“สุดารัตน์” ยินดี “ปุระชัย” นั่งขัดตาทัพประชาสันติ ถือเป็นทางเลือกใหม่ มั่นใจ พท.งัดนโยบายประชานิยมยุคแม้วสู้ศึก ปชป.ในสนามเลือกตั้ว กทม. ไม่กล้าขวางโจกแดงลงสมัคร ส.ส.เกรงเสียแนวร่วม ดิ้นอีกเฮือกเปิดหลักฐานซัด “ภักดี” มีเอี่ยวประมูลคอมพ์ฉาว สมัยเป็นรองปลัด สธ. พร้อมอ้างมีอคติเหตุไม่ได้ขึ้นนั่งปลัด วอน กมธ.วุฒิฯ ให้ความเป็นธรรม เหตุหลัง 19 ก.ย.ถูกไล่ล่าทำลายล้าง ชี้หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตัวเอง ทำรัฐเสียค่าโง่ 1.3 พันล้าน
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่รัฐสภา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการตั้งพรรคประชาสันติ ที่มีแนวโน้มว่า ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย จะมาเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศเป้าหมายชิงเก้าอี้ ส.ส.ในสนามเลือกตั้ง กทม.ว่า ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับประชาชน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นนโยบาย หรือทีมงานที่ชัดเจน ดังนั้นคงต้องรอดูกันต่อไป
เมื่อถามว่าประเมินการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง กทม.ของพรรคเพื่อไทยอย่างไร คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่ที่แข่งขันในแง่ของกระแส ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยนำนโยบายสมัยที่เป็นพรรคไทยรักไทย ซึ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน กลับมาทบทวน ก็เชื่อว่าจะสามารถเรียกคะแนนและสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ กทม.ในขณะนี้ได้ นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของตัวบุคคลที่ส่งลงสมัครนอกจากต้องพิจารณาคุณสมบัติว่าสามารถนำนโยบายไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงแล้ว ต้องมีการนำเสนอผู้นำกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถด้วย เช่น หากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นว่าที่นายกฯ แล้ว ต้องมีผู้นำกลุ่มย่อยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มเด็กและสตรี หรือกลุ่มงานด้านสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เห็นว่าแก้ไขปัญหาได้จริง
ต่อข้อถามที่ถึงกรณีที่ทางพรรคเพื่อไทยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครในพื้นที่ กทม.หลายคน เมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ถือเป็นคนรุ่นใหม่มีความตั้งใจ ส่วนจะสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการนำเสนอนโยบายที่มีน้ำหนักและมีสีสัน ส่วนตัวมองว่าหากปรับแนวทางโดยยึดแบบสมัยพรรคไทยรักไทยได้ อาจจะทำกระแสพอจะสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่อาจไม่สร้างความได้เปรียบเพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของสื่อและเป็นตัวสร้างกระแส
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การที่พรรคเพื่อไทยยังอิงกับกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดง จะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงในพื้นที่ กทม.หรือไม่ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องแยกแยะการทำหน้าที่เป็น 2 ส่วน คือ การปฏิบัติหน้าที่ของพรรคมุ่งการเลือกตั้งและรัฐสภา ส่วนการชุมนุมเสื้อแดงก็เป็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชน หากผู้เกี่ยวข้องแยกแยะไม่ได้ ก็ทำให้หน้าที่ทั้ง 2 ส่วนเสียกำลังไป ถ้าแยกแยะว่าหน้าที่ของพรรคการเมืองคือการทำหน้าที่ในสภาฯ และการเลือกตั้ง ส่วนคนเสื้อแดงก็คือ การเคลื่อนไหวภาคประชาชน วางบทบาทให้ดีจะทำให้ได้กำลังเสริม แต่หากไม่จัดกำลังให้ดีจะเสียกำลังกันเอง
“หากแกนนำคนเสื้อแดงจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย คงไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะปัจจุบันก็มีแกนนำบางคนที่เป็น ส.ส.อยู่ คิดว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคเพื่อไทยต้องพิจารณา แต่ขณะนี้มองไม่เห็นถึงความแตกต่าง ที่สำคัญหากไม่เอาแกนนำคนเสื้อแดง บางคนอาจคิดว่าจะเป็นการทำลายแนวร่วมไปในที่สุด” อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าว
คณะกรรมาธิการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และติดตามบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ซึ่งมีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ในกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข ได้มายื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมาธิการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดที่มีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธาน กรณีการยกเลิกการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุขมูลค่า 900 ล้านบาท ว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ป.ป.ช.หรือไม่ โดยได้เชิญคุณหญิงสุดารัตน์ และ น.ต.ศิธา ธิวารี อดีตเลขานุการ รมว.สาธารณสุข เข้าให้ข้อมูล
โดยคุณหญิงสุดารัตน์ได้เปิดเผยกับที่ประชุมว่า การที่ตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนในครั้งนี้เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ป.ป.ช. ที่เข้าข่ายไต่สวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคดีนี้ได้มีการดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่า ภายหลังจากการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ก็มีการตั้งข้อกล่าวหากับตนว่าล้มการประมูลโครงการคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาทโดยไม่ชอบ ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโครงการดังกล่าวเกิดก่อนที่ตนมารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และเป็นการยกเลิกโครงการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เนื่องจากมีข้อมูลที่ระบุว่ากิจการร่วมค้าพีสแควร์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลนั้นกำหนดสเปกคอมพิวเตอร์ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งล่าสุดตนยังได้ทราบจากการนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชนอีกว่า คณะอนุกรรมการฯ ไต่สวนมีมติชี้มูลความผิดตนในโครงการดังกล่าว จึงเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
ในโอกาสนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ยังได้นำสำเนาเอกสารบันทึกข้อความเลขที่ สธ.0100.2/3322 ลงวันที่ 2 ต.ค.2546 ที่เป็นคำสั่งให้ทบทวนโครงการมาแสดงในที่ประชุม พร้อมระบุว่า เอกสารชิ้นนี้เป็นหลักฐานที่ตรเพิ่งได้รับมา หลังจากใช้เวลาสืบค้นมาโดยตลอด แต่ไม่พบในสารบบของกระทรวงสาธารณสุข โดยถือเป็นข้อมูลใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่านายภักดี ประธานอนุกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการจัดทำร่างการประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยทำหน้าที่เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย และตนเชื่อว่านายภักดีอาจมีความโกรธเคืองและขัดแย้งกับตน เนื่องจากไม่พอใจที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขในสมัยที่ตนดูแลกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย ส่งผลให้การทำหน้าที่ของนายภักดีขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ในมาตรา 46 ที่ไม่ให้คณะกรรมการทำหน้าที่ผู้ไต่สวนในกรณีที่มีส่วนได้เสีย โดยที่ผ่านมานายภักดีพยายามชี้ว่าเอกสารนี้เป็นการชี้นำให้ข้าราชการล้มประมูลโครงการดังกล่าว แต่ในความจริงเป็นการสั่งการเพื่อให้ยึดถือประโยชน์สูงสุดของทางราชการเป็นหลัก ซึ่งปัจุบันไม่สามารถสืบค้นได้ในสารบบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตนมองว่ามีความพยายามในการทำลายเพื่อไม่ให้เชื่อมโยงมาถึงตัวนายภักดีได้
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า หากมีการชี้มูลความผิดจริงจะทำให้มีผู้เสียหายที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนประกอบด้วย ตน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2 คน อดีตอธิบดี 2 คน รวมไปถึงปลัดกระทรวงคนปัจจุบันด้วย จะทำให้กระทบและบั่นทอนกำลังใจของข้าราชการ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป อีกทั้งยังทำให้ประเทศต้องเสียค่าโง่อีกครั้ง เพราะบริษัทที่ถูกยกเลิกโครงการได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1,300 ล้านบาทไว้ต่อศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่มูลค่าโครงการเพียง 900 ล้านบาท ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็เตรียมที่จะใช้มติของ ป.ป.ช.ในการต่อสู้ชั้นศาลต่อไป ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้มีขบวนการหาผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทเอกชน ตั้งแต่ปล่อยให้บริษัทรายนี้มีสิทธิเข้าประมูลได้ ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติ ซึ่งตนได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของกระทรวง โดยการยื่นร้องกับ ป.ป.ช.ตั้งแต่เมื่อปี 47 แต่ไม่ได้รับการพิจารณา เมื่อมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายจึงเหมือนกับการปล้นรอบสองในการที่จะพยายามให้กระทรวงสาธารณสุขแพ้คดีในศาล โดยเป็นความพยายามของอดีตข้าราชการและข้าราชการที่ยังอยู่ในตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการประมูล อาทิ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
“ต้องทำความจริงให้ปรากฏ โดยขณะนี้ดิฉันไม่มีที่พึ่งที่ใดจึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ นี้ให้ความเป็นธรรมเพื่อร่วมปกป้องผลประโยชน์ของราชการ และไม่ทำให้ข้าราชการเสียหาย รวมทั้งขอให้คณะกรรมาธิการฯเรียกสำนวนของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.มาตรวจสอบ ร่วมกับพยานเอกสารหลักฐานและบุคคลของดิฉัน รวมทั้วขอให้เชิญนายภักดี และคณะอนุกรรมการไต่สวนมาให้ข้อมูลถึงการดำเนินการไต่สวน” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ขณะที่ น.ต.ศิธาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในชั้นไต่สวนของอนุกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการนำหลักฐานเท็จมากล่าวหาคุณหญิงสุดารัตน์ อาทิ บิลโทรศัพท์ที่กล่าวหาว่าได้โทรศัพท์ไปสั่งการ นพ.วัลลภ และ นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการประกวดราคาโครงการจัดซื้อคอมพ์ในขณะนั้น เพื่อให้ล้มการประมูลโครงการนั้น โดยตนมีหลักฐานยืนยันว่าเบอร์โทรศัพท์ที่โทร.ไปหา นพ.วัลลภ ไม่ได้เป็นเบอร์โทรศัพท์ที่คุณหญิงสุดารัตน์ใช้อยู่ในวันที่ถูกกล่าวอ้าง เพราะขณะนั้นคุณหญิงสุดารัตน์อยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และโทรศัพท์เครื่องนั้นอยู่กับนายตำรวจติดตามซึ่งอยู่ที่ กทม. รวมทั้งตนยังมีหลักฐานเป็นเทปบันทึกเสียงของ นพ.วัลลภ ในสมัยที่เป็น รมช.สาธารณสุข ที่พยายามโน้มน้าวให้ นพ.ชาตรีซัดทอดคุณหญิงสุดารัตน์ว่าเป็นผู้สั่งการให้ล้มการประมูลโครงการ แลกเปลี่ยนกับการกันตัวไว้เป็นพยาน ซึ่งตนนำเทปและเอกสารที่ได้ถอดเทปออกมาแล้วให้แก่ ป.ป.ช. แต่อนุกรรมการกลับไม่มีการนำเข้าพิจารณาแต่อย่างใด โดยอ้างว่าเมื่อ นพ.ชาตรีไม่ได้ซัดทอดนักการเมือง จึงเห็นว่าหลักฐานชิ้นนี้ไม่มีผลต่อรูปคดี
ขณะที่ นายจิตติพจน์ ซึ่งทำหน้าที่ประฐานในที่ประชุม กล่าวว่า ในส่วนของข้อเท็จจริงนั้นคงต้องใช้เวลาพิจารณาอีกช่วงหนึ่ง โดยต้องมีการรับฟังข้อมูลจากหลายๆฝ่ายเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยภาพรวมเห็นว่ามีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญในการพิจารณาในส่วนคุณสมบัติของนายภักดี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน เนื่องจากใน พ.ร.บ.ป.ป.ช.นั้นระบุไว้ชัดในมาตรา 29, 46, 52 และ 86 (2) ที่ระบุถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการไต่สวนไว้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้เร็วกว่า เพราะเป็ฯข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา
ภายหลังการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด หรือศาลปกครอง ล้วนมีคำวินิจฉัยว่าการยกเลิกประมูลโครงการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 86 (2) ระบุว่าเมื่อมีศาลตัดสินเป็นที่สุดแล้วต้องยุติการไต่สวน แต่ปรากฏว่าอนุกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้กลับเห็นแตกต่าง และเดินหน้าไต่สวนจนมีข่าวว่าชี้มูลความผิดตนไปแล้ว จึงต้องมาร้องต่อคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ โดยหวังว่าจะสามารถปกป้องไม่เอาผิดกับคนที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของราชการ และเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐต้องเสียค่าโง่ 1,300 ล้านบาทอีกด้วย เพราะหาก ป.ป.ช.ตัดสินให้ตนมีความผิดทางอาญา ทั้งที่ศาลตัดสินไปแล้วว่าไม่มีความผิด บริษัทเอกชนก็จะนำคำตัดสินไปเป็นประโยชน์
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ ป.ป.ช.ถือเป็นหน่วยงานยุติธรรมที่ต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา และทำหน้าที่ในการเอาคนผิดไปลงโทษ โดยรักษาผลประโยชน์ของราชการเป็นหลัก แต่การกระทำของอนุกรรมการไต่สวนกลับทางกันหมด จึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานให้เกิดความโปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อรัฐอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการปกป้อง ป.ป.ช.เองด้วย เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียไปเพราะคนไม่กี่คน และไม่ให้รัฐต้องเสียหาย ข้าราชการไม่ถูกทำลายโดยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ขอให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้าย