“เทพไท” เปรียบ ส.ส.เหมือนรู้วันตาย เลยไม่ตั้งใจทำงานในสภา ประกอบกับ ส.ส.ฝ่ายค้านเล่นเกม จึงทำให้สภาล่ม ป้อง “มาร์ค” ไม่ต้องรับผิดชอบเจบีซีไทย-เขมร ไม่ผ่าน เพราะเป็นวาระรับทราบรายงาน กมธ.เจบีซี ไม่เกี่ยว ครม.“บุญยอด” วอนเลิกเล่นเกมนับองค์ประชุม ชี้มีกฎหมายสำคัญจ่อเข้าสภาจำนวนมาก
ที่รัฐสภา คณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ได้เปิดแถลงข่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถดำเนินการประชุมในวันนี้ (30 มี.ค.) ได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ต้องปิดการประชุมไปเมื่อเวลา 12.00 น.โดย นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนตั้งสังเกตว่า บรรยากาศการประชุมของรัฐสภา 2 วันที่ผ่านมา ค่อนข้างเงียบเหงา โดยมีปัจจับหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด น่าจะเป็นการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศกำหนดการยุบสภาในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ ทำให้ ส.ส.มุ่งแต่การทำงานในพื้นที่ โดยไม่ให้ความสนใจกับการทำหน้าที่ในสภาเท่าที่ควร
“เปรียบเหมือนคนที่รู้วันตายแล้วไม่จิตใจจะทำอะไร ซึ่งไม่ต่างจาก ส.ส.ที่รู้วันยุบสภา ก็ต้องเตรียมตัวลงพื้นที่หาเสียง เพราะรู้ชะตากรรมว่าเหลือเวลาในตำแหน่งไม่นาน”
นายเทพไท กล่าวว่า หากพิจารณาตามตัวเลข 229 ส.ส.ที่แสดงตนในที่ประชุมในวันนี้ จะเห็นได้ว่า ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ได้ให้ความร่วมมือในการแสดงตัว แม้จะอยู่ในที่ประชุม โดยอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับการลงมติในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การยาง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อมีการนับองค์ประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายค้านมักไม่ให้ความร่วมมือ โดยหวังให้องค์ประชุมล่ม แล้วโยนความผิดให้กับฝ่ายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่ในการควบคุมองค์ประชุมเพื่อให้การประชุมสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ฝ่ายค้านที่ไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องตอบกับประชาชนให้ได้เช่นกันว่าเหตุใดจึงไม่ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรที่ดี ทั้งนี้ ตนได้สรุปตัวเลขของ ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ขาดประชุมสรุปได้ดังนี้ พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 13 คน พรรครวมชาติพัฒนา 3 คน พรคคกิจสังคม 2 คน พรรคมาตุภูมิ 2 คน ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดินนั้นขาดประชุมหลายคนยังไม่สามารถว่าส่วนไหนเป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล
ส่วนกรณีการพิจารณาบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ที่ไม่สามารถพิจารณาลงมติได้เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) และมีบางฝ่ายพยายามเรียกร้องให้นายกฯแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกหรือยุบสภานั้น นายเทพไท ในฐานะโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกฯไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากวาระในการประชุมเป็นการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาที่มี นายเจริญ คันธวงศ์ เป็นประธาน หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีมติให้ผ่านหรือไม่นั้น ก็เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการ ไม่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีหรือนายกฯแต่ประการใด ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์เช่นนนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการเรียกร้องให้นายกฯต้องแสดงความรับผิดชอบ และในช่วงเวลาที่เหลือ 2-3 สัปดาห์ก็จะมีการยุบสภาแล้ว ตนจึงเห็นว่าไม่ต้องเร่งรัดมาก และขอให้ทุกฝ่ายเตรียมตัวต่อสู้ในสนามเลือกตั้งดีกว่า
ด้าน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเสริมว่า ตนอยากขอเรียกร้องให้ ส.ส.ให้ความสำคัญกับการทำงานช่วงสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.การยาง ที่ไม่เพียงแต่ประชาชนในภาคใต้เท่านั้นที่รอคอยอยู่ ยังมีผู้ปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกที่ได้รับประโยชน์เช่นกัน รวมไปถึง พ.ร.บ.องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึง พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล จึงอยากขอให้ยุติการเล่นเกมองค์ประชุมกันเสียที
ส่วนการประชุมพิจารณาบันทึกเจบีซีที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย.นั้น นายบุญยอด กล่าวว่า ยังคงมีความกังวลใจของ ส.ส.บางส่วนที่ไม่เข้าใจการพิจารณาลงมติ ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นเพียงการรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบให้เสียดินแดนตามที่สมาชิกเข้าใจแต่อย่างใด จึงได้มีการประสานให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอธิบายให้ ส.ส.ของแต่ละพรรคเข้าใจในข้อเท็จจริง
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ ส.ส.ที่ขาดประชุมทั้งสิ้น 67 คน ยกเว้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ไม่ร่วมประชุม มีรายชื่อดังนี้พรรคประชาธิปัตย์ 10 ราย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายชวน หลีกภัย นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ นายปารเมศ โพธารากุล นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสุกิจ อัถโถปกรณ์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น และ นายอิสสระ สมชัย ส่วน ส.ส.ที่ลาการประชุมมี 7 คน ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.สำนักนายกฯ นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี
พรรคภูมิใจไทย 4 คน นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ และ พ.ต.ท.นุกูล แสงศิริ
พรรคเพื่อแผ่นดิน 21 คน นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ (ลา) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายถิรชัย วุฒิธรรม ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล นายนรพล ตันติมนตรี นายคงกฤช หงษ์วิไล นายวัลลภ ไทยเหนือ นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา นายนิมุตตา วาบา นายประนอม โพธิ์คำ นายยุซรี ซูสารอ นายวิทยา บุตรดีวงศ์ นายแวมาฮาดี แวดาโอะ นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ นายสุชาติ ตันติวณิชชานนท์ นายสุรเดช ยะสวัสดิ์ นายธีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์ นายอนุวัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ และนายอลงกต มณีกาศ
พรรคชาติไทยพัฒนา 14 คน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ นายนพดล มาตรศรี นายตุ่น จินตะเวช นายนิโรธ สุนทรเลขา นางปารีณา ไกรคุปต์ ปาจรียางกูร นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ นายภราดร ปริศนานันทกุล นางสาวพัชรี โพธสุธน นางอุดร จินตะเวช นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ และนายอารยะ ชุมดวง
พรรครวมชาติพัฒนา 3 คน นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน นายวิรัช รัตนเศรษฐ และนางทัศนียา รัตนเศรษฐ
พรรคกิจสังคม 2 คน นายชยุต ภุมมะกาญจนะ และ นายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ
พรรคมาตุภูมิ 2 คน นายนัจมุดดิน อูมา และ นางฟาริดา สุไลมาน