“เทพเทือก” รับอุทกภัยภาคใต้ครั้งนี้หนักมาก กินพื้นที่กว้างขวาง มีผู้เดือดร้อนนับล้าน สวนปาล์ม-นากุ้งเสียหายยับ เผยเรือหลวงจักรีนฤเบศรถึงเกาะเต่าแล้ว เตรียมรอรับนักท่องเที่ยวนับพันกลับขึ้นฝั่ง ระบุหากจำเป็นต้องอพยพประชาชนจากเกาะพะงัน และเกาะสมุยก็ต้องดำเนินการ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ว่า รัฐบาลมีคณะกรรมการที่ดูแลประชาชนในเวลาที่ประสบภัย โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งจะดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ที่ประสบภัย ก่อนหน้านี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานถุงยังชีพลงไปในพื้นที่ก่อนแล้ว ซึ่งประชาชนก็มีขวัญและกำลังใจดี
“คนที่ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้มีมากเป็นล้านคน คลุมพื้นที่หลายจังหวัดและท่วมมาเป็นสัปดาห์แล้ว ซึ่งนายสาทิตย์ก็จะประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) และจะเสนอ ครม.ในวันจันทร์ที่ 4 เม.ย.เพื่ออนุมัติความช่วยเหลือที่กำหนดแนวทางเอาไว้เพิ่มเติม นอกจากการช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่เป็นข้าวปลาอาหารที่บริโภคได้ทันที”
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มีการประสานกับทุกหน่วยราชการ โดยกองทัพเรือได้ส่งเรือหลวงจักรีนฤเบศรไปตั้งแต่เมื่อคืน ได้รับรายงานว่าเช้านี้เดินทางไปถึงเกาะเต่าแล้ว ซึ่งพบนักท่องเที่ยวติดอยู่ที่เกาะเต่าพันกว่าคนและเริ่มขาดแคลนอาหาร ทางกองทัพเรือจึงได้เตรียมถุงยังชีพไปด้วย ขณะเดียวกันจะดูแลที่เกาะพะงัน และเกาะสมุยด้วย และหากจำเป็นก็อาจต้องอพยพประชาชนมาขึ้นฝั่ง และหากพื้นที่ใดที่เรือเข้าไม่ได้ก็จะใช้เฮลิคอปเตอร์ โดยวันนี้ ผบ.ทร.จะชี้แจงรายละเอียดของการปฏิบัติการให้ประชาชนได้รับทราบ
ส่วนทางกองทัพบกนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ทาง ผบ.ทบ.ได้สั่งการกำลังพลเข้ามาช่วยในการจัดเตรียมบรรจุถุงยังชีพ ซึ่งอาจจะมีหลายหมื่นถุงเพื่อแบ่งเบาภาระของสำนักนายกฯ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงทางจังหวัดไปด้วยส่วนหนึ่ง และในวันนี้นายกรัฐมนตรีจะนำคณะลงไปในพื้นที่เช้าวันนี้เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชน และได้สั่งการให้ตนและสมาชิกในพรรคแบ่งทีมกันลงไปดูแลประชาชนในพื้นที่ให้ทั่วถึงมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในพื้นที่ที่เข้าไปลำบาก อย่างถนนที่ถูกตัดขาดจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า รัฐบาลได้ทำกันหลายวิธีทั้งเรือท้องแบน ทั้งรถขนาดใหญ่อย่างจีเอ็มซีของทหาร ทั้งเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งในครั้งนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้กำกับประสานงาน เป็นศูนย์กลางอำนวยการดูแลประชาชนอยู่ในพื้นที่ ซึ่งครั้งนี้ถือว่าโชคดีที่ระบบการสื่อสารไม่เสียหาย ยังใช้การได้อยู่ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถประสานขอความช่วยเหลือหรือติดตามสถานการณ์ได้ตลอด
เมื่อถามว่าพื้นที่ฉุกเฉินที่ต้องได้รับความช่วยเหลือในขณะนี้มีประมาณเท่าไหร่ นายสุเทพกล่าวว่า มีอยู่ทั่วเลย จะบอกว่าที่ไหนฉุกเฉินกว่าที่ไหนคงพูดยากเพราะมาพร้อมๆ กัน ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีทีมเตรียมการซักซ้อมเอาไว้พอสมควร ผู้นำท้องถิ่นก็จะมีการรายงานมาที่ผู้ว่าฯได้ตลอด และทางผู้ว่าฯก็สามารถรายงานมาที่ ศชอ.ได้ตลอด ซึ่งนาสาทิตย์จะสแตนด์บายอยู่ที่ ศชอ. หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมอะไรก็สามารถส่งให้ได้ทันที
สำหรับงบประมาณที่จะนำไปช่วยนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ปกติในจังหวัดจะมีงบประมาณ 50 ล้านบาท เป็นเงินทดรองจ่ายที่ผู้ว่าฯ สามารถสั่งจ่ายได้ทันที และขณะนี้นายสาทิตย์ ก็ได้ขยายวงเงินให้เป็น 100 ล้านบาทในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งที่จะต้องขออนุมัติจาก ครม.ในวันจันทร์ที่ 4 เม.ย.นี้ก็คืองบกลางที่ทาง ศชอ.จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบครัวละ 5 พันบาท ซึ่งช่วงนี้ก็เริ่มดำเนินการตรวจสอบแล้วว่ามีความเสียหายกี่ครอบครัว และเมื่อ ครม.อนุมัติก็สามารถจ่ายเงินชดเชยให้ได้ทันที และคงไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ว่าน้ำท่วมเกิน 7 วันเหมือนที่เคยกำหนด เพราะกรณีนี้ได้รับความเสียหายหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากำนันและผู้ใหญ่บ้านที่เข้าไปช่วยลูกบ้านจนเสียชีวิต จะมีการชดเชยอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า ทางราชการมีระเบียบสำหรับผู้ที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะมีการชี้แจงรายละเอียดอีกที
ส่วนความเสียหายของสวนปาล์มในพื้นที่ได้รับความเสียหายเยอะหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า เยอะมาก บางคนก็โดน 2 รอบแล้ว อย่างที่บ้านตน แต่การช่วยเหลือนั้นคงจะช่วยเหลือเฉพาะรายเล็กมากกว่า อย่างเช่น 5 ไร่ หรือ 10 ไร่ แต่รายใหญ่ๆ อย่าง 100 ไร่ขึ้นไป หรือ 1,000 ไร่ ก็คงต้องช่วยตัวเอง แค่นี้ก็ใช้งบประมาณมากแล้ว ก็เสียใจด้วย แต่ว่าจะทำอย่างไรได้เพราะเป็นภัยธรรมชาติ ส่วนสวนผลไม้ เท่าที่ดูไม่ได้รับความเสียหายเท่าไหร่นักยกเว้นพื้นที่ที่มีดินสไลด์ลงมา แต่ที่หนักหน่อยน่าจะเป็นนากุ้งที่เสียหายเยอะ
ผู้สื่อข่าวถามถึงพื้นที่แหลมตะลุมพุกที่นายอำเภอจะขอให้รัฐบาลจัดที่อยู่อาศัยให้ใหม่ เพราะที่เดิมคงไม่สามารถอยู่ได้แล้ว นายสุเทพกล่าวว่า ก็เห็นใจนะ เพราะในอดีตที่แหลมตะลุมพุก เคยเกิดเหตุวาตภัยใหญ่ในภาคใต้มาแล้วซึ่งมีคนเสียชีวิตมาก เมื่อคราวนี้มาเกิดเหตุอีกก็สมควรแก่เวลาแล้วที่จะหาที่ใหม่ เพราะสถานที่นี้คงไม่เหมาะสมที่จะตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวรอยู่อาศัย ดังนั้นก็ควรจะมาปรึกษาหารือกันในรายละเอียดอีกที