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก และมีน้ำป่าไหลหลากอยู่เรื่อยๆ พื้นที่เตือนภัยน้ำป่าไหลหลากได้ ในระดับสีแดง มี 3 ที่ให้อพยพ คือ บ้านพรุสมภาร ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต บ้านวังลุง ต.ทอนหงษ์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช บ้านสระบัว ต.ลำพูน อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนระดับเตือนภัยที่เตรียมอพยพ มีที่บ้านธาราวงศ์อารี อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี บ้านหมากกลบ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต บ้านคีรีวงศ์ อ.ลานสะกา จ.นครศรีธรรมราช บ้านคลองสระ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็น 7 พื้นที่ที่เตือนทั้งระดับเตือนภัยให้อพยพ และเตือนภัย ซึ่งเราเตือนทุกที่ในพื้นที่ลาดเชิงเขา และลาดชัน” นายวิทเยนทร์กล่าว
นายวิทเยนทร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ความสูญเสียในภาพรวมของครัวเรือนตัวเลขยังไม่แน่นอน แต่คาดว่าทั้งหมดน่าจะไม่เกิน 300,000 ครัวเรือน ซึ่งในวันจันทร์นี้จะมีการเสนอกรอบให้ ครม.อนุมัติช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาท และในวันพรุ่งนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินกรอบที่จะเสนออีกครั้งหนึ่ง โดยจะขอดูตัวเลขฝั่งอันดามันก่อน ซึ่งอาจจะมีครัวเรือนเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ประเมินจากฝั่งอ่าวไทยที่ได้รับผลกระทบมากกว่า โดยที่ประชุมจะเน้นมาตรการและกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนครั้งที่แล้วที่บางหมู่บ้านน้ำไม่ท่วมแต่ก็มีการขอเข้ามา